ซื้อสิทธิพำนัก ‘แหล่งปลอดโควิด’ เทรนด์ลงทุนใหม่ ‘เศรษฐีโลก’

ซื้อสิทธิพำนัก ‘แหล่งปลอดโควิด’ เทรนด์ลงทุนใหม่ ‘เศรษฐีโลก’

หลังโลกเผชิญกับการระบาดใหญ่ของ “โควิด-19” การควักเงินซื้อเอกสิทธิ์การพำนักในแหล่งปลอดภัยจากโรคระบาด น่าจะไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับบรรดาเศรษฐี หากมีการระบาดใหญ่รอบใหม่และบ้านเกิดต้องถูกล็อคดาวน์อีก พวกเขาก็คงอยากไปอยู่ชายหาดห่างไกลสักแห่ง เช่น นิวซีแลนด์

นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ควบคุมโควิด-19 ได้อย่างอยู่หมัด โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกินเลขหลักเดียวมานาน 3 เดือนแล้ว และเคยทำสถิติไม่พบผู้ติดเชื้อรายวันนานถึง 24 วันติดต่อกันจนถึงช่วงปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นับถึงวันจันทร์ (20 ก.ค.) มียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 1,555 คน

แน่นอนว่า หากต้องการไปพำนักดินแดนปลอดโควิดในระยะยาว ก็ต้องอาศัยโครงการที่รับประกันสิทธิพลเมืองหรือสิทธิพำนักถาวร แลกกับการลงทุนหลักล้านในประเทศปลายทาง โดยใช้บริการบริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น “เฮนลีย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส” (Henley & Partners) ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้กำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่เศรษฐีทั่วโลก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการซื้อสิทธิในการพำนัก ทำงาน และศึกษาต่อในนิวซีแลนด์ ก็ต้องควักเงินอย่างน้อย 3 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือราว 62.6 ล้านบาท ไปจนถึง 10 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือประมาณ 208 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับประเภทของวีซ่าถาวรนักลงทุนที่เลือก

ส่วนในมอลตา อีกหนึ่งประเทศที่มียอดผู้ป่วยโควิดสะสมต่ำมาก เพียงกว่า 670 คน (นับถึง 20 ก.ค.) เศรษฐีที่ต้องการมาอยู่ยาวที่นี่ต้องควักเงินราว 1.2 ล้านยูโร หรือประมาณ 43.5 ล้านบาทซึ่งรวมถึงการซื้ออสังหาริมทรัพย์ แลกกับสิทธิพลเมืองประเภทคู่สมรส

โดมินิก โวเล็ก หัวหน้าฝ่ายขายของเฮนลีย์ กล่าวถึงกลุ่มว่าที่ลูกค้าบริษัทว่า ขณะนี้ บรรดาเศรษฐีมีความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการนี้มากขึ้น และต้องการทำให้แผนนี้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

“นี่เป็นเหตุผลที่เราเห็นตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ยอดคำขอวีซ่าพิเศษเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงจำนวนครอบครัวที่ลงทะเบียนด้วย”

ข้อมูลของเฮนลีย์ระบุว่า ยอดการสมัครขอสิทธิพลเมืองหรือสิทธิพำนักถาวรใหม่ เพิ่มขึ้น 49% ใน 4 เดือนแรกของปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ หมู่เกาะในทะเลแคริบเบียนถือเป็นชายหาดสำหรับปลีกวิเวกยอดนิยมของเศรษฐีหลายประเทศ แต่ตอนนี้ พวกเขายังหมายตาไปที่ชายหาดในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีผลงานรับมือโควิด-19 ได้อย่างน่าประทับใจ

นาดีน โกลด์ฟุต หุ้นส่วนผู้จัดการบริษัทกฎหมาย “ฟราโกเมน” บอกว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 กระตุ้นให้กลุ่มคนรวยต้องทำอะไรสักอย่าง

“สิ่งที่สำคัญและจะยังมีความสำคัญมากในปัจจุบันต่อกระบวนการคัดเลือก (แหล่งลี้ภัยโควิด) ของผู้คน คือ วิธีที่ประเทศนั้น ๆ ดำเนินการในช่วงมีการระบาดใหญ่ และสิ่งที่รัฐบาลทำได้สำเร็จ”

เฮนลีย์ระบุว่า หลายคนมองว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการความมั่งคั่งไม่ต่างกับวิธีการเดินทางโดยไม่ต้องใช้วีซ่า

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โครงการลงทุนแลกสิทธิพำนักถาวรของโปรตุเกสได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่หวังเข้าไปลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีเสถียรภาพของประเทศ

ถึงกระนั้น แม้แต่คนมั่งคั่งที่สุดในโลกก็ไม่อาจหนีมาตรการกักตัวและห้ามเดินทางพ้น เพราะกว่าจะได้รับหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) เล่มที่ 2 หรือสิทธิพำนักถาวรนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างน้อย ๆ 3 เดือนสำหรับโครงการในแถบแคริบเบียน และหากเป็นโครงการในสหภาพยุโรป (อียู) ต้องใช้เวลานานกว่านั้นมากโข