12 ‘อุตสาหกรรม’ หลังโควิด-19 มี ‘ตำแหน่งงาน’ ว่างกว่า 1 แสนที่นั่ง

12 ‘อุตสาหกรรม’ หลังโควิด-19 มี ‘ตำแหน่งงาน’ ว่างกว่า 1 แสนที่นั่ง

สอวช. เผยผลสำรวจความต้องการกำลังคนหลังโควิด-19 ใน 12 “อุตสาหกรรม” ยุทธศาสตร์ของประเทศ ระยะเวลา 5 ปี พบมี “ตำแหน่งงาน” ว่างเกือบ 180,000 ตำแหน่ง

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า สอวช. ภายใต้กำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลตำแหน่งงานและสมรรถนะงานที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2563 - 2567) โดยมุ่งเน้นที่ตำแหน่งงานระดับสูงที่ต้องการผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ทั้งนี้ การสำรวจจะครอบคลุมสถานประกอบการที่อยู่ใน 12 อุตสาหกรรม โดยจากการสำรวจ พบว่าใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมมีความต้องการกำลังคนรวม 177,606 ตำแหน่ง ดังนี้

1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Industrial Robotics) 

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่า ด้วยต้นทุนของเทคโนโลยีที่ถูกลงและจำนวนแรงงานที่ลดลง ทำให้ต้นทุนของการจ้างแรงงาน และการใช้ระบบอัตโนมัติใกล้เคียงกันในระยะยาว นั่นทำให้ความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมดังกล่าวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

โดยมีความต้องการกำลังคนรวม 10,020 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Data Scientist มีความต้องการ 2,697 ตำแหน่ง Robotic Controls Engineer 1,869 ตำแหน่ง และ Mechanical Engineer 1,862 ตำแหน่ง 

2. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hubs) 

ในมุมมองผู้ประกอบการด้านเครื่องมือแพทย์และการให้บริการทางการแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีพบว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุและผู้มีความพิการทางร่างกาย ทำให้ความต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์มีความต้องการเพิ่มขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว

โดยมีความต้องการกำลังคนรวม 17,732 ตำแหน่ง เช่น Clinical Investigator 1,505 ตำแหน่ง, Bioprocess engineer / technician 1,354 ตำแหน่ง และ Biomedical engineer 273 ตำแหน่ง 

159846246882

ภาพโดย Bokskapet จาก Pixabay 

3. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistics) 

อุตสาหกรรมการบิน มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากความต้องการของผู้โดยสาร โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ ส่งผลให้การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและการซ่อมบำรุง รวมถึงการผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมมีการเติบโตตามไปด้วย

ด้านธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ในประเทศไทยก็มีการแข่งขันสูง ทั้งด้านราคา ความเร็ว และอำนาจในการต่อรองของลูกค้าสูงกว่าผู้ให้บริการ ด้วยอัตราการเติบโตและมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมดังกล่าว ทำให้ยังมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการกำลังคนรวม 29,289 ตำแหน่ง เช่น  Ground Services Officer 7,914 ตำแหน่ง, Warehouse Officer / Inventory Controller 3,920 ตำแหน่ง และ Project Engineer 2,356 ตำแหน่ง 

4. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Bioenergy & Biochemicals) 

จากมุมมองของผู้ประกอบการหลักต่อทิศทางในอนาคตของอุตสาหกรรมดังกล่าวพบว่า ในอุตสาหกรรมย่อยเคมีชีวภาพและอุตสาหกรรมย่อยพอลิเมอร์และวัสดุชีวภาพ อุตสาหกรรม Oleochemicals มีแนวโน้มเติบโตและได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากน้ำมันปาล์ม เช่น การผลิตกลีเซอรีน (Glycerin) กรดไขมัน (Fatty acid) และ Minor component

โดยมีความต้องการกำลังคนรวม 9,836 ตำแหน่ง เช่น Biologist 2,860 ตำแหน่ง, Mechanical engineer 1,550 ตำแหน่ง และ Agricultural Specialist, Mechanic Technician มีความต้องการตำแหน่งละ 1,230 ตำแหน่ง 

5. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)

ประกอบด้วย 6 อุตสาหกรรมย่อย คือ การพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์, พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในและต่างประเทศ, การจัดตั้งศูนย์รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภค, การให้บริการเกี่ยวกับหน่วยจัดเก็บข้อมูล การประมวลผลออนไลน์ และการป้องกันอันตรายจากอินเทอร์เน็ต, การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์และแอนิเมชัน

โดยมีความต้องการกำลังคนรวม 30,742 ตำแหน่ง เช่น Data Scientist 5,767 ตำแหน่ง, Full-Stack Developer 5,287 ตำแหน่ง และ Mobile Developer 2,405 ตำแหน่ง  

6. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Advanced Agriculture and Biotechnology) 

ไทยมีเป้าหมายหลักคือ แนวทางการพัฒนาที่มุ่งสู่การทำเกษตรกรรมขั้นสูง และให้ความสำคัญกับกลุ่มอุตสาหกรรมฐานชีวภาพอย่างชัดเจน โดยวางเป้าหมายไว้ 4 ด้าน คือ เกษตรกรรมและอาหาร สุขภาพ อุตสาหกรรมการผลิต และพลังงานชีวภาพ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีระดับสูงกับการทำเกษตรดั้งเดิม สู่เกษตรยุคใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการได้

ทั้งนี้ มีความต้องการกำลังคนรวม 14,907 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Marketing Specialist 3,221 ตำแหน่ง,  Aerospace Engineer 2,686 ตำแหน่ง และ Laboratory Technician 1,863 ตำแหน่ง 

7. อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food For The Future) 

อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีผู้ประกอบการประมาณ 110,000 ราย มีการจ้างงานกว่า 8 แสนคน มีมูลค่าการส่งออกอาหารกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีความต้องการกำลังคนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร การเลือกใช้เทคโนโลยี  การจัดเตรียมวัตถุดิบ รวมถึงควบคุมคุณภาพ รวมแล้ว 12,458 ตำแหน่ง เช่น Food Scientist 2,054 ตำแหน่ง, Regulatory Scientist 1,361 ตำแหน่ง และ Packaging Technologist 466 ตำแหน่ง   

159845388826

ภาพโดย 병덕 유 จาก Pixabay 

8. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Future Mobility) 

สำหรับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในไทยยังไม่ชัดเจน โดยมีปัญหาการคาดการณ์ระยะเวลาที่เทคโนโลยีใหม่จะเข้ามา ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเตรียมบุคลากรที่เหมาะสม ทั้งภาคเอกชนต่างต้องการให้มีการสนับสนุนการวิจัยส่วนกลางเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยี

ในแง่มุมของบุคลากร ประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากพื้นฐานเป็นเพียงที่ตั้งของสายการผลิตและแรงงาน เป็นการผลิตตามแบบที่ถูกกำหนดไว้ ทั้งนี้มีความต้องการกำลังคนรวม 12,231 ตำแหน่ง เช่น Product Specialist 4,080 ตำแหน่ง, Commercial Designer 2,049 ตำแหน่ง และ Automation Engineer 1,880 ตำแหน่ง 

9. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent Electronics) 

ในตลาดโลกเน้นการสร้างนวัตกรรมและผลิตอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด การพัฒนาระบบสมองกลหรือ AI และการพัฒนาไปสู่กระบวนการผลิตชิ้นงานที่มีขนาดเล็กลง มีความแม่นยำและเที่ยงตรงสูง จึงเป็นไปได้ว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและชิ้นส่วน เช่น ผลิตภัณฑ์วงจรรวม (Integrated Circuit) จะมีการแข่งขันมากขึ้นในอนาคต

โดยมีความต้องการกำลังคนรวม 6,434 ตำแหน่ง เช่น Electrical Engineer 1,588 ตำแหน่ง, Mechanical Engineer 1,316 ตำแหน่ง และ Industrial Engineer  816 ตำแหน่ง 

10. อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (High Wealth & Medical Tourism)

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเนื่องจากรูปแบบและพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบันอาจสร้างความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งการระบาดของโควิด-19 ทำให้ตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น ในอนาคตคาดว่าลักษณะกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ นักท่องเที่ยวสตรี, กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้สูง และกลุ่มเศรษฐีชาวจีนรุ่น Millennial

นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ เป็นการท่องเที่ยวที่เกิดจากการมาเข้าร่วมงานประชุมหรือการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพและมีการใช้จ่ายสูง ผู้ประกอบการจึงมีการปรับตัวและเตรียมพร้อมต่อทิศทางการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ทำให้มีความต้องการกำลังคนรวม 15,432 ตำแหน่ง เช่น Digital Marketing Specialist 4,313 ตำแหน่ง, Customer Service Specialist 3,614 ตำแหน่ง และ Digital Platform Developer 3,176 ตำแหน่ง 

11. อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (National Defense) 

โดยการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั้งในและนอกประเทศ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศในระดับภูมิภาค โดยสามารถประยุกต์เทคโนโลยีป้องกันประเทศไปสู่การใช้งานในภาคอุตสาหกรรมหรือการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับประชาชน

ทั้งนี้ มีความต้องการกำลังคนรวม 5,219 ตำแหน่ง เช่น Material Engineer 811 ตำแหน่ง,  Weapon Mechanic 711 ตำแหน่ง และ Aerospace Engineer 600 ตำแหน่ง

  159845388844

ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay 

12. อุตสาหกรรมพัฒนาทักษะและกำลังคน (Workforce and Education) 

มีความต้องการกำลังคนรวม 13,306 ตำแหน่ง โดยต้องการบุคลากรสำหรับสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ครอบคลุมถึงกิจกรรมการส่งเสริมการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นพัฒนาทักษะทางอาชีพและทักษะเฉพาะทางเทคนิค เพื่อนำความรู้ในเชิงทฤษฎีมาใช้จริง

รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกวัย สนับสนุนการเรียนการสอน ทักษะในยุคดิจิทัล และผลิตบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรม รวม 12,254 ตำแหน่ง เช่น IT Instructor 1,881 ตำแหน่ง, Digital Competency Instructor 1,615 ตำแหน่ง และ Career and Skill Development Counsellor 532 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังมีความต้องการบุคลากรสายวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาอีกจำนวน 1,052 ตำแหน่ง