หนุน5Gเดินคู่สมาร์ทโฮมยกระดับวงการแพทย์

หนุน5Gเดินคู่สมาร์ทโฮมยกระดับวงการแพทย์

วงการแพทย์ชี้ 5 G ช่วยยกระดับการรักษา-การบริการ แนะธุรกิจขนาดใหญ่ ภาครัฐต้องหนุนสร้างสมาร์ทโฮม ขณะที่มธ.ดึง 5G สร้างโรงพยาบาล Digital Hospital ด้านจุฬาฯ เผยศูนย์พัฒนา 5G เริ่มทดลองใช้งานจริง เตรียมแสดงผลงานกรณีศึกษา 6 ส.ค.นี้

ปัจจุบันในแวดวงทางการแพทย์นั้นได้มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ไม่ใช่เพียงทำให้การติดต่อ การสื่อสาร ส่งผ่านข้อมูลในระดับบุคคลได้ง่ายขึ้น แต่เป็นการเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาล ไปจนถึงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล หรือคนไข้ ผู้ป่วยกลับบ้านก็สามารถนำเทคโนโลยี 5 G มาใช้เพื่อทำให้การดูแล ติดต่อสื่อสารกับคนไข้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

โรงพยาบาลชั้นนำต่างๆ ได้มีการนำระบบ 5G มาใช้ มีSuper wifi ทำให้การติดต่อสื่อสาร การรักษาออนไลน์ อย่าง การผ่าตัดออนไลน์ เกิดขึ้นได้จริงๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล และช่วยเหลือกันทางการแพทย์ รวมถึงการนำระบบAI ปัญญาประดิษฐ์ เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย มาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

"นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์” รองประธานกรรมการ บริษัทธนบุรีเฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือTHG กล่าวว่าเทคโนโลยี 5G ช่วยยกระดับวงการแพทย์ของไทยได้ เพราะการมีนวัตกรรม เทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยจะช่วยทำให้ทุกขั้นตอนการรักษา และการบริการต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 159594949733

อย่าง การตรวจสุขภาพของประชาชน การส่งยา การเช็คผลแลป การสื่อสารระหว่างแพทย์กับคนไข้ก็สามารถใช้วิธีการวิดีโอคอล หรือโฟนอิน นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การทำงาน การบริการทางการแพทย์ และเป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลของไทยมีความทันสมัยและก้าวหน้า รองรับได้ทั้งคนไข้ในประเทศและต่างชาติ

หนุนสมาร์ทโฮม-รพ.ใช้5Gรักษาบริการ

รองประธานกรรมการบริษัท ธนบุรีฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลในไทยต้องเลือกเทคโนโลยีให้เป็นและสามารถบูรณาการให้เหมาะสมกับโรงพยาบาลของตนเอง ซึ่งจริงๆ แล้วการนำเทคโนโลยี5G มาใช้ในวงการแพทย์เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆที่นำเน็ตเวิร์ด ฮาร์ดแวร์มาใช้ในการรักษา การบริการต่างๆ แต่จะทำให้ได้ประโยชน์จาก 5G ต่อประเทศมากขึ้น ต้องมีการทำให้คนไทยทุกคน บ้านทุกบ้านเป็นสมาร์ทโฮม

159594949637

“ตอนนี้คนไข้ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี และไทยมีคนไข้ติดเตียง 5 แสนคน การทำให้ทุกบ้านมีเทคโนโลยี 5G ใช้ สะดวกต่อการรักษา และการเข้ารับบริการ ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศเข้ามาช่วยสร้างสมาร์ทโฮม รวมถึงรัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเช่าใช้การบริการจากเทคโนโลยี 5G ได้ เพื่อให้ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทยช่วยดูแลคนไทยได้ทุกคน”นพ.ธนาธิป กล่าว

มธ.สร้างDigital Hospital

เทคโนโลยี 5G ได้ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์อย่างหลากหลาย อาทิ การแพทย์ระยะไกล การผ่าตัดหรือการรักษาโดยใช้หุ่นยนต์หรือใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง รวมถึง อุปกรณ์อัจฉริยะที่ใช้สวมใส่ต่างๆ (smart wearable) ที่สามารถช่วยในการตรวจสอบ ตรวจวัด และเฝ้าระวังดูแลสุขภาพทั่วไป เป็นต้น

นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา  รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)กล่าวว่า จากแนวโน้มการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องของไทย ประกอบกับ มธ.มีหลักสูตรนานาชาติและทวิภาษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็งหลายหลักสูตร รวมถึงมีความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยในและต่างประเทศ

159594949569

มธ. ศูนย์พัทยา ตั้งเป้าจะเป็น Academic Hub, Medical Hub และ Service Hub ด้านการแพทย์อย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับการเป็น Smart Campus ซึ่งจะประกอบด้วยโรงพยาบาลที่เป็น Digital Hospital ใช้ AI ในการบริการระบบโรงพยาบาล และการเป็น i-Campus @Pattaya ใช้ software ต่างๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงาน

“การดำเนินงานของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จะใช้ software ต่างๆ มาช่วยในการดำเนินงาน เช่น Patience Application และระบบ Telecare, Electronic Medical Record, นำ Beacon System @ Wifi มาใช้กับระบบบัตรคิว ระบบนำทางผู้ป่วยและผู้มารับบริการในโรงพยาบาล ตลอดจน IOT (Internet of Things) มี AI ทางการแพทย์ โดยใช้ Robot ในโรงพยาบาลแทน none-skill labor โดยในอนาคตจะตั้งศูนย์ฝึกอบรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์ จากนั้นจะมีการนำ5G เข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน และระบบต่างๆของโรงพยาบาล ส่วนการเรียนการสอนจะเป็นในรูปแบบของ Advance Digital Learning Environment ซึ่งมี Platform ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์อยู่แล้ว คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีนี้”

ศูนย์5Gจุฬาฯทดลองสัญญาณใช้จริง

วาทิต เบญจพลกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการทดสอบการให้บริการโทรคมนาคมไร้สายในระบบ 5G ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโครงการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในจุฬาฯ ได้มีการสร้างแพลตฟอร์ม แอพพลิเคชั่นรองรับการให้บริการโทรคมนาคม 5G และทดสอบ ทดลองวิจัยเทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การทดลองใช้งานจริง จากผู้ใช้จริงๆ เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่ต้องการใช้งานได้เห็นประโยชน์ 5G

"หลังจากมีการจัดตั้ง ศูนย์ 5G AI/IoT Innovation Center บุคลากรและนิสิต รวมถึงนักวิจัยต่างๆ ได้สลับเปลี่ยนเข้ามาทดสอบและวิจัยเทคโนโลยี 5G เพื่อให้ได้งานวิจัยที่จะช่วยพัฒนาและประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ และในวันที่ 6 ส.ค.นี้ จุฬาฯ จะร่วมกับกสทช. ในการเปิดตัวแสดงผลงานวิจัยต่างๆ รวมถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมแลกเปลี่ยน และการพัฒนาระบบ5G มาใช้อย่างเหมาะสมตามบริบทของแต่ละประเทศ”วาทิต กล่าว

159594949583

ขยายสู่โอเปอร์เรเตอร์รายย่อย

สำหรับการใช้คลื่นความถี่ ระบบ5G จุฬาฯ พยายามผลักดันแนวคิดให้มีการขยายไปสู่โอเปอร์เรเตอร์รายย่อยด้วย เพราะขณะนี้กสทช.เปิดโอกาสให้เฉพาะโอเปอร์เรเตอร์รายใหญ่มาประมูล และปูพรมให้บริการทั่วประเทศ ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศ อย่าง ญี่ปุ่น หรือเยอรมัน มีแนวคิดว่านอกจากให้โอเปอร์เรเตอร์รายใหญ่แล้ว ควรมีการให้ใบอนุญาตแก่โอเปอร์เรเตอร์รายย่อย เช่น จุฬาฯ ขอใช้คลื่นความถี่ย่านหนึ่งโดยใช้เฉพาะภายในพื้นที่จุฬาฯ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ให้เจ้าของพื้นที่ได้รับใบอนุญาตพื้นที่ 5G เฉพาะในโรงงาน เป็นต้น

“การนำโมเดลโอเปอร์เรเตอร์ให้แก่รายย่อยได้ใช้เครือข่าย คลื่นความถี่ 5G เชื่อว่าอุตสาหกรรมจะยินดีใช้บริการ และรับเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาพัฒนา เพราะการไปซื้อบริการภายนอก อาจเกิดความไม่แน่ใจเรื่องของข้อมูลโรงงา ว่าจะมีการรั่วไหลไปข้างนอกหรือไม่ เนื่องจาก5G มีการเชื่อมต่อและเก็บข้อมูลต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้งาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กสทช.ควรทำให้เกิดโมเดลนี้ในประเทศไทย”วาทิต กล่าว