วิธีรับมือ เมื่อตกงานจากผลกระทบโควิด-19

วิธีรับมือ เมื่อตกงานจากผลกระทบโควิด-19

โควิด-19 ไม่ได้ทำให้แค่วัยทำงานตกงานเท่านั้น แต่ยังกระทบกลุ่มผู้สูงวัยโดยไตรมาส 2/63 มีผู้ว่างงาน 7.5 แสนคน คิดเป็น 1.95% เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากช่วงปกติ และเป็นอัตราสูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 2/62 ผลจากสถานที่ทำงานปิดกิจการช่วงโควิด-19 หรือหมดสัญญาจ้าง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/63 ว่ามีผู้ว่างงาน 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.95% เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากช่วงปกติ และเป็นอัตราสูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 2/62 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากผลจากสถานที่ทำงานปิดกิจการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือหมดสัญญาจ้าง

ทั้งนี้ส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานสะสมในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านกว่าคน เป็นผู้ว่างงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 400,000 คน ส่วนที่เหลืออีกราว 1.7 ล้านคน แม้จะว่างงานแต่ยังมีสถานะของการจ้างงานอยู่ เพียงแต่ไม่ได้รับเงินจากนายจ้างเนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดกิจการหรือปิดตัวชั่วคราว

ขณะที่การจ้างงานปรับตัวลดลงโดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.1 ล้านคน ลดลง -1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งผู้มีงานทำในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร สาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก คือสาขาก่อสร้าง, สาขาการผลิต, สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ขณะที่สาขาขายส่ง/ขายปลีกโดยแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระอีก 16 ล้านคน เนื่องจากมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วโอกาสเสี่ยงของผู้ว่างงานในอาชีพอิสระก็จะลดลง

ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องวิเคราะห์ว่าหลักสูตรไหนต้องปรับปรุง หรือต้องสร้างหลักสูตรใหม่ๆ รองรับอุตสาหกรรมหลังโควิด-19 เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการปรับตัวทางธุรกิจ อุตสาหกรรม ดังนั้น หลักสูตรในการผลิตนักศึกษาต้องให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่าดังนั้นทุกคณะของมหาวิทยาลัยต้องเปิดหลักสูตร Non Degreeช่วยเพิ่มความรู้ให้แก่คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุเปิดกว้างให้ทุกคนได้มาเพิ่มทักษะให้แก่ตัวเอง โดยเฉพาะศิษย์เก่าได้มาใช้บริการอย่างเต็มที่ขณะนี้เปิดให้เข้าเรียนแล้วในบางคณะ รวมถึงจัดทำธนาคารหน่วยกิต ให้ผู้ที่สนใจมาเรียนเพิ่มเติมทักษะ องค์ความรู้ใหม่ๆ ได้เก็บสะสมหน่วยกิต และเมื่อเก็บสะสมครบก็จะได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรเป็นการพัฒนาคนทุกช่วงวัยและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ซึ่งปัจจุบันจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรี 86 สาขา ปริญญาโท ประมาณ 20 สาขา และปริญญาเอก ซึ่งทุกหลักสูตรมีความร่วมมือกับสถานประกอบการ สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมไทย ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยนักศึกษาทุกคนต้องไปฝึกสหกิจศึกษาในสถานประกอบการ 1 ภาคเรียน หรือ 4 เดือน

ขณะนี้ประมาณ 80%ไปฝึกสหกิจศึกษาในบริษัทที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยประมาณ 1,500 กว่าแห่งทำให้ผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการทักษะด้านการสื่อสารภาษาที่ 2การคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์อาชีพ และทักษะด้านไอที ซึ่งต้องเพิ่มเติมทักษะเหล่านี้นอกเหนือจากความรู้ตามวิชาชีพเพราะในโลกอนาคต ทุกอาชีพต้องใช้ทักษะเหล่านี้

ฉะนั้น นักศึกษาที่กำลังเข้าสู่มหาวิทยาลัยควรจะเลือกเรียนในคณะที่ตอบโจทย์กับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้แก่ อาชีพด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือคณะที่เกี่ยวกับไอที ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการขนส่ง โลจิสติกส์ต่างๆรวมถึงคนในวัยทำงาน ผู้สูงอายุ ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมทักษะให้แก่ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

อธิการบดีมทร. ธัญบุรี กล่าวว่านอกจากนี้ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการศึกษาออนไลน์โดยเตรียมคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตสถานที่ต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 13 ก.ย.นี้รูปแบบการเรียนจะใช้ผสมผสานระหว่างในชั้นเรียนและออนไลน์ กว่า 500 บทเรียนในรูปแบบการเรียนออนไลน์รูปแบบการสอนจะมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยน วิเคราะห์บทเรียนร่วมกันของนักศึกษา และนำมาสู่การสร้างชิ้นงาน ไม่ใช่เป็นการสอนบรรยายแก่นักศึกษา

“ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมการรองรับเหตุการณ์โรคระบาดร่วมมือกับรพ.ธัญบุรี อ.ธัญบุรี เตรียมการสถานที่ โดยปรับปรุงอาคาร เพื่อเป็นที่พักของผู้ที่ต้องกักกัน 14 วันจัดทำระบบสำหรับคัดกรอง เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัยป้องกันสารคัดหลั่งและแบคทีเรียมอบให้แก่หน่วยงานต่างๆ อาทิ โรงพยาบาล หอพัก หน่วยงานต่างๆสนับสนุนงบวิจัยเกี่ยวกับการช่วยเหลือโควิด-19ให้อาจารย์ทุกคณะได้คิดนวัตกรรมการป้องกันโรคต่างๆการศึกษาเกี่ยวกับไบโอพลาสติกมาจัดทำเป็นแผ่นกรองพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทำประกันชีวิตโรคโควิด-19 ให้แก่คณาจารย์ 983 คน บุคลากรฝ่ายสนับสนุน 1,028 คน รวมแล้วประมาณ 2,000 กว่าคน และนักศึกษา 26,000 กว่าคน เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิด-19แม้หลายคนจะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาอาจจะมีจำนวนว่างงานมากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการช่วยเหลือนักศึกษาหลากหลายแนวทาง อาทิ จ้างงานผู้ว่างงานเพื่อลงพื้นที่ช่วยยกระดับชุมชน จำนวน 377 อัตรา ระยะเวลา 3 เดือน ๆ ละ 9,000 บาท โดยได้รับงบประมาณจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมถึงโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล ที่ได้เข้าไปช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ สร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน

โดย มทร.ทั้ง 9 แห่งได้รับการอนุมัติแห่งละ 80 โครงการ ทำให้เกิดการจ้างงานคนในชุมชน รวมถึงยังได้กำหนดให้โครงการวิจัยต่างๆ ของมหาวิทยาลัย การจ้างผู้ช่วยวิจัยกำหนดให้จ้างบัณฑิตของมหาวิทยาลัย อัตราค่าจ้างสูงถึง 15,000 บาท โดยขึ้นอยู่กับขนาดและงบประมาณของงานวิจัย และทุกคณะจัดทำหลักสูตร Re Skill และ Up Skill ให้นักศึกษาที่ยังไม่มีงานทำ เพิ่มพูนความรู้