'บินไทย' ลุยเจรจา เจ้าหนี้ 9 รายหมื่นล้าน หวังพ้นปมหนี้ท่วม

'บินไทย' ลุยเจรจา เจ้าหนี้ 9 รายหมื่นล้าน หวังพ้นปมหนี้ท่วม

“ชาญศิลป์” เดินหน้าเจรจาเจ้าหนี้ลีสซิ่ง แบงก์ ผู้ค้าน้ำมัน มั่นใจเจ้าหนี้หนุนแผนฟื้นฟู เผยเจ้าหนี้ 9 รายทวงหนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ค่าเช่าเครื่องบิน ด้าน“ซีไอเอ็มบี”ปฏิเสธขยายสินเชื่อระยะสั้น แบงก์อิสลามทวงจ่ายคืนตั๋วสัญญาใช้เงิน “คลัง”ทวงหนี้ซื้อแอร

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้สรุปหนี้ในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563 มีหนี้สินรวม 352,494 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินไม่หมุนเวียน 247,824 ล้านบาท และหนี้สินหมุนเวียน 104,669 ล้านบาท

การเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของร่างแผนฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยจะเสนอต่อศาลล้มละลายกลางในการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนัดแรกวันที่ 17 ส.ค.2563

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการการบินไทย ในฐานะรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทยเดินหน้าจัดทำรายละเอียดของร่างแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเตรียมชี้แจงในวันนัดไต่สวนตามที่ศาลล้มละลายกลางกำหนด โดยปัจจุบันได้ดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้หลายกลุ่มแล้ว อาทิ เจ้าหนี้ผู้เช่าเครื่อง ธนาคาร และเจ้าหนี้น้ำมัน

“ตอนนี้ผมเจรจากับเจ้าหนี้เกือบทุกวัน ยืนยันว่าเราจะดูแลเจ้าหนี้ทุกรายให้ดีที่สุด ดังนั้นเราจึงเซอร์เวย์ว่าทุกกลุ่มมีมุมมองอย่างไร ซึ่งส่วนตัวก็เชื่อว่าเจ้าหนี้จะสนับสนุนเรา เพราะทางออกที่ดีที่สุดของเรา คือ การฟื้นฟูกิจการ”นายชาญศิลป์ กล่าว

รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุว่า คำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง ได้ระบุสาเหตุสำคัญของการยื่นฟื้นฟูกิจการ เกิดจากปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ประกอบกับปัญหาการแข่งขันทางธุรกิจสายการบิน และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ฐานะทางการเงินของการบินไทยอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว

สำหรับภาระหนี้สินของการบินไทย ข้อมูลที่แจ้งต่อศาลล้มละลายกลาง ใช้ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 พบว่ามีหนี้สินจำนวน 352,494 ล้านบาท แบ่งเป็น รายการหนี้สินหมุนเวียน 104,824 ล้านบาท มีรายการสำคัญ อาทิ เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่น 13,642 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย 15,010 ล้านบาท รายการเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 3,768 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 1,816 ล้านบาท หนี้สินภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 7,504 ล้านบาท หนี้สินตามสัญญาเช่า 11,688 ล้านบาท และหุ้นเงิน 10,085 ล้านบาท

หนี้สินไม่หมุนเวียน

ส่วนหนี้สินไม่หมุนเวียน รวม 247,824 ล้านบาท โดยมีรายการหนี้สินสำคัญ อาทิ เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 4,743 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้อง 12,773 ล้านบาท หนี้สินภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 40,293 ล้านบาท หนี้สินตามสัญญาเช่า 85,761 ล้านบาท หุ้นกู้ 64,023 ล้านบาท 

รวมไปถึงหนี้สินตราสารอนุพันธ์ระยะยาว 891 ล้านบาท เงินกอนทุนบำเหน็จพนักงาน 3,693 ล้านยาท และประมาณการหนี้สินไม่หมุนเวียนสำหรับผลประโยชน์พนักงาน 16,726 ล้านบาท เป็นต้น

ชำระหนี้ไม่ได้หมื่นล้าน

นอกจากภาระหนี้สินข้างต้นแล้ว ปัจจุบันการบินไทยยังไม่สามารถชำระหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระได้ โดย ณ วันที่ 21 พ.ค.2563 การบินไทยมีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระต่อเจ้าหนี้หลายราย รวมเป็นจำนวนกว่า 10,200 ล้านบาท โดยสามารถจำแนกประเภทเจ้าหนี้และจำนวนหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระแล้วได้ ดังนี้

1.เจ้าหนี้การค้าที่อยู่ต่างประเทศ 5,472 ล้านบาท 2. เจ้าหนี้ค่าน้ำมัน 2,259 ล้านบาท 3.เจ้าหนี้การค้าที่อยู่ในประเทศ 1,333 พันล้านบาท 4.เจ้าหนี้ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมสรรพากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 994 ล้านบาท 

5.เจ้าหน้าสายการบินอื่นและสมาคม International Air Transport Association 57 ล้านบาท 6.เจ้าหนี้ธนาคารและสถาบันการเงิน 47 ล้านบาท 7.เจ้าหนี้ธุรกรรมรายการเดียว 41 ล้านบาท 8.เจ้าหนี้แรงงาน 25 ล้านบาท 8.เจ้าหนี้ตัวแทนขายคั๋วโดยสาร 13 ล้านบาท และ 10. เจ้าหนี้เงินสด 2 ล้านบาท

9รายส่งหนังสือทวงหนี้

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า จากภาระหนี้สินที่การบินไทยไม่สามารถชำระตามกำหนด ปัจจุบันจึงประสบปัญหา เจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศหลายราย ได้ส่งหนังสือถึงการบินไทยเพื่อปฏิเสธการผ่อนระยะเวลาชำระหนี้ แจ้งการผิดนัด ตลอดจนทวงถามให้การบินไทยชำระหนี้ รวมถึงแสดงเจตนาหักเงินประกันตามสัญญาเนื่องจากการบินไทยผิดนัดชำระเงิน อาทิ 

1.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ได้ปฏิเสธการขอขยายระยะเวลาวงเงินสินเชื่อระยะสั้นประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน 1,000 ล้านบาท ทำให้การบินไทยตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวทันที

2.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ทวงถามให้การบินไทยชำระคืนเงินต้นตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมกำไร ซึ่งครบกำหนดชำระในวันที่ 22 พ.ค.2563 รวม 500 ล้านบาท

3.กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้ส่งหนังสือเตือนให้ลูกหนี้ ในฐานะตัวแทนเรียกเก็บเงินแทนบริษัทสายการบินผู้ใช้บริการหลายบริษัท ให้ชำระหนี้ค่าทำการนอกเวลาราชการ เป็นจำนวนรวม 53 ล้านบาท

4.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรงวการคลัง มีหนังสือถึงการบินไทยทวงให้ชำระหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังนำมาให้การบินไทยยืมเงินต่อ 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 15,000 ล้านบาท สำหรับการกู้เงินเพื่อจัดซื้อเครื่องบิน Airbus 380-800 จำนวน 2 ลำ และได้ทำธุรกรรมแปลงหนี้ (Swap) จากดอลลาร์เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นหนี้เงินยูโร

แห่ทวงหนี้ค่าเช่าเครื่องบิน

5.บริษัทแอร์แคป ไอร์แลนด์ แคปปิทัล ดีชิคเนท แอคทิวิตี้ (AerCap Ireland Capital Designated Activity Company) ในฐานะทรัสตี้ประจำให้แก่ ซีรีย์ส วัน (Series One) ของกองทรัสต์แอร์แคป โกลบอล เอวิเอชั่น ผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boeing 797-8 เลขเครื่องเลขที่ 35315 จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องยนต์ Rolls Royce Trent 1000-AE จำนวน 2 เครื่อง 

ได้แจ้งว่าการบินไทยผิดนัดชำระค่าเช่าเครื่องบินและเงินอื่นตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระแล้ว 2.2 ล้านดอลลาร์ หรือ 73.02 ล้านบาท ผู้ให้เช่าจึงหักเงินจำนวนดังกล่าวจากเงินประกัน โดยการบินไทยมีหน้าที่ตามสัญญาที่ต้องชำระเงินประกันดังกล่าวให้กลับมาเต็มจำนวนตามสัญญา แต่การบินไทยไม่มีความสามารถชำระหนี้

6.บริษัทแอร์แคป ไอร์แลนด์ แคปปิทัล ดีชิคเนท แอคทิวิตี้ (AerCap Ireland Capital Designated Activity Company) ในฐานะทรัสตี้ประจำให้แก่ ซีรีย์ส วัน (Series One) ของกองทรัสต์แอร์แคป โกลบอล เอวิเอชั่น ผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boeing 797-8 เลขเครื่องเลขที่ 35316 จำนวน 1 เครื่องและเครื่องยนต์ Rolls Royce Trent 1000-AE จำนวน 2 เครื่อง 

ได้แจ้งว่าการบินไทยผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าเครื่องบินและเงินอื่นๆ ตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระ จำนวน 2.2 ล้านดอลลาร์ หรือ 73.12 ล้านบาท ผู้ให้เช่าจึงหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากเงินประกัน โดยการบินไทยมีหน้าที่ตามสัญญาที่ต้องชำระเงินประกันดังกล่าวให้กลับมาเต็มจำนวนตามสัญญา แต่การบินไทยไม่มีความสามารถชำระหนี้

7.บริษัท โกลด์ฟิซ ฟันดิ้ง จำกัด (Goldfish Funding Limited) ในฐานะผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boeing 787-9 มีเลขเครื่องเลขที่ 38777 จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องยนต์ Roll Royce Trent 1000-D2 จำนวน 2 เครื่อง 

ได้แจ้งว่าการบินไทยผิดนัดชำระค่าเช่าเครื่องบินและเงินอื่นตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดเป็นเงิน 3 ล้านดอลลาร์ หรือ 96 ล้านบาท ผู้ให้เช่าจึงหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากประกัน โดยการบินไทยมีหน้าที่ตามสัญญาที่ต้องชำระเงินประกันดังกล่าวให้กลับมาเต็มจำนวนตามสัญญา แต่การบินไทยไม่มีความสามารถในการชำระหนี้

8.บริษัท ดีพี แอร์คราฟ ยูเค ลิมิเต็ด (DP Aircraft UK Limited) ในฐานะผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boing 787-8 มีเลขเครื่องเลขที่ 36110 จำนวน 1 เครี่อง ได้แจ้งว่าการบินไทยไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าทั้งจำนวนที่ถึงกำหนดชำระเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2563 ซึ่งการบินไทยตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว ซึ่งการบินไทยไม่มีความสามารถในการชำระหนี้

9.บริษัท ดีพี แอร์คราฟ ยูเค ลิมิเต็ด (DP Aircraft UK Limited) ในฐานะผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boing 787-8 มีเลขเครื่องเลขที่ 35320 จำนวน 1 เครี่อง ได้แจ้งว่าการบินไทยไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าทั้งจำนวนที่ถึงกำหนดชำระเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2563 ซึ่งการบินไทยตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว ซึ่งการบินไทยไม่มีความสามารถในการชำระหนี้

159516462062

ยอมรับเข้าภาวะจ่ายหนี้ไม่ได้

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า จากเจ้าหนี้ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือทวงถามให้การบินไทยชำระหนี้ และหนังสือแจ้งการผิดนัดชำระของการบินไทยเท่านั้น โดยหนี้ 10,200 ล้านบาท ข้างต้นถึงกำหนดชำระและการบินไทยไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้

นอกจากนี้ การบินไทยมีค่าใช้จ่ายรายเดือนที่จำเป็นต่อการดำเนินการค้าตามปกติ และแม้เกิดสถานการณ์โควิด -19 ที่ทำให้การบินไทยดำเนินธุรกิจไม่ได้อย่างปกติ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องชำระอยู่ เช่น ค่าจ้างพนักงาน 21,265 คน คิดเป็น 1,400 ล้านบาทต่อเดือน (ในสถานการณ์ปกติ 2,800 ล้านบาท) ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน 23 ล้านบาทต่อเดือน (ในสถานการณ์ปกติ 4,400 ล้านบาท) ค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน 185 ล้านบาท (ในสถานการณ์ปกติ 1,650 ล้านบาท) 

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายรายเดือนที่จำเป็นต่อการดำเนินการค้าตามปกติของการบินไทยในสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 อยู่ที่ 2,800–2,900 ล้านบาท ซึ่งในสถานการณ์ปกติก่อนเกิดการระบาดอยู่ที่ 12,000–13,000 ล้านบาท

ดังนั้น การบินไทยจึงมีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระจำนวนมาก และการบินไทยชำระหนี้ไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีหนี้ที่กำลังจะถึงกำหนดชำระจำนวนมากที่คาดว่าจะชำระไม่ได้เช่นกัน