'โควิด' ปิดน่านฟ้า 3 กิจการ ประตูธุรกิจบานใหม่เปิด

'โควิด' ปิดน่านฟ้า 3 กิจการ ประตูธุรกิจบานใหม่เปิด

เจ้าของ 3 ธุรกิจลับคม งัดแผนฉุกเฉิน ดีลสารพัดปัญหาเหนือการควบคุมช่วง 3 เดือนล็อกดาวน์โควิด พลิกธุรกิจกำลังขึ้นเทคออฟ อย่างเพนนี ป๊อปคอร์น ปรับแต่งรันเวย์จากท่องเที่ยวจีนไปสู่ซูเปอร์ มาร์เก็ตและออนไลน์ เปิดน่านฟ้าส่งออก ฉวยวิกฤติมองประตูธุรกิจบานใหม่

ต้นปีธุรกิจกำลังวางแผนเทคออฟขยายกิจการด้วยความหวัง ใครจะคิดว่าความร้ายกาจเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) จะถึงขั้นติดเชื้อหนักไปทั่วโลก จนธุรกิจต้องป่วยไข้ทรุดตามกัน วิกฤติเลวร้ายที่สุดในรอบร้อยปี เจ้าของผู้สร้างธุรกิจเจอโจทย์ใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน การปิดเมือง (ล็อกดาวน์) หยุดทำธุรกิจยาวนานไม่ต่ำกว่า3 เดือน หลังคลายล็อกดาวน์ ธุรกิจก็ยังบริหารบนความหวาดระแวง แบ่งขาอีกข้างหาทางตั้งการ์ดหากเชื้อปะทุรอบสอง

ต่อให้มากประสบการณ์ผ่านวิกฤติมาอย่างโชกโชนหลายลูกแต่ไม่มีลูกไหนเลวร้ายเท่าโควิด-19 นักธุรกิจหญิง พรพิมล ปักเข็ม เจ้าของธุรกิจ 3 ธุรกิจหลัก บริษัท แมทช์ เฮาส์ จำกัด โรงเรียนกวดวิชา 3 สาขา,ธุรกิจตัวแทนนำเข้าสินค้าจากจีนครบวงจร

159797431071

ล่าสุด บริษัทเพนนินเพนนี พาทิซเซอรี่ จำกัด ธุรกิจป๊อปคอร์น พรีเมี่ยม แบรนด์ “เพนนี ป๊อปคอร์น” เปิดมา 2 ปีกว่า อยู่ในช่วงขาขึ้น กำลังเนื้อหอมลูกค้าหลักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนซื้อเป็นของฝากบ้าน จนมีแผนขยายสาขาเพิ่มในปี 2563 เป็น 10 สาขา จากปีที่ผ่านมามี 4 สาขา รวมถึงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับ บริษัท เคเอส ซีเครท คลินิก เสริมความงามที่เพิ่งเปิดไปต้นปีที่ผ่านมา

พายุลูกใหญ่จากโควิดตั้งเค้าได้ไม่นานก็โจมตีรวดเดียวถูกปิดตายทั้ง 3 กิจการ โดยที่ไม่ทันตั้งตัวและไม่เคยเจอเหตุการณ์เลวร้ายถึงขั้นต้องปิดการบริการนานนับเดือน

พรพิมล รับมือกับวิกฤติที่ไม่เคยเจอมาตลอดชีวิตการทำธุรกิจมา 20 ปี ด้วยสติ แก้โจทย์ไปทีละด่าน เริ่มต้นจากธุรกิจโรงเรียน ไม่เคยอยู่ในสถานการณ์ปิดการเรียนการสอนมาก่อน ต่อให้วิกฤติน้ำท่วม หรือการชุมนุมทางการเมืองโรงเรียนก็ยังเปิดบริการ เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ จากนักเรียนเต็มทุกคลาส ธุรกิจปรับใหม่ต้องปรับหลักสูตรมาเรียนออนไลน์

3 ธุรกิจ โรงเรียน, ป๊อปคอร์น และคลินิกความงาม อยู่ในหมวดหมู่ต้องล็อกดาวน์แรกๆ และเป็นธุรกิจสุดท้ายที่จะเปิดหลังธุรกิจอื่นๆ แม้เข้าสู่ช่วงผ่อนคลายแต่ก็ยังไม่สามารถเปิดบริการได้ทันที ยอมทิ้งช่วงทดสอบตลาดสักพัก จึงเปิดบริการอย่างเป็นทางการเพื่อให้มั่นใจก่อนว่าคนจะมาใช้บริการจนคุ้มกับต้นทุนค่าเช่าที่ต้องจ่าย

ส่วนธุรกิจนำเข้าสินค้าจากจีน ไม่สามารถนำเข้าได้เกือบ 3 เดือน ผลจากการลงทุนคลังสินค้าก่อนหน้านั้นไปทำให้สินค้าที่มีเพียงพอต่อการกระจายให้กับลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มผู้ค้าขนาดกลางและรายย่อย (SMEs)

โดยทุกธุรกิจพอประคับประคองตัวผ่านพ้นจุดดำดิ่งที่สุดมาได้อย่างเหนื่อยหนักสาหัส ด้วยการหมุนเวียนกระแสเงินสดเก็บไว้พร้อมกันกับตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ให้เหลือต้นทุนคงที่ (Fixt Cost) รักษาพนักงานให้อยู่รอดในวันที่ฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน

แต่ธุรกิจที่ต้องพลิกตัวได้เร็วที่สุดและสร้างโอกาสใหม่ คือ ธุรกิจดาวรุ่งดวงใหม่ของพรพิมล “เพนนี ป๊อปคอร์น” เป้าหมายเดิมหากไม่สะดุดรายได้จะแตะ 100 ล้านบาทภายใน 1-2 ปี ปีนี้ ช่วงที่ตลาดเติบโตมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ 50% และอีก 30 % เป็นลูกค้าองค์กร ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นลูกค้าจากหน้าร้านคีออสในห้างสรรพสินค้า และเริ่มขยายมาสู่ป๊อป คอร์น คาเฟ่ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นสาขาแรก

“ลูกค้าจีนเข้ามาซื้อเป็นของฝาก เพราะเราสร้างการรับรู้ให้เพนนี ป๊อปคอร์นเป็นของฝากที่ต้องเลือกซื้อเมื่อมาเมืองไทย จึงซื้อฝากกันเป็นลังทำให้รายได้หลักส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว ก่อนโควิดขยายสาขาไปกับร้านเถ้าแก่น้อย ในจังหวัดท่องเที่ยว ส่วนลูกค้าองค์กรเข้ามาซื้อเป็นของฝากให้กับลูกค้าและพนักงาน และมีลูกค้าวอร์คอินเข้ามาคีออสบ้าง”

แบรนด์เพนนี ป๊อปคอร์น กำลังเนื้อหอมอยู่ดีๆ พายุลูกใหญ่จากโควิดลงตูมเดียวลูกค้าต่างชาติหายไปทันที 50% รวมไปถึงคีออสตามห้างซึ่งเป็นอีกช่องทางการกระจายสินค้าต้องปิดไปตามแผนล็อกดาวน์คุมการแพร่เชื้อ ในวิกฤติยังเหลือโอกาส ประตูป๊อปคอร์น ยังไม่ปิดหมดในทันที แม้ปิดสาขาในห้าง เพราะมีหลังคาหลบฝน เปิดช่องทางขายใหม่ใน วิลล่า มาร์เก็ต ตั้งแต่ก่อนโควิด จึงเหลือเป็นช่องทางเดียวที่พยุงรายได้เข้ามาเสริมธุรกิจในช่วงล็อคดาวน์ห้างปิด

ยอดขายตีตื้นขึ้นมา จุดประกายทำให้เร่งนำสินค้าเข้าไปกระจายในซูเปอร์มาร์เก็ตและออนไลน์ เป็นธุรกิจเติบโตท่ามกลางกระแสล็อกดาวน์

159797431190

“ลูกค้าเดิมต่างชาติ 50% และคนไทยอีก 50% แต่ช่วงโควิดลูกค้าต่างชาติหายไปเลยเพราะเข้ามาประเทศไม่ได้ ทำให้ยอดขายตกลงไปมาก เหลือแต่ในประเทศ จึงต้องคิดหาช่องทางอื่นทดแทน โดยการเข้าไปเพิ่มในซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะช่วงล็อกดาวน์ห้างปิดแต่ซูเปอร์มาร์เก็ตยังเปิดและขายดีมาก จึงเพิ่มในกูร์เม่ต์ มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ”

ปัจจุบัน แม้จะผ่อนคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่คนเดินห้างน้อยลง ในเมื่อตลาดหลักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาซื้อป๊อปคอร์นในไทยไม่ได้ ก็ต้องหาช่องทาง นำสินค้าส่งออกไปหาลูกค้าในต่างประเทศ จึงเดินหน้าบุกตลาดส่งออก ทางออกในช่วงที่โควิดยังไม่มีทีท่าจะจบลงและเปิดน่านฟ้ารับนักท่องเที่ยวในช่วงไหน แทนการรอคอยที่อาจจะกินเวลายาวนาน 6 เดือน – 1 ปี

พรพิมล มองวิกฤติที่รุนแรงอย่างไม่เคยเจอมาก่อนตลอดชีวิตการทำธุรกิจมา 20 กว่าปี และไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็มีวิธีคิดจัดการกับปัญหาและพร้อมรับมือด้วยการงัดแผนฉุกเฉิน (Emergency Plan) ยกให้โควิดเป็นบทเรียนสะสมประสบการณ์ พร้อมบริหารธุรกิจตั้งอยู่บนความไม่ประมาท มีแผนสำรองเสมอ ที่สำคัญต้องสะสมกระแสเงินสด และหาโอกาสใหม่ๆ เสมอ

“ปีที่แล้วยังขายดีสนุกสนาน แต่มาโควิดปิดห้าง เจอวิกฤติ เพราะชีวิตคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ พึงตั้งมั่นในความไม่ประมาท ไม่มีอะไรที่แน่นอน และไม่มีสูตรสำเร็จในการบริหารธุรกิจ สิ่งที่วางแผนไว้ในวันก่อน อาจจะใช้ไม่ได้กับช่วงวิกฤติ บางอย่างก็อยู่นอกเหนือแผน จึงต้องเตรียมพร้อมนำแผนฉุกเฉินและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ยอมรับชะตากรรมที่ทุกคนเป็นเหมือนกันหมด”

เจ้าของ 3 ธุรกิจและที่ปรึกษาธุรกิจเสริมความงาม บอกว่า เธอยังมีแพสชั่นในการหาธุรกิจใหม่ๆ จึงเห็นช่องว่างของการสร้างคน เพื่อเตรียมทรัพยากรมนุษย์”ของชาติเปลี่ยนผ่านไปสู่ศตวรรษที่ 21 โดยการต่อยอดจากโรงเรียนกวดวิชา เปิดบริษัท ทาเลนท์ ดีเทคทีฟ บริการประเมินลักษณะนิสัย ทักษะ ความถนัด และความชอบ เส้นทางอาชีพในอนาคต โดยวิเคราะห์จากอัตลักษณ์ลายมือ ซึ่งเป็นศาสตร์จากไต้หวัน เก็บอัตลักษณ์ข้อมูลของคนกว่า 30 ล้านคน ช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจและวางแผนสนับสนุนอนาคตลูกให้สอดคล้องกับศักยภาพต้นกำเนิดของเด็ก ซึ่งได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษากับโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนนำร่องแล้วในหลายโรงเรียน

“ที่ผ่านมาผู้ปกครองมักคาดหวังกับอนาคตของเด็ก โดยการสนับสนุนในสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการให้เด็กเป็น โดยบางครั้งขาดการประเมินตามความชอบและทักษะของเด็ก จึงเกิดการบังคับ ทำให้เสียทั้งเงินและเวลา จนกว่าจะรู้และเข้าใจ เมื่อเด็กเรียนจบกลับเลือกเส้นทางชีวิตที่ชอบ โดยให้เหตุผลว่าเรียนตามที่พ่อแม่ต้องการแล้ว ขอตามใจตัวเองบ้าง”

เธอแนะนำทิ้งท้ายถึงการพัฒนาธุรกิจและทักษะของคนในยุคเปลี่ยนแห่งการเปลี่ยนแปลงในโลกใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจให้ตอบโจทย์ตลาดคือ การไม่หยุดเรียนรู้ และพัฒนาทักษะ เพื่อให้มีหลากหลายฟังก์ชัน เธอจึงไปลงคอร์สเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรียนทำอาหาร, การตลาด, การสร้างแบรนด์ บางครั้งหลักสูตรเดิมยังเรียนซ้ำ เพื่อตอกย้ำความรู้และเพิ่มมุมมองใหม่ๆ เพราะธุรกิจทำให้เห็นว่าผู้ที่มีฟังก์ชันเดียว สกิลเดียว และธุรกิจเดียวไม่อาจจะอยู่รอดได้

โลกยุคหน้าต้องการคนมีหลายฟังก์ชั่นและสกิล ที่พร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่โอกาสใหม่หลากหลายช่องทาง เมื่อเจอวิกฤติ การพลิกโมเดลธุรกิจใหม่ แสวงหาช่องทางใหม่ ดังนั้นเครื่องมือที่ดีที่สุดคือการ สั่งสมความรู้จากหลากหลายสกิลจะทำให้เราอยู่รอดได้ทุกสภาวะ”

...................................

แผนปรับรันเวย์ธุรกิจ

รอเปิดน่านฟ้า

-เพิ่มซูเปอร์มาร์เก็ตชดเชยนักท่องเที่ยวจีน

-รักษากระแสเงินสดประคองตัวฝ่าวิกฤติ

-คิดแผนฉุกเฉินเมื่อธุรกิจเทคออฟไม่ได้

-ไม่หยุดเรียนรู้ เปิดประตูธุรกิจใหม่