เปิดแฟ้ม ครม.สัญจรระยอง ชงพัฒนาคมนาคม-แก้แล้ง EEC แสนล้าน

 เปิดแฟ้ม ครม.สัญจรระยอง ชงพัฒนาคมนาคม-แก้แล้ง EEC แสนล้าน

กระทรวงท่องเที่ยวฯ ชง ครม.สัญจร ระยอง ปรับมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เปิดทางบริษัทเอกชนร่วมใช้สิทธิ ยื้อเสนอแผนจ้างเด็กจบใหม่ ชงแผนพัฒนาอีอีซีแสนล้าน “พุทธิพงษ์” เสนอความคืบหน้าควบ ทีโอที-กสท

แหล่งข่าวจากศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจรกผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ จ.ระยอง วันนี้ (25ส.ค.) จะเสนอผลการประชุม ศบศ.ครั้งที่ 1 คือ การปรับปรุงมาตรเราเที่ยวไปด้วยกัน 

ทั้งนี้ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจะเสนอให้ ครม.เพิ่มวันเข้าพักสำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ โดยรัฐอุดหนุนค่าที่พักให้ 40% และเพิ่มวันเข้าพักต่อคนจากเดิม 5 วันเป็น 10 วันและช่วยเหลือค่าตั๋วเครื่องบินจากเดิมไม่เกินคนละ 1,000 บาทเป็นไม่เกินคนละ 2,000 บาท รวมทั้งผ่อนเงื่อนไขให้บริษัทเอกชนใช้สิทธิ์ส่วนนี้พาพนักงานไปท่องเที่ยวสัมมนาได้ โดยใช้วงเงินเดิมที่ ครม.อนุมัติ 20,000 ล้านบาท

สำหรับมาตรการการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ 4-5 แสนคน จะเสนอ ครม.อีกครั้ง โดยจะรวมข้อเสนอเอกชนที่ให้รัฐอุดหนุนการจ้างแรงงานเด็กจบใหม่ 50% ของค่าจ้าง 1 ปี ซึ่งจะฟังความเห็นใน ครม.ครั้งนี้ก่อน หารือใน ศบศ.อีกครั้ง เช่น การช่วยเหลือทางการเงินมาตรการภาษี ซึ่งจะใช้เงินกู้จากกรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาทในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะรายงานความคืบหน้าโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้นายกรัฐมนตรีรับทราบรวมทั้งแผนขยายพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมือง โดยรอบสนามบินอู่ตะเภารัศมี 30 กิโลเมตรให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ

ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงอีอีซีกับ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจกับกรุงเทพฯ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต รวมทั้งรายงานความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย เปิดเผยว่า การประชุม ครม.สัญจร ครั้งนี้ ภาคเอกชนเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก 4 ด้าน คือ 1.การการพัฒนาน้ำ 2.โครงสร้างพื้นฐาน 3.การท่องเที่ยว 4.ภาคเกษตร 

เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของภาคตะวันออกขยายตัวยั่งยืนทุกมิติไม่เฉพาะภาคอุตสาหกรรม โดยงบและจำนวนโครงการต้องประชุมร่วมกันอีกครั้งระหว่างภาคเอกชน กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับเรื่องของน้ำเป็นปัญหาสำคัญของภาคการเกษตรภาคอุตสาหกรรมและภาคบริโภค โดยเฉพาะปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้งจึงต้องหามาตรการรองรับไม่ให้มีปัญหาแย่งน้ำ ส่วนโครงสร้างพื้นฐานเน้นการเชื่อมอีอีซีกับเส้นทางคมนาคมหลัก รวมถึงการเชื่อมมอเตอร์เวย์และสนามบิน

ขณะที่การพัฒนาท่องเที่ยวเน้นการเชื่อมโยงเส้นทาง เช่น การก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว

รายงานข่าวระบุว่า หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 (ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา) เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา 73 โครงการ วงเงิน 1 แสนล้านบาท เป็นโครงการเกี่ยวกับการลงทุนคมนาคมขนส่งและการแก้ภัยแล้ง เพราะปีนี้ภาคตะวันออกประสบปัญหาแล้งจนขาดแคลนน้ำรุนแรง โดยโครงการทั้งหมดจะเสนอ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณากลั่นกรองก่อนนำเสนอ ครม.สัญจร

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ จะรายงานความคืบหน้าการควบรวมรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้จ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาทำหน้าที่ประเมินทรัพย์สิน-หนี้สินตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ ครม.ให้ดำเนินการ โดยจะควบรวมเสร็จใน 6 เดือน

“ผมจะกำกับการควบรวมกิจการด้วยตนเองให้คืบหน้าทุกเดือน เพื่อให้ทันกับภารกิจของบริษัทใหม่ที่จะรองรับการทำธุรกิจจากคลื่นความถี่ 5จี ที่จะเป็นรายได้หลักของบริษัท”

ทั้งนี้ ได้หารือกับพนักงาน 2 องค์กร ยอมรับการควบรวม เพราะรู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนไม่อย่างนั้นอาจต้องฟื้นฟูฟูกิจการแบบการบินไทย ซึ่งพนักงานเข้าใจตรงกันว่าเมื่อรวมเป็นองค์กรใหม่มีการเตรียมความพร้อมมีธุรกิจ 5จี และมีแผนที่จะให้บริการหน่วยงานภาครัฐที่ต้องใช้ 5จี ทั้งการสื่อสารและการให้บริการประชาชนองค์กรจะมีรายได้และแข่งขันได้ในระยะยาว