รู้จัก 'Nike-shaped' แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยหลัง 'โควิด-19'

รู้จัก 'Nike-shaped' แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยหลัง 'โควิด-19'

ทำความรู้จักกับ "Nike-shaped" (ไนกี้ เชป) ลักษณะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ และรู้จักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรูปแบบอื่นๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้หลัง "โควิด-19"

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ "ชวนคุยชวนคิด ปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่นในโลกใหม่อย่างยั่งยืน" ถึงมุมมองเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า

ตอนนี้เราเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าวิกฤติ เพราะสถานการณ์ในครั้งนี้ร้ายแรงมาก แม้ที่ผ่านมาจะมีวิกฤติหลายครั้ง แต่อดีตเป็นปัญหาทางการเศรษฐกิจ แต่ครั้งนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับด้านสาธารณสุข และเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ดังนั้นปัจจัยทางเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถประเมินได้แค่ปัจจัยภายในประเทศ แต่ต้องดูแนวโน้มการแพร่ระบาดในโลกด้วย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องมีการปฏิรูปและมีการปรับตัวอย่างจริงจัง 

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ฟื้นตัวเร็วอย่างก้าวกระโดด สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า ถ้าเราไม่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงอย่างที่เคยระบาดในช่วงไตรมาส 2 เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นกลับมาได้

"คิดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ทยอยกลับมา อาจจะใช้เวลาถึงปลายปีหน้า (ปี 2564) หรือใช้เวลาเกือบ 2 ปี เศรษฐกิจถึงกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในลักษณะเครื่องหมายถูกหางยาวๆ" วิรไท กล่าว 

หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า ลักษณะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แบบเครื่องหมายถูก หางยาว หรือที่มีชื่อเล่นว่า Nike-shaped (ไนกี้ เชป) มีลักษณะและมีนัยสำคัญอย่างไรบ้าง

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปทำความรู้จักกับลักษณะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กราฟมีลักษณะแบบ "เครื่องหมายถูก หางยาว" หรือที่รู้จักกันในชื่อ Swoosh-shaped หรือบ้างก็เรียกกันว่า "Nike-shaped" รวมถึงลักษณะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจลักษณะทางเศรษฐศาสตร์ในรูปแบบอื่นๆ ที่น่ารู้

NatWest Market กล่าวถึง 5 ลักษณะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นหลังสถานการณ์ "โควิด-19"

159524650062

  •  "Nike-shaped/Swoosh-shaped " (ไนกี้ เชป) หรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ "รูปไนกี้"

สำหรับลักษณะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบ "Nike-shaped" เป็นลักษณะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ ผู้ว่าฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "Swoosh-shaped" ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายถูกหางยาว คือเป็น V-shaped ในช่วงแรก และค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงท้าย และเศรษฐกิจจะเติบโตช้าในระยะยาว

  •  "V-shaped" (วี เชป) หรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ "รูปตัววี"

ในอดีตการฟื้นตัวส่วนใหญ่เป็นรูปตัววีพร้อมกับกิจกรรมที่กลับสู่ระดับก่อนเกิดภาวะถดถอย ในเวลาเดียวกันหรือน้อยลงตามระยะเวลาของการตกต่ำ แต่การหยุดชะงักอย่างกะทันหันของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการล็อคดาวน์ของแต่ละประเทศทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เมื่อเปิดตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหม่จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระหว่างช่วงพักฟื้น

ดังนั้น หากเปรียบการปิดตัวของเศรษฐกิจโลกคล้ายกับสวิตช์ไฟที่ถูกปิด การเริ่มต้นใหม่จะเป็นเหมือนสวิตช์หรี่ไฟที่ค่อยๆ เปิดขึ้นนั่นเอง

  •  "U-shaped" (ยู เชป) หรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ "รูปตัวยู"

ตัวอย่างที่ชัดเจนของ “U-Shaped” คือวิกฤติการเงินโลก ( Global Financial Crisis : GFC) ในช่วงปี 2551 และ 2552 การหดตัวของ GDP เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และกว่าที่หลายๆ ประเทศจะสามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ ก็กินเวลานานหลายปี

แต่เนื่องจากการหดตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโคโรน่าไวรัสนั้นเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบ "ยู เชป" หลังสถานการณ์โควิด-19 จึงมีความเป็นไปได้น้อย

  •  "W-Shaped" การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบ "ดับเบิล ดิป"

W-Shaped หรือที่เรียกว่า double-dip ภายใต้สถานการณ์นี้สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ภาวะถดถอย ในกรณีอาจเกิดขึ้นได้ หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสกลับคืนมา หรือมีคลื่นลูกที่สอง

อย่างไรก็ตามหากมีการระบาดเวฟที่สอง คาดว่าประเทศต่างๆ จะสามารถจัดการได้มากขึ้น ป้องความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรคที่แพร่หลายมากขึ้น หรือแม้แต่รัฐบาลควรมีการเตรียมพร้อมที่ดีกว่าครั้งแรก ด้วยการทดสอบที่กว้างขวางมากขึ้น การรักษาที่ดีกว่าเดิม เวชภัณฑ์และเตียงในโรงพยาบาลมากขึ้น การเตรียมความพร้อมนี้น่าจะช่วยขจัดความจำเป็นในการจำกัดการแพร่ระบาดของโรคที่ไม่ทำให้เศรษฐกิจไม่ตกต่ำหนักซ้ำอีกครั้งในเวลาใกล้เคียงกัน

  •  "L-Shaped" การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ "รูปตัวแอล"

ลักษณะเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ถือเป็นเคสที่สาหัสที่สุด โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรูปตัวแอลนี้ หมายถึงการดิ่งลงอย่างฉับพลัน ทุกอย่างหยุดชะงัก และเส้นกราฟจะเดินแนวนอนต่อเนื่องไปแบบนี้อีกเป็นเวลาหลายปี จนกว่าจะแน่ใจว่าการปิดตัวของเศรษฐกิจโลกจะจบลงและกลับมาเริ่มต้นอีกครั้ง

และต้องขอบคุณ... ที่มันไม่ได้อยู่ในการประเมินความเป็นไปได้ในครั้งนี้!

ที่มา: NatWest Market