รู้เท่าทัน 'มะเร็งปอด' จากกรณี 'โรเบิร์ต สายควัน'

รู้เท่าทัน 'มะเร็งปอด' จากกรณี 'โรเบิร์ต สายควัน'

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย และ "มะเร็งปอด" เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง โดยทุกๆ วัน จะมีคนไทยเป็น "มะเร็งปอด" เพิ่มขึ้นวันละ 42 คน

โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรค   "มะเร็งปอด"  ที่คนทั่วโลกป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด

โดยก่อนหน้านี้ วงการบันเทิงได้สูญเสียนักแสดงและผู้จัดละครคนเก่งอย่าง ตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง เสียชีวิตลงในวัย 59 ปี ด้วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย

ล่าสุดกรณี ตลก สายมึน โรเบิร์ต สายควันที่หายตาไปจากวงการพักใหญ่ วันนี้ (21 ส.ค) ทีมงานอะจ๊าก แห่งบริษัทฮาไม่จำกัดแถลงเปิดเผยอาการว่า เป็นมะเร็งปอด แต่ไม่ขอเปิดว่าเป็นระยะไหน

159800326792

สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก รายงานว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลก 2 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิต 1.7 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบคนไทยป่วยเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นวันละ 42 คน (Cancer in Thailand Vol. IX 2013-2015) และเสียชีวิตถึงวันละ 38 คน (สถิติสาธารณสุข พ.ศ.2560 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

  • สำรวจสาเหตุการเกิดโรค "มะเร็งปอด"

คนส่วนมากมีความเข้าใจว่า ผู้ที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดได้นั้นต้องเป็นผู้สูบบุหรี่หรือผู้สูดดมควันที่เป็นมลพิษมาเป็นระยะเวลายาวนานเท่านั้น ข้อมูลจาก   นพ.ธัช อธิวิทวัส หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่าแท้จริงแล้วยังมีอีกหลายสาเหตุที่คุณไม่คาดคิดซึ่งสามารถนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งปอดได้

สำหรับสาเหตุของมะเร็งปอดมีได้หลายเหตุปัจจัย ได้แก่ การสูดดมควันจากการทำอาหาร, ควันที่มาจากธูปหรือเทียน, การเกิดยีนกลายพันธุ์ขึ้นในร่างกาย

การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้าง การไอถือเป็นสัญญาณเตือนหนึ่งที่คนทั่วไปรับรู้กันดีว่าผู้ที่มีอาการไออาจจะมีปัญหาสุขภาพบางอย่างเกิดขึ้นที่ปอด แต่สำหรับโรคมะเร็งปอดนั้นจำเป็นต้องสังเกตอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตนร่วมด้วยโดยหากคุณมีอาการดังต่อไปนี้

ไอเรื้อรัง

ไอปนเลือด

น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ

เหนื่อยง่าย

เสียงแหบ

159800330685

  • ระยะของโรค  "มะเร็งปอด"

โรคมะเร็งปอดสามารถแบ่งความรุนแรงของโรคออกเป็น 4 ระยะ   ซึ่งแต่ละระยะจะมีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการ

ระยะที่ 1 เป็นระยะที่จะพบว่ามีก้อนบางอย่างอยู่ในปอดซึ่งในระยะนี้ โรคมะเร็งปอดมักจะไม่มีการแสดงอาการความผิดปกติของร่างกายออกมา

ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด โดยในระยะที่ 1 และ 2 เป็นระยะที่สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดนำก้อนเนื้อออกจากร่างกาย

ระยะที่ 3 เป็นระยะที่พบมะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองและในช่องอก ซึ่งในการรักษาอาจใช้วิธีการผ่าตัด หรือ ฉายรังสี เพื่อให้เซลล์มะเร็งมีขนาดเล็กลงและหากทำได้แล้วจึงค่อยผ่าตัดออกจากร่างกาย

ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งได้กระจายตัวไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ตับ กระดูก และต่อมหมวกไต เป็นต้น ในปัจจุบันผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 4 มีโอกาสที่จะรักษาอาการของโรคได้ตรงจุดมากขึ้นและสามารถใช้ชีวิตอยู่กับโรคมะเร็งปอดได้อย่างดีขึ้น เนื่องจากสามารถนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อวิเคราะห์ความรุนแรงของโรคและสาเหตุของการเกิดโรคได้โดยการรักษาโรคมะเร็งปอด

159800333827

ระยะที่ 4 นั้นมีหลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีโปรตีนบางชนิดทำงานผิดปกติบนผิวของมะเร็ง และการรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapies) หากแพทย์ตรวจพบว่าชิ้นเนื้อร้ายมีสาเหตุมาจากยีนกลายพันธุ์ เป็นต้น

159800336919

  • 8 วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกล  "มะเร็งปอด"

เนื่องจากโรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่ยิ่งรู้ไว รักษาเร็ว คุณจะมีโอกาสหายได้มากขึ้นหากถูกวินิจฉัยว่าเป็นเพียงในระยะที่หนึ่งหรือสอง แต่ถึงอย่างนั้นการดูแลตัวเอง ไม่ให้เข้าใกล้โรคมะเร็งปอดก็สำคัญเช่นกัน ข้อมูลโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ แนะนำการดูแลตนเองไว้คือ

1. หยุดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดถึงร้อยละ 80 – 90 การสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์หลอดลม ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้

2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะมาก เช่น การทำงานในที่ที่มีฝุ่นควันมาก หรือเหมืองแร่โดยไม่ใช้เครื่องมือป้องกันตนเอง การสัมผัสสารแอสเบสตอสหรือแร่ใยหิน ซึ่งใช้ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ ฉนวนกันความร้อน การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค คลัช และอุตสาหกรรมสิ่งทอ และควรหลีกเลี่ยงฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ PM2.5 โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปภายนอกอาคาร ซึ่ง PM2.5 ก็อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้เช่นกัน แม้จะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนอย่างชัดเจน

3. อยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์

4. หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ

5. ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ

6. การได้รับการฉายรังสีบริเวณปอด และรังสีเรดอน ซึ่งเป็นก๊าซกัมมันตรังสี ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในใยหินกระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดินในที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้

7. ผู้ที่เคยมีรอยแผลเป็นของโรคที่ปอด เช่น เคยเป็นวัณโรคปอด หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง จะมีโอกาสเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลทั่วไป

8. ปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุที่มากขึ้น การใช้สารเสพติดบางประเภท เช่น กัญชาและโคเคน ภาวะขาดวิตามินเอ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอดด้วย ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกรรมพันธุ์กับการเกิดมะเร็งปอดยังไม่มีความชัดเจนนัก

สุดท้ายนี้คำกล่าวที่ว่า "การไม่มีโรค.. เป็นลาภอันประเสริฐ" ก็ยังใช้เป็นข้อเตือนใจได้ดีทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นการดูแลตนเองจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ไม่ใช่แค่จะช่วยให้ห่างไกลมะเร็งปอดเท่านั้น แต่รวมถึงโรคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน