ทุน 'ญี่ปุ่น' เบนเข็มสู่อาเซียน ใครได้ประโยชน์?

ทุน 'ญี่ปุ่น' เบนเข็มสู่อาเซียน ใครได้ประโยชน์?

เมื่อ "ญี่ปุ่น" เบนเข็มการลงทุน ย้ายฐานการผลิตกลุ่มบริษัท 87 แห่ง ออกจากจีน โดยราวกว่า 57 บริษัทเตรียมย้ายกลับแดนอาทิตย์อุทัย ส่วนที่เหลือเล็งเป้ามาที่อาเซียน ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่เวียดนาม ตามด้วยไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว อินโดนีเซียและเมียนมา

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (มิติ) ของญี่ปุ่น ได้ประกาศว่ามีกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นรวม 87 แห่งมีความประสงค์ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้เงินอุดหนุนในการโยกย้ายหรือกระจายการลงทุนในวงเงิน 70,000 ล้านเยน หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาฐานการผลิตในจีน และเพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สาเหตุการย้ายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นออกจากจีน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม หลายอุตสาหกรรมต้องชะงักงันจากการปิดประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชน ทำให้บรรดาบริษัทญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานโลกต้องขาดแคลนชิ้นส่วนและส่วนประกอบที่จำเป็นในการผลิตสินค้า

แต่เหตุผลดังกล่าวอาจเป็นเพียงปัจจัยซ้ำเติมเท่านั้น หากยังมีอีก 2 ปัจจัย นั่นคือ ต้นทุนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของจีนที่สูงขึ้น อีกทั้งการผลิตสินค้าในจีนยังถูกเก็บอัตราภาษีศุลกากรสูงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งทั้งสองปัจจัยเร่งให้ภาคธุรกิจกระจายการผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้า

87 บริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตออกจากจีนแล้วไปไหน พบว่า 57 บริษัทจะย้ายการดำเนินการกลับไปญี่ปุ่น โดยใช้วัสดุท้องถิ่นทั้งหมด เช่น บริษัทผลิตหน้ากากอนามัย บริษัทผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีแอกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ตลอดจนบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา เม็ดโฟม และผลิตภัณฑ์กระดาษ ซึ่งก็อยู่ในลิสต์รายชื่อบริษัทย้ายฐานด้วย

ขณะที่อีก 30 บริษัทจะย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน ซึ่งพบว่าจะย้ายมาเวียดนาม 15 บริษัท อาทิ บริษัทผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดไดร์ฟ บริษัทผลิตแร่เหล็กหายาก, ไทย 6 บริษัท ได้แก่ บริษัทผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ บริษัทผลิตโลหะผสม บริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ บริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริษัทผลิตเสื้อกาวน์, มาเลเซีย 4 บริษัท อาทิ บริษัทผลิตถุงมือยาง, ฟิลิปปินส์ 3 บริษัท, ลาว 2 บริษัท, อินโดนีเซีย 1 บริษัท และเมียนมา 1 บริษัท

ความน่าสนใจของเวียดนามในฐานะแหล่งดึงดูดการลงทุน ก่อนหน้านี้ กระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสู่เวียดนามก็มีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดดอยู่แล้ว ดังเห็นได้จาก การเข้ามาของบรรษัทข้ามชาติทั้งจากเกาหลีใต้ จีนไทเป ญี่ปุ่น สหรัฐ เป็นต้น ล่าสุดเวียดนามก็จะได้รับกระแสการย้ายฐานการผลิตจากทัพบริษัทญี่ปุ่นอีกระลอก

เวียดนามมีอัตราค่าจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ต่ำกว่าจีน ตะกร้าสินค้าส่งออกคล้ายกับจีนมากกว่าประเทศอื่น อีกทั้งมีข้อได้เปรียบอื่นๆ อีก เช่น ตลาดมีขนาดใหญ่ ประชากรอยู่ในวัยหนุ่มสาวซึ่งสะท้อนกำลังแรงงานและกำลังซื้อ นโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการลงทุนต่างชาติ การมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เช่น การเข้าร่วมกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) การทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป (EVFTA) การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือจีเอสพีจากประเทศพัฒนาแล้ว

ผลพวงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ท่ามกลางค่าแรงสูงในจีน ไม่เพียงกระทบต่อการส่งออกทั่วโลก แต่ยังทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเพื่อหนีกำแพงภาษีที่ถูกปรับขึ้นทั้งจากฝั่งสหรัฐ และจีน ขณะที่ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อระบบซัพพลายเชน เป็นตัวเร่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิตให้เร็วขึ้น ทำให้ “เวียดนาม” กลายเป็นประเทศจุดหมายปลายทางยอดนิยม สะท้อนจากทุนต่างชาติต่างหลั่งไหลเข้าไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนามเพิ่มขึ้น

ในส่วนของไทย ด้วยจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางภูมิภาค และเป็นฐานการผลิตที่มีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์เป็นทุนเดิม หากเสริมจุดแข็งด้วยการเป็นประเทศที่ยืนหนึ่งของโลกด้านการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และด้านการเริ่มต้นทำธุรกิจ การมีพื้นที่อีอีซีรองรับนวัตกรรมใหม่ ตลอดจนการจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนแล้ว ก็เชื่อมั่นได้ว่าจะได้รับการตอบรับด้วยการเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนรองรับการย้ายฐานการผลิตที่น่าสนใจเช่นกัน