'ไอลอว์' เปิดสถิติการคุกคาม 'ผู้ชุมนุม' ตั้งแต่ชุมนุมเยาวชนปลดแอก รวม 79 ครั้ง

'ไอลอว์' เปิดสถิติการคุกคาม 'ผู้ชุมนุม' ตั้งแต่ชุมนุมเยาวชนปลดแอก รวม 79 ครั้ง

'ไอลอว์' เปิดสถิติการคุกคาม 'ผู้ชุมนุม' ตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอก รวม 79 ครั้ง เป็นกรณีเปิดเผยต่อสาธารณะได้ 63 ครั้ง และกรณีที่ผู้ถูกคุกคามไม่พร้อมให้เปิดเผยอีก 16 ครั้ง

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2563 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) รวบรวมการคุกคามประชาชนที่ใช้สิทธิในการชุมนุมทางการเมือง พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 เริ่มมีกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างน้อย 39 ครั้ง หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ แฟลชม็อบตามสถานศึกษาต่างๆ ทยอยเกิดขึ้นนับได้ประมาณ 95 ครั้งทั่วประเทศ โดยข้อเรียกร้องรูปธรรมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มปรากฏให้เห็น

เดือนกรกฎาคมหลังมีการคลายล็อคมาตรการป้องกันโควิด-19 กลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค.พร้อมข้อเสนอรูปธรรรม 3 ข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยข้อเสนอนี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางและมีการจัดชุมนุมย่อยๆ ตามมาอีกหลายครั้ง ส่วนใหญ่นำโดยเยาวชนทั้งนักศึกษาและนักเรียนมัธยม

ไอลอว์บันทึกการคุกคามผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมชุมนุมทั่วประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.เป็นต้นมาจนปัจจุบัน พบว่า มีการแจ้งเข้ามาทั้งหมด 79 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นกรณีเปิดเผยต่อสาธารณะได้ 63 ครั้ง และกรณีที่ผู้ถูกคุกคามไม่พร้อมให้เปิดเผยอีก 16 ครั้ง

นายอภิรักษ์ นันทเสรี เจ้าหน้าที่ไอลอว์ เปิดเผยว่า รูปแบบการคุกคามที่พบเป็นส่วนใหญ่สำหรับแกนนำจัดชุมนุมคือ มีเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านก่อนจัดการชุมนุมเพื่อกดดันให้ไม่จัดหรือไม่เข้าร่วม เช่น จังหวัดลำพูน เพชรบูรณ์ แพร่ เลย พัทลุง นครศรีธรรมราช ปัตตานี สมุทรปราการ กาญจนบุรี นนทบุรี สงขลา ขอนแก่น อำนาจเจริญ อุดรธานี กระบี่ กรุงเทพมหานคร ฯลฯ นอกจากนี้การคุกคามผู้เข้าร่วมชุมนุมยังมีการถ่ายภาพนิ่ง วิดีโอ ใช้กล้องวงจรปิด ใช้โดรนในการเก็บข้อมูลผู้เข้าร่วมชุมนุม และมีรายงานการเก็บข้อมูลป้ายทะเบียนรถผู้เข้าร่วมชุมนุมด้วย

กรณีบทบาทของโรงเรียนนั้น พบว่ามีผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูเรียกพบนักเรียนที่เป็นแกนนำหลายกรณี โดยมีเป้าหมายเพื่อห้ามปรามการชุมนุม บ้างเป็นการขอความร่วมมือ บ้างเป็นการข่มขู่ว่าจะมีการลงโทษ กระทั่งจะไม่ได้รับใบประกาศจบการศึกษา

อย่างไรก็ดี การชุมนุมโดยส่วนใหญ่ก็ยังคงจัดขึ้นตามกำหนดการ มีเพียงไม่กี่กรณีที่ยุติการจัดการชุมนุม ที่น่าสังเกตคือ เจ้าหน้าที่ในท้องที่ที่เข้าพบเยาวชนหรือประชาชนมักอ้างว่ามีลิสต์ซึ่งเป็นข้อมูลจากส่วนกลางซึ่งระบุชื่อและข้อมูลส่วนบุคคลของแกนนำต่างๆ ด้วย

“หลังจากที่การชุมนุมมีแนวโน้มที่จะเป็นเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ เข้าร่วมมากขึ้น รูปแบบการคุกคามจึงเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะในโรงเรียน เช่น การเรียกนักเรียนที่จัดกิจกรรมเข้าพบผู้อำนวยการหรือครู การเรียกผู้ปกครองมาพบที่โรงเรียน การประกาศในโรงเรียนว่าห้ามไปร่วมชุมนุม การนำตำรวจเข้าไปในโรงเรียน ตำรวจโทรหาผู้ปกครองหรือไปเยี่ยมบ้านเพื่อพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็ก การขับรถตามและเฝ้าอยู่ที่หอพัก รวมไปถึงการให้เซ็นบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ว่าจะไม่ไปร่วมกิจกรรม

การคุกคามรูปแบบใหม่เหล่านี้ส่งผลกระทบและสร้างความกดดันอย่างมากให้กับนักเรียน นักศึกษา เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะเป็นคนหน้าใหม่ที่กำลังเริ่มสนใจกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งกิจกรรมส่วนใหญ่จัดในต่างจังหวัด หลายพื้นที่ไม่เคยมีกิจกรรมทางการเมืองมานาน ทำให้เจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ปฏิบัติรุนแรงแตกต่างกันไป” นายอภิรักษ์กล่าว

สำหรับการดำเนินคดีนั้น อภรักษ์ระบุว่า จะดำเนินคดีกับผู้จัดหรือผู้ขึ้นปราศรัยเป็นหลัก เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีคนถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ จากการทำกิจกรรม #คนเชียงใหม่จะไม่ทนtoo บริเวณประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. จำนวน 4 คน ที่จังหวัดลำพูนในงานวันที่ 24 ก.ค. คนขึ้นปราศรัย 2 คนก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนที่กรุงเทพฯ มีคนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมหน้ากองทัพบกในวันที่ 20 ก.ค.จำนวน 5 คน และจากเวทีวันที่ 18 ก.ค.อย่างน้อย 3 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ขึ้นเวทีปราศรัยทั้งสิ้น

ในส่วนของเหตุการณ์หลังเวทีที่ธรรมศาสตร์รังสิต ในวันที่ 10 ส.ค. นั้น ยังไม่มีรายงานของการดำเนินคดีจากเวทีดังกล่าว แต่มีการคุกคามเกิดขึ้นคือ มีตำรวจนอกเครื่องแบบขับรถติดตามผู้ปราศรัยไปจนถึงที่บ้าน และในคืนวันที่ 12 ส.ค. ตำรวจนอกเครื่องแบบยังได้ไปเฝ้าอยู่บริเวณหอพักของแกนนำจัดงานและคนขึ้นปราศรัยตั้งแต่ช่วงค่ำจนถึงเช้า รวมไปถึงการจับกุมพริษฐ์ หนึ่งในกลุ่มแกนนำจัดงาน 10 ส.ค. ในช่วงเย็นวันที่ 14 ส.ค. แต่เป็นการจับกุมจากเหตุของการชุมนุมครั้งอื่น

ส่วนกรณีข้อมูลจำนวนหนึ่งไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้นั้น อภิรักษ์ระบุว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกคุกคามเป็นนักเรียนหรือเยาวชน ซึ่งมีถึง 8 กรณีจากทั้งหมด 16 กรณี และทุกกรณีอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดและเป็นผู้จัดกิจกรรมที่ไม่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองมาก่อน จึงไม่ต้องการให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในจังหวัด รวมถึงครูในโรงเรียนด้วย ในส่วนของลักษณะโดยทั่วไปของการคุกคามเป็นจะเป็นการเข้าไปเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก การโทรหาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ การเรียกเข้าพบของผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครู