'ยุติธรรม' แนะผู้เสียหาย-ทายาท 'คดีบอส' ฟ้องเองได้

'ยุติธรรม' แนะผู้เสียหาย-ทายาท 'คดีบอส' ฟ้องเองได้

"รองปลัดยุติธรรม" รับลูก "โฆษกปชป." คุ้มครองพยานคดี "บอส อยู่วิทยา" หากถูกข่มขู่ จนไม่ได้รับความปลอดภัย แนะแม้อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหาย-ทายาท ฟ้องเอง

นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กล่าวถึงกรณีนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม คุ้มครองพยานในคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในคดีนี้พบว่าสถานะคดี นายบอส อยู่วิทยา ถูกแจ้งทั้งหมด 5 ข้อหา คือ 1.ขับรถขณะมึนเมา ซึ่งอัยการสั่งไม่ฟ้อง สถานะคดีระงับ (อายุความ 5 ปี) 2.ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด คดีขาดอายุความ สถานะคดีระงับ (อายุความ 1 ปี) 3.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายคดีขาดอายุความ สถานะคดีระงับ (อายุความ 1 ปี) 4.ขับรถชนแล้วหนี คดีขาดอายุความสถานะคดีระงับ (อายุความ 5 ปี) และ 5.คดีขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง (อายุความ 15 ปี)

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า พยานในสำนวนคดีนี้ ที่ใช้อ้างอิงประกอบการแจ้งข้อกล่าวหาส่วนใหญ่เป็นพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนพยานบุคคลอื่นในสำนวนคดี ก็เป็นพยานฝ่ายผู้ต้องหา ที่ให้การเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องหา ซึ่งรวมถึงนายจารุชาติ มาดทอง ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา และพล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร ที่พนักงานสอบสวนเรียกมาสอบเพิ่มเติม ดังนั้น การร้องขอคุ้มครองพยาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้น พยานที่ได้ไปให้ข้อเท็จจริงกับพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และปรากฏข้อเท็จจริงว่าพยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัย หรือ ถูกข่มขู่คุกคาม ก็สามารถร้องขอคุ้มครองความปลอดภัย ได้ดังนี้ 

1.พยานสามารถร้องขอต่อพนักงานสอบสวน สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หรือ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด เพื่อจัดให้พยานเข้าสู่มาตรการคุ้มครองความปลอดภัย

2.พนักงานสืบสวน พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือสำนักงานคุ้มครองพยาน อาจจัดให้พยานเข้าสู่มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยได้ ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากพยาน แต่ที่ผ่านมาไม่มีพยานในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอคุ้มครองพยาน หรือ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ประสานมายัง สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิฯ เพื่อพิจารณาจัดให้พยานเข้าสู่มาตรการคุ้มครองความปลอดภัย เนื่องจากพยานบุคคลในคดีส่วนใหญ่เป็นพยานที่ให้การเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายผู้ต้องหาและไม่มีข้อมูลว่าพยานดังกล่าวถูกข่มขู่คุกคาม

"สำหรับคดีขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหาย หรือ ทายาท ที่จะฟ้องคดีเอง และหากพยานในคดีผู้เสียหาย หรือ ทายาท ที่ฟ้องคดีเองมีพฤติการณ์ความไม่ปลอดภัย พยานสามารถร้องขอคุ้มครองความปลอดภัยได้ หรือสำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิฯ สามารถจัดให้พยานเข้าสู่มาตรการคุ้มครองพยานได้เมื่อพยานให้ความยินยอม" นายวัลลภ กล่าว