ทำความรู้จัก "ซากโควิด"

ทำความรู้จัก "ซากโควิด"

หลังปรากฏตรวจพบเชื้อโรคโควิด-19ที่รพ.รามาธิบดี ด้วยหวั่นว่า “จะเป็นการติดเชื้อในประเทศ”ทั้งที่ไม่มีมากว่า 80 วันแล้ว ก่อนที่ต่อมาจะได้รับการยืนยันว่า “ไม่ได้ติดในประเทศ” และเป็น “ซากเชื้อไวรัสที่ไม่แพร่โรคแล้ว”


      การตรวจพบเชื้อในกรณีแรก กรมควบคุมโรค(คร.) ร่วมกับ รพ.รามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า เป็นเพศหญิง อายุ 34 ปี เคยทำงานที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลับถึงไทยวันที่ 2 มิถุนายน เข้ารับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้(State Quarantine) การตรวจหาโควิดครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. พบสารพันธุกรรมปริมาณน้อย สรุปผลของการตรวจครั้งแรก ผลกำกวม และครั้งที่ 2 วันที่ 13 มิ.ย. ผลไม่พบเชื้อ เมื่อกักตัวครบ 14 วัน ได้รับอนุญาตให้กลับภูมิลำเนา จ.ชัยภูมิ ทำการพักแยกตัวจนครบ 30 วันตามมาตรฐาน และวันที่ 17 ส.ค. เข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อหาโควิด-19 เตรียมไปทำงานต่างประเทศที่ รพ.รามาธิบดี ผลออกมาวันที่ 18 ส.ค. พบสารพันธุกรรมในปริมาณน้อย จึงมีการเจาะเลือดตรวจพบมีภูมิคุ้มกัน จึงเป็นผู้ติดเชื้อรายเดิม ที่มีการตรวจพบซากเชื้อ ไม่มีความสามารถในการแพร่โรค
เท่ากับ เป็นการตรวจพบเชื้อซ้ำในผู้ป่วยรายเดิม แต่เป็นเพียงซากไวรัส ไม่มีชีวิต แพร่เชื้อต่อไม่ได้ และไม่ใช่การติดเชื้อในประเทศ


“ข้อมูลทางระบาดวิทยา คาดว่าเป็นการติดเชื้อในประเทศได้น้อยมาก เพราะประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 80 วันแล้ว อีกทั้ง การเฝ้าระวังและค้นหาเชิงในชุมชน ในพื้นที่ หรือในเหตุการณ์เสี่ยง เช่น กรณีระยอง กทม. กระบี่ หรือบริเวณชายแดนสระแก้ว ผลทั้งหมดเป็นลบ และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นคนเดินทางเข้ามาและอยู่ในสถานกักกัน เกือบ 7 หมื่นราย ตรวจพบ 400 กว่าราย หมายความว่าโอกาสติดเชื้อในประเทศน้อยมาก” นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว


อย่างไรก็ตาม กรณีการตรวจพบซากไวรัสในผู้ป่วยรายเดิมของประเทศไทย ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 มีกรณีผู้ป่วยหญิงชาวจ.ชัยภูมิที่เคยป่วยโควิด-19 อาการไม่มาก นอนในโรงพยาบาลครบ 14 วัน แพทย์จึงแนะนำให้กลับบ้านและแยกตัวจากคนในครอบครัว แต่ประมาณวันที่ 3-4 เมษายน 2563 เริ่มมีน้ำมูกนิดหน่อย คั่นเนื้อคั่นตัว รู้สึกเหมือนมีไข้ จึงไปโรงพยาบาลหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ทำการตรวจหาเชื้อซ้ำก็พบเชื้อ


ครั้งนั้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้น่าจะไม่ได้ติดโควิด-19ซ้ำ โดยเชื้อที่พบน่าจะเป็นซากของเชื้อไวรัส เพราะต่างประเทศสามารถตรวจเจอซากเชื้อได้นานถึง 30 วัน และซากที่พบเป็นตัวเชื้อไม่มีชีวิตแล้วจึงไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว 


หรือกรณีช่วงปลายเดือนมิ.ย.2563 กรณีแรงงานเมียนมาร์ จำนวน 23 ราย พบเชื้อโรคโควิด-19 หลังเดินทางกลับจากประเทศไทย โดยเมื่อมีการสอบสวนรายละเอียดพบว่า เคยเป็นต่างด้าวในศูนย์ผู้ต้องกัก อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ติดเชื้อรักษาหายและส่งกลับข้ามแดน


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายไว้ว่า การตรวจพบเชื้อซ้ำ สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งการตรวจเชื้อโดยการหาสารพันธุกรรม อาจยังพบพันธุกรรมของไวรัสได้ แต่จะเพาะเชื้อไม่ขึ้น เนื่องจากเป็นไวรัสที่ถูกร่างกายทำลายแล้ว ซึ่งในประเทศไทยและต่างประเทศก็มีการรายงานเช่นเดียวกัน โดยหลังจากมีรายงานผู้ติดเชื้อกลุ่มดังกล่าวแล้ว โดยมีรายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ พบว่า เมื่อหายป่วยโควิดแล้วเชื้อไวรัสยังมีอยู่ในร่างกายได้นานถึง 30 วัน


ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงการพบเชื้อในผู้ที่พ้นการกักกันโรค 14 วันว่า มีความเป็นไปได้ใน 4 ประเด็น คือ 1. ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะเป็น 2 - 7 วัน อาจพบได้ถึง 14 วัน และอาจจะเป็นไปได้น้อยมากถึง 21 วัน ดังนั้นในทางปฏิบัติผู้ที่พ้นระยะการกักกันโรค 14 วัน มักจะแนะนำให้ไปกักกันที่บ้านต่ออีก 14 วันเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกัน การกระจายโรค


2.การตรวจพบเชื้อหลังจาก 14 วันไปแล้ว เป็นไปได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วง 14 วันที่อยู่ในสถานที่กักกัน ในอดีต เช่น ในเรือสำราญ ดังนั้นในสถานที่กักกัน เราจึงเคร่งครัด ไม่ให้มีการพบปะกัน ระหว่าง ผู้ที่กักกันด้วยกัน หรือบุคคลภายนอก 3.ผู้ป่วยมาติดเชื้อในประเทศไทย โอกาสนี้เป็นไปได้น้อยมาก ขณะนี้ไม่พบการติดต่อเกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 80 วันแล้ว 4.ความเป็นไปได้ที่ผู้นั้นติดเชื้อมาจากต่างประเทศ หรือป่วยอยู่ต่างประเทศแล้ว และเมื่อมาถึงเมืองไทย เชื้อมีปริมาณน้อย ในบางช่วงก็ตรวจไม่พบ และต่อมา หรือบางช่วง ก็ตรวจพบ

อย่างเช่น การระบาดในรอบแรกของประเทศไทย ได้ทำการศึกษาร่วมกับ สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กทม. พบว่า ก่อนกลับจากโรงพยาบาลตรวจไม่พบเชื้อ หลังจากนั้นติดตาม ก็ยังมีการพบเชื้อ แต่เชื้อมีปริมาณน้อยมาก ในการติดตามระยะยาวที่เราทำการศึกษา จำนวน 212 ราย พบว่าในช่วง 4-12 สัปดาห์ หลังจากที่มีอาการ และผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว ยังตรวจพบเชื้อได้ประมาณ 6.6 %ของผู้ป่วย


“เราพบไวรัสได้หลังจากมีอาการ 36– 105 วัน แต่ปริมาณไวรัสที่พบน้อยมากดังนั้น การพบเชื้อดังกล่าว ผู้ป่วยไม่มีอาการ รวมทั้งการตรวจปริมาณไวรัส ถ้ามีเป็นจำนวนน้อย โอกาสที่จะแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นก็น้อยมากๆ ดังข้อมูลในการระบาดรอบแรก ที่ได้ทำการศึกษาในประเทศไทยถึงแม้จะตรวจพบเชื้อ ก็ไม่พบว่าแพร่กระจายไปสู่ผู้ใดเลย”ศ.นพ.ยงระบุ