กลับสู่ยุคทองหุ้น ‘ไอพีโอ’ เตือนราคาพุ่งแซงพื้นฐาน

กลับสู่ยุคทองหุ้น ‘ไอพีโอ’ เตือนราคาพุ่งแซงพื้นฐาน

หุ้นไอพีโอฟื้น ปีนี้ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 150% โบรกฯ ชี้รายย่อยแห่เก็งกำไรมากขึ้น ประกอบกับราคาขายเริ่มมีส่วนลดมากขึ้น ไม่แพงเหมือนช่วงก่อนหน้า แต่ยอมรับราคาหุ้นเปิดกระโดด 200% ถือว่าแรงเกินพื้นฐาน ด้าน ตลท.รุดสอบความเกี่ยวโยงของ หุ้นไอพีโอ ที่ร้อนแรงต่อ

ก่อนหน้าที่หุ้นไอพีโอน้องใหม่อย่าง บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICT) และบมจ.ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป (IIG) จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) ในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นไอพีโอตัวสุดท้ายที่สามารถเข้าซื้อขายเป็นวันแรกและราคาพุ่งขึ้น 200% ชนเพดาน (Ceiling) ระหว่างวัน คือ บมจ.อาฟเตอร์ยู (AU) ที่เข้าจดทะเบียนตั้งแต่ปลายปี 2559

ช่วงปี 2560 – 2562 ผลงานของหุ้นไอพีโอไม่เป็นที่น่าประทับใจเท่าใดนัก ทั้งจากผลตอบแทนวันแรกที่เข้าเทรด และแนวโน้มราคาหุ้นหลังจากนั้น ซึ่งส่วนมากแล้วมักจะดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง อย่างในปี 2562 มีหุ้นไอพีโอเข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ MAI รวมกัน 28 บริษัท (ไม่รวมกองรีทและกองทุนอินฟราฯ) ปรากฏว่ามีเพียง 6 บริษัท ที่ราคาหุ้นปัจจุบันสามารถยืนอยู่สูงกว่าราคาไอพีโอ และมีเพียง 4 บริษัทที่ให้ผลตอบแทนเกิน 20% จากการเข้าซื้อขายวันแรก

แต่สำหรับปี 2563 นี้ ดูเหมือนว่าหุ้นไอพีโอเริ่มจะกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง จากหุ้นทั้งหมด 5 บริษัทที่เข้ามาจดทะเบียน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 150% โดยมีเพียงแค่ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ที่ราคาหุ้นปัจจุบันยังต่ำกว่าราคาไอพีโอราว 31% ส่วนหุ้นที่เข้ามาก่อนหน้านี้อย่าง บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) และ บมจ.อิ๊กดราซิล กรุ๊ป (YGG) ราคาของทั้งคู่ก็ยังคงเป็นบวกอยู่ราว 150%

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ มองว่า สาเหตุสำคัญที่ช่วยหนุนให้ราคาของหุ้นไอพีโอขยับขึ้นได้ดีหลังเข้าตลาด มาจากการเข้ามามีส่วนร่วมของนักลงทุนรายย่อยที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ และจะเห็นว่าหุ้นขนาดกลางและเล็กเป็นกลุ่มที่โดดเด่นกว่า แม้ว่าหุ้นเหล่านี้อาจจะไม่มีนักลงทุนสถาบันเข้ามามีส่วนร่วม

ขณะเดียวกันการตั้งราคาหุ้นไอพีโอขนาดกลางและขนาดเล็กในปีนี้ ดูเหมือนว่าจะมีราคาที่ต่ำลงเทียบกับในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ที่ปรึกษาทางการเงินรับเอาความคิดเห็นของตลาดที่มองว่าราคาหุ้นไอพีโอก่อนหน้านี้แพงเกินไป และปรับการตั้งราคาให้สมเหตุสมผลมากขึ้น

“เทรนของตลาดตอนนี้คือนักลงทุนรายย่อยพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ด้วยสภาพคล่องที่ค่อนข้างล้น สังเกตได้จากเม็ดเงิน M2 ที่เพิ่มขึ้นในระดับ 10% มาหลายเดือนติดต่อกัน แต่ราคาหุ้นไอพีโอที่เปิดกระโดดขึ้นแรงมากๆ ก็ถือว่าเกินกว่าพื้นฐาน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเทียบกับมุมมองของนักวิเคราะห์ ซึ่งนักลงทุนอาจต้องระมัดระวังมากขึ้นเรื่องการเก็งกำไร”

ในทางกลับกันจะเห็นว่าหุ้นไอพีโอขนาดใหญ่ที่เข้ามาในระยะหลังกลับมีมูลค่าที่ค่อนข้างสูงเกินไป เทียบกับกำไรของบริษัทที่อาจจะยังไม่ได้เข้ามาในทันที แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในตลาดก็มีประสบการณ์มากขึ้น หากหุ้นไอพีโอตัวใดมีการตั้งราคาแพงเกินไป นักลงทุนก็มักจะไม่ค่อยเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงนักลงทุนสถาบันที่ได้รับการจัดสรรหุ้นไอพีโอ ก็อาจขายทิ้งตั้งแต่ช่วงแรก

ด้าน นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงหุ้นไอพีโอที่เข้ามาจดทะเบียนในช่วงหลังจากที่โควิดระบาดหนัก ซึ่งราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงมากตั้งแต่วันแรกที่เข้าซื้อขายว่า อยากให้พิจารณาหลายเรื่องทั้งปริมาณหุ้นที่หมุนเวียน (free float) และการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้นๆ ว่าตรงกับความต้องการลงทุนของนักลงทุนในช่วงนั้นหรือไม่ ซึ่งหากเป็นหุ้นที่มีฟรีโฟลทน้อย และเป็นหุ้นที่ประกอบธุรกิจอยู่ในความสนใจของนักลงทุน ก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นวันแรกปรับตัวสูงขึ้นได้

สำหรับหุ้นไอพีโอที่เข้ามาจดทะเบียนแล้วราคาหุ้นขึ้นร้อนแรงต่อเนื่องหลายวันทำการนั้น ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าบุคคลที่เข้ามาซื้อขายนั้นมีความเกี่ยวโยง หรือเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันหรือไม่