'เอฟทีเออียู’ แต้มต่อ ‘เวียดนาม’ แนะไทยต้องเร่งฟื้นเจรจา

'เอฟทีเออียู’ แต้มต่อ ‘เวียดนาม’ แนะไทยต้องเร่งฟื้นเจรจา

หลังจากที่เวียดนามได้ทำข้อความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EVFTA) ซึ่งเป็นชาติที่ 2 ของอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ โดยส่งผลให้เวียดนามสามารถส่งออกสินค้าปลอดภาษีไปอียูได้มากถึง 71% เป็นเวลา 10 ปี ขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้สินค้าไทยเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น

รัฐสภาเวียดนามอนุมัติความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam Free Trade Agreement : EVFTA) เมื่อ 8 มิ.ย 2563 หลังการลงนามข้อตกลงดังกล่าวที่กรุงฮานอยเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว และสภายุโรปได้ให้สัตยาบันรับรองเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยคาดหวังว่าจะช่วยส่งเสริมภาคการผลิตและการส่งออกของเวียดนาม และส่งผลให้เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่ 

ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าวมีผลตั้งแต่ 1 ก.ค 2563 ทำให้เวียดนามกลายเป็นชาติที่ 2 ของอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ที่ได้ทำข้อตกลงทางการค้ากับยุโรป ผลด้านการค้า EVFTA จะส่งผลให้เวียดนามสามารถส่งออกสินค้าปลอดภาษีไปสหภาพยุโรป (อียู) ได้มากถึง 71% เป็นเวลา 10 ปี ขณะที่อียูก็สามารถส่งออกสินค้าปลอดภาษีมายังเวียดนามได้มากถึง 65% เป็นเวลากว่า 7 ปี

กระทรวงแผนงานและการลงทุนเวียดนาม คาดว่าความตกลงเขตการค้าเสรีนี้จะสร้างรายได้ให้กับเวียดนามจากการส่งออกสินค้าไปยังอียูเพิ่มขึ้น 42.7% ในปีค.ศ. 2025 และเพิ่มเป็น 44.3% ในปี 2030 ขณะที่ธนาคารโลกคาดว่า EVFTA จะช่วยทำให้ GDP เวียดนามเพิ่มขึ้น 2.4% และส่งออกเพิ่มขึ้น 12% ในปี 2030 

ด้านอียูก็คาดว่า GDP จะเติบโตขึ้นคิดเป็นมูลค่า 2.95 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9.26 แสนล้านบาทในปี 2035 โดยอุตสาหกรรมสำคัญเวียดนามจะได้ประโยชน์จาก EVFTA มีทั้งการผลิตสมาร์ทโฟน สินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ รองเท้า สินค้าเกษตร อาทิ กาแฟ เป็นต้น

ด้านการลงทุน อียูลงทุนในเวียดนามมาระยะหนึ่งแล้ว นักลงทุนอียูลงทุนในเวียดนามกว่า 2,133 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 2.39 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2018 ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนาม 6 อันดับแรก ประกอบด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง และอียู

ผลกระทบจากการที่เวียดนามทำข้อตกลงทางการค้ากับอียู ทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยในการแข่งขันในตลาดอียูจากความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่สูงกว่าสินค้าไทย ทั้งในด้านข้อยกเว้นด้านภาษีนำเข้าและสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือจีเอสพีซึ่งไทยถูกตัดสิทธิไปแล้วตั้งแต่ปี 2558

กลุ่มสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการประเมินของกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกหลักที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับสินค้าส่งออกหลักของเวียดนามไปอียู

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่เวียดนามจะเข้าสู่ตลาดอียูได้มากขึ้นและมีความได้เปรียบด้านค่าแรง ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูป ได้แก่ กุ้ง ปลา ปลาหมึก ซึ่งไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพีทำให้ต้องเสียภาษีนำเข้า รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ ที่เวียดนามจะส่งออกได้มากขึ้น

จากความได้เปรียบในการแข่งขันจากการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ EVFTA จะทำให้การส่งออกของเวียดนามเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้สินค้าไทยเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น 

นอกจากนี้ การเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุนในเชิงลึกและกว้างมากขึ้นภายใต้ความตกลง EVFTA จะเอื้อให้เวียดนามมีโอกาสดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะนักลงทุนจากอียูสามารถถือหุ้นในธุรกิจต่างๆ ได้ในสัดส่วนสูงขึ้น

แม้ในปัจจุบัน เวียดนามจะได้เปรียบสินค้าไทยในตลาดอียูจากการได้สิทธิลดภาษีภายใต้ EVFTA รวมถึงการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP อีกทั้งยังได้รับสิทธิจีเอสพีจากประเทศพัฒนาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ไทยอยู่ระหว่างการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรปหรือเอฟต้า เอฟทีเอไทย-ยูเรเชีย เอฟทีเอไทย-ฮ่องกง และเอฟทีเอไทย-สหรัฐ รวมถึงการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP หรือไม่ หากได้ข้อสรุปโดยเร็ว ก็จะทำให้ไทยมีความพร้อมเพื่อการใช้ประโยชน์จากความตกลงและมีส่วนช่วยลดทอนแต้มต่อของเวียดนามที่มีต่อไทยด้วย