‘ครุย’ เครื่องแสดงชนชั้น กับสถานะที่เปลี่ยนไป

‘ครุย’ เครื่องแสดงชนชั้น กับสถานะที่เปลี่ยนไป

ว่าด้วยที่มาของ "ครุย" ตั้งแต่ครุยราชสำนักในสมัยอยุธยา จนถึง "ครุยวิทยฐานะ" ความหมายในวัฒนธรรมเครื่องแต่งกายที่ผูกโยงกับ "ชนชั้น-สิทธิ-ศักดินา" ความศักดิ์สิทธิ์ในอดีตที่กำลังถูกท้าทายในปัจจุบัน

‘ครุย’ ไม่ใช่เครื่องแต่งกายแต่ดั้งเดิมของชนเผ่าไทย จนกระทั่งเริ่มมีการติดต่อกับต่างชาติไกลจากวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ ชาวเปอร์เชีย/อาหรับที่แล่นเรือมาก่อนฝรั่ง มาพร้อมกับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ใหม่ๆ รวมถึงพืชพรรณอย่างกุหลาบ เป็นต้น

ครุย ที่หมายถึงเสื้อคลุมยาว และเป็นผ้าที่มาจากเปอร์เชียถูกนำมาใช้ในราชสำนักอยุธยาก่อนยุคสมเด็จพระนารายณ์ที่มีหลักฐานฝรั่งบันทึกการแต่งกายของพระนารายณ์ไว้ และรวมถึงภาพวาดเครื่องแต่งกายคณะทูตเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่สวมเสื้อคลุมยาวเช่นกัน

ครุยราชสำนักของกษัตริย์และขุนนางอยุธยาไม่ใช่ครุยดำๆ พองๆ แบบที่เราคุ้นเคย ยังเป็นแบบอาหรับ/เปอร์เชีย นั่นคือเสื้อคลุมผ่าหน้าทิ้งยาวถึงเข่า แบบเสื้อครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครุยลักษณะนี้ไม่ใช่ใครอยากสวมก็ได้ เพราะธรรมเนียมศักดินาระดับชั้นของสังคมไทยเข้มงวด ชนชั้นใดใช้ผ้าแบบไหน หรือกระทั่งเครื่องประดับฝักดาบ ลวดลาย เชี่ยนหมาก ล้วนแต่มีระดับ บ่งบอกสถานะผู้ใช้ เสื้อคลุมยาวจึงมีใช้สำหรับชั้นยศบรรดาศักดิ์เฉพาะ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ในราชสำนัก ธรรมเนียมตกทอดมาถึงรัตนโกสินทร์

ส่วน ครุยแบบฝรั่ง หรือ gown แบบครุยผู้พิพากษา หรือครุยมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ใช้กันมาทีหลังเปอร์เชีย คือเข้ามาเมื่อสยามรับธรรมเนียมและสถาบันแบบฝรั่งเช่น ระบบศาล ระบบการศึกษา เสื้อคลุมแบบนี้เริ่มใช้กับผู้สำเร็จเนติบัณฑิต ที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงสอนด้วยพระองค์เอง ต่อมาก็ใช้กับผู้พิพากษา ซึ่งเป็นธรรมเนียมการแต่งกายแบบยุโรปใช้มายาวนานก่อนหน้า แต่เราก็เรียกว่า ‘ครุย’ ที่หมายถึงเสื้อคลุมตัวนอก (แสดงเกียรติยศ/ระดับชั้น) ตามที่เคยเรียกมา

จุดร่วมของครุยทั้งแบบไทยเปอร์เชีย และ ครุยฝรั่ง ก็คือ มันเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะชนชั้นหรือผู้มีสิทธิ์สวมใส่ เฉพาะรายเท่านั้น

อันว่า วัฒนธรรมเครื่องแต่งกายที่ผูกกับชนชั้นสิทธิศักดินานี่คล้ายๆ กันทั้งโลก กล่าวคือ ยิ่งชนชั้นสูงขึ้นก็จะยิ่งมีระเบียบแบบแผนยิ่งเยอะเข้าไว้ ชุดดื่มน้ำชาบ่าย ชุดดินเนอร์ ชุดราตรีสโมสร แม้กระทั่งชุดล่าสัตว์ ครุยของฝรั่งเขาก็มีประวัติศาสตร์ของเขาย้อนไปถึง 700-800 ปีศตวรรษที่ 12 โน่น ในอังกฤษผู้พิพากษาในยุคกลางต้องสวมครุยและวิกผมถือเป็นเครื่องแบบ 

ครุยวิทยฐานะ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยก็เช่นกัน แรกเริ่มในยุโรปคนจะเข้าชั้นเรียนต้องสวมครุยเครื่องแบบบ่งบอกว่าเป็นผู้ศึกษา (ซึ่งสถานะของบัณฑิตนักศึกษาย่อมสูงกว่าสามัญชนคนกรรมกรไม่รู้หนังสือ) จนกระทั่งโลกเริ่มเปลี่ยน การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในอเมริกาไม่เคร่งครัดให้สวมเครื่องแบบครุยหนาหนักตลอดเวลา เอาแค่ปรับใช้ให้ สวมครุยวิทยฐานะในวันรับปริญญาสำเร็จการศึกษาแค่วันเดียว กลายมาเป็นธรรมเนียมสวมครุย (และหมวก) วิทยฐานะในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยค่อนโลกในเวลาต่อมา

ส่วนธรรมเนียมไทยและชาติในย่านอาคเนย์ที่มีระบบชั้นกำกับโครงสร้างสังคมก็เช่นกัน เครื่องแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมแบบมีชั้นอย่างเข้มงวด มิฉะนั้นจะถูกข้อหาทำเทียม มีข้อกำหนดห้ามชนชั้นสามัญนุ่งผ้าปัก ผ้ากรองทอง แต่งกายต้องตามฐานะตนมาก่อนแล้ว ส่วนครุยที่สยาม/ไทยรับมาเป็นเครื่องแต่งกายในชั้นหลังก็ชัดเจนมาแต่แรกว่า ยังเป็นเครื่องแต่งกายที่สามัญชนคนธรรมดาแต่งเองไม่ได้

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงออกพระกำหนดเสื้อครุย ร.ศ.130 (2455) ด้วยเพราะตอนนั้นธรรมเนียมแต่งครุยเริ่มหลากหลายแตกจากธรรมเนียมราชสำนักโบราณด้วยมีองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมา กฎหมายนี้กำหนดว่า ผู้จะสวมเสื้อครุยต้องมีบรรดาศักดิ์หรือมีตำแหน่งที่กำหนดไว้ คือ ผู้พิพากษา พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้อ่านประกาศหรือคำถวายไชยมงคลชั่วขณะ

ในตอนนั้นการบวชนาคเขาสวมเสื้อครุยกันแล้ว ตามความในพระราชกำหนดเขียนไว้ว่า เจ้านาคที่จะบรรพชานั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สวมเสื้อครุยตามประเพณีที่ทำมาแต่โบราณกาลต่อไปได้ แต่มีข้อแม้ห้ามมิให้ใช้เสื้อครุย ‘เกิน’ บรรดาศักดิ์ ถ้าเจ้านาคมีบรรดาศักดิ์เทียบไม่ถึงชั้นนายร้อยทหารบก นายเรือ หรือ รองอำมาตย์ฝ่ายพลเรือน ให้สวมได้แค่เสื้อครุยชั้นตรี

พระราชกำหนดดังกล่าว บ่งบอกชัดเจนว่า เสื้อครุยบ่งบอกชั้น ฐานะ ที่ละเอียดและเข้มงวด

ครุยของพระบรมวงศานุวงศ์ ใช้กรองทอง กรองเงิน ต่างจากครุยเสนามาตย์ ที่แบ่งเป็น 3 ชั้น เอก โท ตรี ชั้นเอกพื้นขาวปักทอง ส่วนชั้นตรีไม่มีปัก มีแค่สมรตกรองทองติดรอบขอบและปลายแขนเท่านั้น

ในต้นรัชกาลที่ 6 ครุยของสังคมไทยยังจำกัดเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์และเสนามาตย์ (ยกเว้นเจ้านาคบรรพชาแต่ต้องใช้ตามลำดับศักดิ์) มากระทั่งปี 2473 ค่อยเกิดมี พระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พรบ.เสื้อครุยเนติบัณฑิต พ.ศ.2479 ในเวลาต่อมา

ครุยจึงค่อยๆ เริ่มเปิดให้ประชาชนคนทั่วไปที่ผ่านหลักสูตรเล่าเรียนชั้นสูงสามารถสวมใส่ได้

ครุยจึงเป็นความภาคภูมิใจ เป็นเครื่องบ่งชี้ชั้นฐานะสังคมที่ยกสูงขึ้นจากที่เคย มหาวิทยาลัยที่เดิมมีแค่จุฬาลงกรณ์ ขยายมามีธรรมศาสตร์ มีวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ซึ่งมีศักดิ์ฐานะปริญญาบัตรและสามารถสวมครุยได้เช่นกัน ลูกหลานชาวบ้านธรรมดามีภาพถ่ายสวมครุยรับปริญญา เป็นที่เชิดหน้าชูตาสำหรับสังคมไทยยุคหลังสงครามโลกต่อเนื่องมา …

แต่ก็นั่นล่ะ การเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง ดั่งคำท่านว่า

จนยุคหลังๆ ครุยเริ่มคลายความศักดิ์สิทธิ์ลง อาจด้วยเพราะระบบการศึกษาที่เปิดกว้าง มีมหาวิทยาลัยมากมายจนกระทั่งล้นเกินจำนวนเด็กจบมัธยม ปริญญาตรีเริ่มไม่ขลัง จำนวนคนจบโท จบเอกมากมายในแต่ละปี ชุดครุยจึงไม่ได้อยู่ไกลเกินไขว่คว้าเหมือนกับยุคก่อนสงครามโลก ที่หากไม่ได้เป็นขุนนางราชการ หรือเรียนจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่ง ไม่มีสิทธิ์สวมใส่

พ่อนาคยุคนี้ออกบวชก็ไม่ได้เคร่งครัดศักดิ์ฐานะ ส่องกระจกดูตัวเองว่ามีสิทธิ์สวมครุยบรรพชาแบบไหน และดูเหมือนว่าไม่มีใครสนใจแล้วว่ามันจะเป็นครุยชั้นไหนขอให้พ่อนาคสวมก็พอ ที่เขาสนใจคือ ขบวนแห่จะเถิดเทิงเชิดหน้าชูตาขนาดไหนมากกว่า 

ส่วนชุดครุยวิทยฐานะยิ่งแล้วใหญ่ เพราะปัจจุบันเด็กน้อยเรียนจบอนุบาลก็มีพิธีจบ มีครุยโรงเรียนให้สวมอำลาก่อนจะไปสู่ระดับชั้นประถม ภาพถ่ายของบัณฑิตในชุดครุยที่เคยเชิดหน้าชูตา แบบที่บ้านไหนลูกหลานสวมครุยรับปริญญาจะมีรูปถ่ายติดข้างฝา เลื่องลือไปทั้งอำเภอก็เริ่มไม่เป็นแบบเดิม เพราะลูกใครๆ ก็จบปริญญากันง่ายๆ เหมือนๆ กันทุกบ้าน

สังคมเปลี่ยน คุณค่าของสิ่งบางสิ่งก็เปลี่ยนตาม