ไทยเลื่อนทดลอง "วัคซีนโควิด"

ไทยเลื่อนทดลอง "วัคซีนโควิด"

จุฬาฯเผยไทยต้องเลื่อนทดลองวัคซีนโควิดในคน ขยับช้ากว่าเดิม 1-2 เดือน เริ่มได้ราวปลายปี 63 เหตุโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบในต่างประเทศคิวทอง คาดของไทยผลิตในประเทศใช้ได้ราวไตรมาส3-4 ปี 64 รัฐสนับสนุนงบรวม 1 พันล้านบาท เฉพาะให้จุฬาฯ 400 ล้านบาท

  เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) พร้อมด้วย นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อหารือกันถึงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ mRNA ที่พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการสนับสนุนจากรัฐบาล

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันให้การสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เนื่องจากเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณให้แล้วจำนวน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณ 600 ล้านบาท สำหรับการเจรจาถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ซึ่งขณะนี้นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือการเจรจาแล้ว ส่วนอีก 400 ล้านบาท ใช้สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนของจุฬาฯ เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคได้เร็วที่สุด

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งผ่านการทดลองในลิงแล้วอยู่ระหว่างที่จะทดลองในคนระยะที่ 1 ว่า รัฐบาลให้งบประมาณในการผลิตวัคซีนต้นแบบและการทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 1 และระยะที่ 2 จำนวน 400 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีการวิจัยวัคซีนกว่า 200 ชนิด ราว 140 ชนิดอยู่ในสัตว์ทดลอง และมี 42 ชนิดที่เข้าสู่ระยะการทดลองในมนุษย์แล้ว เพราะฉะนั้นโรงงานที่ผลิตวัคซีนต้นแบบในต่างประเทศจึงคิวทอง ทำให้ในส่วนของประเทศไทยจากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มทดลองในมนุษย์เดือนตุลาคม อาจจะต้องปรับเป็นเริ่มในปลายปี 2563 อาจจะช้ากว่าที่กำหนด1- 2 เดือน

“ปัญหาอยู่ที่การรอคิวผลิตวัคซีนต้นแบบจากโรงงานในต่างประเทศ เพราะค่อนข้างคิวทอง แม้ว่าประเทศไทยจะจ่ายเงินจองไว้แล้วก็ตามก็ยังต้องรอคิว แต่เมื่อไหร่ที่เทคโนโลยีที่ไทยจะรับการถ่ายทอดซึ่งใช้เวลาราว 9 เดือน ต่อไปประเทศไทยก็จะผลิตได้เองไม่ต้องรอคิว ตอนนี้จึงยังไม่รับสมัครอาสาสมัคร เพราะต้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)อนุญาตให้ทดลองในคนได้ก่อนแต่เชื่อว่าจะทันการณ์ที่กำหนดไว้ และต้องผ่านคณะกรรมการจริยธรรมของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งหมดเป็นการทำแข่งกับเวลาทั้งการผลิตวัคซีนต้นแบบ เตรียมโรงงาน ข้อมูลต่างและเตรียมบุคลากร หลังจากนั้นเมื่อทุกอย่างพร้อมถึงจะปรกาศรับสมัคร”ศ.นพ.เกียรติกล่าว

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า ภาพใหญ่การวิจัยพัฒนาวัคซันโควิดของโลกขณะนี้มี 7 ชนิดที่เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์?ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย โดย 4 ชนิดเป็นของจีน อังกฤษ 2 ชนิด และอเมริกา 1 ชนิด จึงเชื่อว่าถ้าเป็นอย่างน้อยต้นปี 2564 น่าจะมีอย่างน้อย 1 ชนิดที่เข้าเส้นชัย ถ้าเป็นเช่นนี้วัคซีนไทยที่กำลังพัฒนาอยู่แม้จะช้ากว่า แต่หากมี 1 วัคซีนที่สำเร็จก็จะรู้เลยว่าภูมิคุ้มกันที่สูงแค่ไหนที่ควรจะทำให้ถึง เมื่อทดสอบในอาสาสมัครไทยแล้วภูมิคุ้มกันสูงเท่ากับวัคซีนที่สำเร็จหรือมากกว่า ก็มีสิทธิ์ที่จะผลิตในประเทศไทยประมาณไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ในปี 2564 โดยโรงงานในไทย คือ บริษัท ไบโอเนท เอเชีย จำกัดที่จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ