ผ่านมาตรการผ่อนผันเฟส 5 เปลี่ยนพฤติกรรม Abnormal สู่…

ผ่านมาตรการผ่อนผันเฟส 5 เปลี่ยนพฤติกรรม Abnormal สู่…

วิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้วิถีชีวิตผู้คน รวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ ที่ต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนสู่การดำเนินธุรกิจแบบใหม่ กลายเป็นความไม่ปกติ หรือ Abnormal แต่เมื่อนานวันเข้าวิถีชีวิตใหม่ กลับกลายเป็น New Normal แทน ซึ่งจะมีอะไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่

วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ส่งผลให้ธุรกิจภาคบริการ ค้าปลีก และร้านอาหาร ที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากความปกติ (Normal) สู่สิ่งที่กลายเป็นความไม่ปกติซึ่งถูกเรียกว่า Abnormal 

ภาวะ Abnormal หมายถึงพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในแบบฉับพลันด้วยการผลักดันของวิกฤติ ภาวะ Abnormal เป็นภาวะของการเปลี่ยนผ่าน ที่อาจจะย้อนหรือไม่ย้อนกลับมาเป็นแบบเดิม เพราะเราหลายคนก็ไม่อยากจะทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ไปอย่างเด็ดขาดเพียง แต่เมื่อภาวะ Abnormal เพิ่มขึ้นอยู่กับเรานานๆ เราก็จะยอมรับวิถีชีวิตใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตมากขึ้น จนกลายเป็น New Normal 

  • Abnormal อะไรบ้าง ที่เปลี่ยนผ่านกลับสู่ Normal และไปสู่ New Normal

Abnormal Eat@Home อาจเปลี่ยนผ่านกลับสู่ Normal พฤติกรรมของผู้คน Eat@Home อาจไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างถาวร อาจเป็นเพียงแค่ชั่วคราว เพราะช่วง Abnormal มีความจำเป็นไปนั่งทานตามร้านไม่ได้ การสั่งอาหาร Food Delivery มาที่บ้าน ในช่วงวิกฤติจึงอาจเป็นกิจกรรม Eat@Home ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมที่ Abnormal แต่เมื่อมาตรการได้รับการผ่อนคลาย การสั่งอาหารมา Eat@Home ก็คงน่าเบื่อ คงไม่มีใครทนสั่งอาหารมาทานที่บ้านเป็นเดือนเป็นปีโดยไม่ออกไปไหน

แม้การผ่อนผันมาตรการของ ศบค. เข้าสู่เฟส 5 ที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหาร ต้องจัดที่นั่งรับประทานอาหาร เว้นระยะห่าง 1.5 เมตร พร้อมทำสัญลักษณ์ชัดเจน จัดโต๊ะให้นั่งเยื้องกันและห่างกันไม่ต่ำกว่า 1 เมตร จัดทำ Table Shield ฉากกั้นบนโต๊ะอาหารหม้อต้ม ปิ้งย่าง และอุปกรณ์การทาน ต้องใช้ 1 ชุดต่อ 1 คน อาจต้องยกเลิกการให้บริการแบบบุฟเฟ่ต์หรือสลัดบาร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

แต่ผู้คนก็ยังโหยหาที่จะเข้าไปนั่งรับประทานอาหารในร้านเพิ่มขึ้น Abnormal Eat@Home ก็อาจดีดกลับสู่ Normal ที่ผู้คน Enjoy ทานอาหารและรื่นรมย์กับการดื่มมากขึ้น

Abnormal Work@Home เปลี่ยนผ่าน 50:50 ความหมายตรงๆ คือ “การทำงานที่บ้าน” เป็นเทรนด์การทำงานยุคใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด 19 ซึ่งเป็นทั้ง “ทางเลือก” และ “ทางรอด” ในการทำงาน 2-3 เดือนที่ผ่านมา

การที่ Work@Home จะมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการใช้สื่อสารและการทำงาน แต่จากประสบการณ์ผู้เขียน Work@Home ทั้งผ่าน Google Meet, Microsoft Team, Slack และ Zoom พบว่า ความเร็ว ความแรง ความมีเสถียรภาพของอินเทอร์เน็ต เป็นอุปสรรคให้การทำงานทั้งที่ทำงานและที่บ้าน 

ที่ผ่านมาออฟฟิศระดับกลางๆ เล็กๆ ที่มีพนักงานไม่เกิน 100 คน ละเลยกับโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ พอมาประสบวิกฤติโควิด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ Sudden Happen พนักงานต้องทำงาน Work@Home จำนวนมาก แต่เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวย ความมันส์!ในการทำงานก็ลดลง อีกทั้งวัฒนธรรมการทำงานของคนไทยยังเป็นการทำงานแบบปฏิสัมพันธ์ นายต้องมาตามงานลูกน้องเป็นจุดๆ ความรับผิดชอบ วินัยในการทำงานยังไม่เข้มข้นเหมือนฝั่งตะวันตก

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการทำงาน Work@Home จากภาวะ Abnormal ครึ่งหนึ่งคงกลับไปสู่ Normal อีกครึ่งหนึ่งพัฒนา สู่ New Normal ซึ่งจะต้องจัดตารางการทำงานอย่างชัดเจน มีความพร้อมในการประชุมออนไลน์ อัพเดทสถานะการทำงานผ่านแอพพลิเคชันที่กำหนดใช้งานร่วมกัน

Abnormal Entertainment@Home Trend ชัดเจนสู่ New Normal วิกฤติโควิด ส่งผลให้พฤติกรรมการดูหนังฟังเพลงเปลี่ยนไป จากข้อมูลวิจัยตลาดของกลุ่มผู้บริโภค 1,035 คน ครอบคลุม Gen Y, Gen X, Baby Boomer และ Gen Z ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) พบว่า 3 กิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้นิยมทำบ่อยที่สุด คือ ติดตามข่าวสาร 36% ติดต่อสื่อสาร 20% และดูภาพยนตร์ 16% โดยเฟซบุ๊คเป็นช่องทางที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ติดตามข่าวสารมากที่สุด ตามมาด้วย ทวิตเตอร์ และไลน์

การระบาดของโควิด ส่งผลให้ประชาชนต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน คนจำนวนมากหันมาชมภาพยนตร์ผ่านบริการดิจิทัลสตรีมมิ่ง เช่น เน็ตฟลิกซ์ หรือช่องทางอื่นๆ จึงไม่มีข้อสงสัยว่าแม้สถานการณ์กลับสู่ปกติ Entertainment@Home ก็ยังคงดำรงอยู่ และจะเปลี่ยนผ่านจาก Abnormal ไปสู่ New Normal ในที่สุด

วิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด ทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจถึงการเปลี่ยนผ่านภาวะ Abnormal ที่อาจย้อนหรือไม่ย้อนกลับมาเป็นแบบเดิมที่เราหลายคนก็ไม่อยากจะทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ไปอย่างเด็ดขาดเพียงอย่าง Eat@Home หรือ เมื่อภาวะ Abnormal อยู่กับเรานานๆ จนเราก็จะยอมรับวิถีชีวิตใหม่ๆ อย่าง Entertainment@Home ได้ หรือ การเปลี่ยนผ่านแบบครึ่งๆ กลางๆ อย่าง Work@Home ที่ต้องรอความพร้อมของ Technology Infrastructure และ Technology Skill ของคนออฟฟิศอีกระยะหนึ่ง