'ชูสามนิ้ว' และ 'โบขาว' กับการเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ในประเทศไทย

'ชูสามนิ้ว' และ 'โบขาว' กับการเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ในประเทศไทย

รู้จัก 'ชูสามนิ้ว' และ 'โบขาว' ในการชุมนุม ที่กลายเป็นสัญลักษณ์การเรียกร้องล่าสุดของสังคมไทย

นอกจากภาพการรวมตัวของ นักเรียน-นักศึกษา ในการชุมนุมประชาชนปลดแอกบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา จนกลายเป็นกระแส ชูสามนิ้ว รายวันของ นักเรียน ตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ในขณะนี้ ถึงแม้จะมีคำอธิบายจากฝ่ายรัฐว่า การชูสามนิ้วดังกล่าวนั้นเป็นเหมือนดังคำปฏิญาณของลูกเสือ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ เมื่อเราเห็นการทำสัญลักษณ์ชูสามนิ้วขึ้นเมื่อใด ย่อมมีความหมายเป็นการเรียกร้องทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากกระแสการชูสามนิ้วที่ปรากฏเป็นตัวแทนของการเรียกร้อง โบสีขาวก็กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จนนำไปสู่ความสนใจ และการค้นหาความหมายของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์กันอยู่ในตอนนี้

159782212396

  • โบขาวมีที่มาที่ไปอย่างไร

โบขาว หรือ ริบบิ้นขาว (White Ribbon) ที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้ นั้น แต่เดิม การผูกริบบิ้นขาว นั้นถูกนำมาใช้เพื่อ ยุติความรุนแรง เมื่อปี ค.ศ.1991 ที่ประเทศแคนาดา หลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล จำนวน 14 คน

โศกนาฏกรรมครั้งนั้น ทำให้กลุ่มนักศึกษาชายกว่าแสนคน ได้ออกมาเรียกร้องให้ทั้งโลกตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และยุติปัญหาดังกล่าว ผ่านการติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อ ที่มีความหมายว่า จะไม่ทำร้าย หรือ ไม่นิ่งเฉย ต่อการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ

ต่อมา ในปี 1999 องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวัน "วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กสากล" ซึ่งเชื่อมโยงกับการใช้ริบบิ้นขาวที่สื่อถึงการยุติความรุนแรงดังกล่าว อีกทั้งยังได้มีการใช้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อเป็นการร่วมกันรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวด้วย

สำหรับประเทศไทยเอง ริบบิ้นขาว หรือโบขาว ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองจากกลุ่ม สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนท. ได้นำริบบิ้นสีขาวไปผูกไว้ตามสถานที่ราชการสำคัญ อาทิ ทำเนียบรัฐบาล และกองบัญชาการกองทัพบก เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และประณามการอุ้มหายของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

โดยเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติความรุนแรงต่อผู้มีความคิดเห็นต่าง รวมทั้งเรียกร้องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงสถานการณ์ที่ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ก่อนที่ ล่าสุด ริบบิ้นขาว หรือ โบขาว จะถูกนำกลับมาใช้สะท้อนเสียงของ เยาวชน และคนรุ่นใหม่ที่มีต่อรัฐบาลในขณะนี้

159782888193

  • ชูสามนิ้ว สัญลักษณ์นี้มาจากไหน

สัญลักษณ์การชูสามนิ้ว สังคมไทยรับรู้ว่า นี่เป็นตัวแทนของการต่อต้านการรัฐประหารมาหลายปี โดยหลายคนเคยได้เห็นการทำสัญลักษณ์ดังกล่าวผ่านภาพยนตร์ไตรภาค The Hunger Games ที่ แคตนิส เอฟเวอร์ดีน ตัวเอกของเรื่อง ชูสามนิ้ว หรือ Three Finger Salute แทนความหมายว่า ขอบคุณ สรรเสริญ และลาก่อน แต่ต่อมาถูกนำมาใช้เพื่อต่อต้านอำนาจจากเหล่าผู้ปกครอง และเกิดการเลียนแบบ แพร่หลายในหมู่ผู้คนในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว

หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 การชูสามนิ้ว กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้ในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นับตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน สวมเสื้อสกรีนข้อความ "ไม่" "เอา" "รัฐ" "ประ" "หาร" พร้อมชู 3 นิ้ว ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ขณะลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร ส่งผลให้ทั้ง 5 คน ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัด ต่อจากนั้น สัญลักษณ์การชูสามนิ้วเพื่อต่อต้านรัฐบาลก็ปรากฏตามสถานที่ต่างๆ ตามวาระและโอกาสเรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการชูสามนิ้วว่า เริ่มมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส ช่วงปี 1789-1799 ซึ่งในยุคสมัยนั้นได้เกิดคำขวัญขึ้นมาเป็นครั้งแรกว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ หรือความตาย" (Liberté, Égalité, Fraternité, ou la Mort) แต่ก็มีนักวิชาการออกมาโต้แย้งประเด็นดังกล่าวว่าในประวัติศาสตร์ชาติฝรั่งเศสนั้น ไม่ปรากฏเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

อย่างที่รู้กันว่า การชุมนุมในนาม ประชาชนปลดแอดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นั้นถือเป็นการปลดล็อกการแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน จนเกิดแรงกระเพื่อมนำไปสู่การแสดงออกสัญลักษณ์ของกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และเป็นที่น่าจับตาว่า ปรกฏการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในครั้งนี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแบบไหนในที่สุด

159782908566