คมนาคมลุยศึกษาก่อสร้างสนามบินภูเก็ต – สนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2

คมนาคมลุยศึกษาก่อสร้างสนามบินภูเก็ต – สนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2

คมนาคมมอบ ทอท.เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมสร้างสนามบินภูเก็ต และเชียงใหม่แห่งที่ 2 คาดเห็นภาพชัดในปีหน้า ด้าน ทอท.พร้อมอัดงบลงทุนกว่า 1.2 แสนล้าน มั่นใจหนุนดีมานด์เดินทางหัวเมืองหลัก

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการศึกษาพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต และเชียงใหม่ แห่งที่ 2 โดยระบุว่า เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้เห็นชอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ทำการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ดังกล่าว ซึ่งกำชับให้ ทอท.ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาในการทำการศึกษาโครงการ

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า กพท.ได้ศึกษาแผนแม่บทท่าอากาศยานในประเทศไทย ซึ่งพบว่าจะต้องมีการพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่ 2 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการเดินทางทางอากาศ โดย 2 แห่งดังกล่าว จะอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ คือ สนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 มีพื้นที่เหมาะสมที่ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา และภาคเหนือ สนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2 พื้นที่เหมาะสมอยู่ใน อ.บ้านธิ จ.ลำพูน

“กพท.ได้ทำการศึกษาแผนแม่บท และรายงานไปยังกระทรวงคมนาคม ซึ่งทราบว่าขณะนี้ได้มอบหมายให้ ทอท.เป็นผู้ศึกษารายละเอียดและการลงทุน โดยก่อนหน้านี้ได้ทราบข่าวว่ามีเอกชนสนใจจะพัฒนาสนามบินในพื้นที่ภาคใต้ หรือภูเก็ตแห่งที่ 2 แต่ก็ไม่ได้ยื่นรายละเอียดขอพัฒนาโครงการเข้ามายัง กพท. ทำให้แผนแม่บทที่มีความจำเป็นต้องพัฒนาก็ต้องเดินหน้าต่อ”

นายจุฬา ยังกล่าวอีกว่า แผนแม่บทพัฒนาสนามบิน จะดูพื้นที่เหมาะสมว่าควรพัฒนาที่ใด เพื่อเพิ่มศักยภาพของการเดินทางทางอากาศ ซึ่งหลังจากนี้ หาก ทอท.พัฒนาสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ใน จ.พังงา ก็ไม่ควรมีการพัฒนาสนามบินเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ขณะที่พื้นที่ก่อสร้างในจังหวัดอื่นๆ ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น แต่หากเจ้าของสนามบิน ทั้งกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ทอท. หรือเอกชน จะขยายขีดความสามารถของสนามบินก็สามารถทำได้

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เผยว่า ขณะนี้ ทอท.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงฯ ให้จ้างที่ปรึกษาในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาสนามบินภูเก็ต และเชียงใหม่ แห่งที่ 2 โดยประเด็นของการศึกษาจะวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าทางการเงิน และความต้องการใช้บริการของผู้โดยสาร (ดีมานด์) คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี

“แน่นอนว่าการพัฒนาสนามบินแห่งทั้งสองแห่ง จะเข้ามาช่วยรองรับดีมานด์การเดินทางในหัวเมืองหลักอย่างเชียงใหม่ และภูเก็ต อีกทั้งจะเพิ่มศักยภาพให้กับการจราจรทางอากาศ และยังช่วยเชื่อมต่อจุดบินระหว่างภูมิภาคให้สะดวกมากขึ้น”

รายงานข่าวจาก ทอท. เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ทอท.ได้ศึกษารายละเอียดของการลงทุนพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ทั้ง 2 พื้นที่ พร้อมทั้งกำหนดกรอบวงเงินลงทุนรวมคาดว่าเฉพาะค่าก่อสร้างจะสูงอยู่ที่ราว 1.2 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น ค่าก่อสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท และสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ประมาณ 5.4 – 6 หมื่นล้านบาท

สำหรับพื้นที่เหมาะสมของการพัฒนาสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 จะตั้งอยู่ ต.โคกกลอย ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ต้องใช้พื้นที่ราว 7 พันไร่ รวมโฉนดที่ดินกว่า 200-300 แปลง ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจก่อนหน้านี้ พบว่ามีเจ้าของที่ดินหลัก 10 ราย ส่วน จ.เชียงใหม่ พื้นที่เหมาะสมอยู่ ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน เนื่องจากไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางวิ่ง (รันเวย์) โดยคาดว่าต้องจัดใช้พื้นที่ 7 พันไร่ เวนคืนกว่า 5 พันแปลง