ทบทวน 'โควิด-19' ในมุมที่คุณอาจยังไม่รู้!

ทบทวน 'โควิด-19' ในมุมที่คุณอาจยังไม่รู้!

ทบทวนเรื่องราว "โควิด-19" โรคจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ครอบงำโลกมามากกว่า 7 เดือน จนปัจจุบันสถานการณ์เป็นไปอย่างไร เชื้อไวรัสสามารถแพร่ผ่านอะไรได้บ้าง และจะสามารถป้องกันตัวเองได้อย่างไร?

เป็นเวลาเกินกว่า 7 เดือน ที่ประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เชื้อที่ก่อให้เกิดโรค "โควิด-19" ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทั้งการออกนอกเคหสถานได้น้อยลง ต้องสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งช่วงที่ผ่านกลายเป็นสินค้าที่มีดีมานด์สูง ส่งผลให้ขาดตลาดและมีราคาสูง รวมถึงกลุ่มธุรกิจต่างๆ พลอยได้รับผลกระทบเชิงลบกันถ้วนหน้า 

  • สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน

ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 เวลา 14.00 น. ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 13,954,077 ราย ใกล้จะทะลุ 14 ล้านรายเข้ามาทุกทีแล้ว โดยมีรายงานผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วจำนวน 8,285,924 ราย และเสียชีวิต 592,791 รา

ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดของโลกอย่าง สหรัฐ ได้แซงหน้า จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพบผู้ติดเชื้อเป็นรายแรกของโลก รวมถึงมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในช่วงแรก โดยปัจจุบันการแพร่ระบาดได้ขยายไปสู่ประเทศและภูมิภาคอื่นมากขึ้น ทำให้จีนรั้งอันดับที่ 25 ของประเทศที่พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 215 ประเทศ 

ประเทศ 5 อันดับแรกที่มีผู้ติดเชื้อไวรัส หรือโควิด-19 มากที่สุดในโลก ณ เวลา 14.00 น. ของ วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ได้แก่

- สหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยมากถึง 3,695,302 ราย โดยมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ในเมืองบัลติมอร์ของสหรัฐ รายงานเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ในช่วง 24 ชั่วโมง สหรัฐพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 67,417 คน นับเป็นยอดรายวันสูงสุดเป็นสถิติใหม่ จากเดิม 66,528 คนในวันที่ 11 ก.ค. 

- บราซิล มีผู้ติดเชื้อ 2,014,738 ราย

- อินเดีย มีผู้ติดเชื้อ 1,005,760 ราย

- รัสเซีย มีผู้ติดเชื้อ 752,797 ราย

- เปรู มีผู้ติดเชื้อ 341,586 ราย 

สำหรับประเทศไทย ไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศ หรือการติดเชื้อเป็น 0 ราย เป็นเวลา 53 วัน (ข้อมูล ณ 17 ก.ค.63) โดยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ 3,239 ราย รักษาหายแล้ว 3,096 ราย และเสียชีวิต 58 ราย อยู่อันดับที่ 101 ของโลก 

159497108399

 

ขณะที่ 10 อันดับประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่สูงสุด (ณ วันที่ 16 ก.ค.) ไล่เรียงจากมากไปน้อยดังนี้ สหรัฐ บราซิล อินเดีย แอฟริกาใต้ รัสเซีย เม็กซิโก โคลอมเบีย อาร์เจนตินา เปรู และบังกลาเทศ 

159488766083

  

  • ลักษณะอาการโรค "โควิด-19" เป็นอย่างไร?

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุถึงลักษณะอาการต่างๆ ที่สามารถสังเกตได้เบื้องต้น ได้แก่ มีไข้ หรือมีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอแห้ง อ่อนเพลีย มีน้ำมูก เจ็บคอ ท้องเสีย หายใจลำบาก เจ็บแน่หน้าอก ปวศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ผื่นบนผิวหนัง

ด้านกระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 ซึ่งมีการระบุอาการไว้ว่า มีไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต 

ขณะเดียวกันราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเป็นข้อแนะนำเรื่องอาการสูญเสียการได้กลิ่นในผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ผู้ป่วยโรค COVID-19 ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีผลตรวจเป็นบวก พบว่ามีอาการสูญเสียการได้กลิ่น (anosmia) ได้ถึง 2 ใน 3 โดยที่พบอาการอื่นๆ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เพียงไม่มาก 

นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีการพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2563 ที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ หนึ่งรายเป็นนักศึกษาเพศชายที่เดินทางมาจากรัสเซีย ได้เข้าพักใน State Quantine จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ ขณะที่อีกรายเป็นพนักงานโรงงานในคูเวต เข้าพักใน State Quantine กรุงเทพฯ ไม่แสดงอาการใดๆ แต่ตรวจพบเชื้อ 

ด้าน นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เคยกล่าวตอนหนึ่งเมื่อต้นเดือนเมษายน 2563 ว่า ฝ่ายวิชาการมีข้อมูลสนับสนุนทำให้เชื่อว่าในประเทศไทยยังมีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือแสดงอาการน้อยหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขยังต้องเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก

  • โควิด-19 แพร่เชื้อได้อย่างไร?

ขณะที่เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต้นตอของโรคโควิด-19 สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลาย ทั้งจากการไอและจาม ยังรวมถึงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ สมบูรณ์ จิตเป็นธม” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธปท. ที่ให้สัมภาษณ์กับ จส.100 โดยระบุตอนหนึ่งว่า เชื้อโรคโควิด-19 เวลาที่อยู่บนผิวสัมผัส เช่น กระดาษ และพลาสติก กว่าเชื้อจะตายใช้เวลาแตกต่างกัน หากเชื้อโรคอยู่บนผิว เช่น พลาสติก เชื้อโรคอยู่ได้ถึง 9 วัน แต่ถ้าเป็นผิวกระดาษ ถ้าอยู่ในอุณหภูมิห้องจะมีชีวิตอยู่ประมาณ 5 วัน 

ดังนั้นถ้าธนบัตรหมุนเวียนเข้ามาอยู่ในแบงก์ชาติ และแบงก์ชาติมีเวลา 14 วันกว่าจะส่งออกไป เชื้อก็น่าจะตายไปแล้ว

ล่าสุดในวารสาร Clinical Infectious Diseases ของมหาวิทยาลับออกซ์ฟอร์ด มีการเผยแพร่ความเห็นของนักวิจัยนานาชาติจาก 32 ประเทศ 239 คน ว่า ผลการศึกษาระบุว่า ไวรัสนี้แพร่กระจายทางอากาศได้มากกว่า 2 เมตร ซึ่งเป็นระยะห่างมาตรฐานที่ WHO แนะนำ 

เมื่อผู้ติดเชื้อไอหรือจาม จะพ่นละอองฝอยขนาดต่างๆ ออกมา โดยละอองฝอยที่มีขนาดมากกว่า 5-10 ไมโครมิเตอร์ จะร่วงสู่พื้นที่อย่างรวดเร็วภายในรัศมี 1-2 เมตร แต่ละอองฝอยที่มีขนาดเล็กกว่า จะสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานและกระจายไปไกลกว่านั้นมาก แม้จะมีการถกเถียงกันถึงกรณีนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นละอองฝอยขนาดใหญ่ที่แพร่ออกไปเมื่อมีการไอจาม หรืออนุภาคเล็กๆ ที่สามารถลอยในห้องได้ไกลๆ โควิด-19 ก็คือเชื้อที่เดินทางในอากาศและสามารถติดต่อคนเมื่อสูดเข้าไปในร่างกายได้เหมือนกัน 

  • แนวทางป้องกันตัวจากเชื้อไวรัส

ดังนั้นแนวทางในการป้องกันตัวเอง ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สิ่งหนึ่ง คือ การสวมหน้ากากอนามัย โดยจะต้องสวมให้ถูกวิธี ด้วยการนำด้านที่มีสีเข้มออกด้านนอกเสมอ คลุมให้ปิดจมูก ปากและคาง กดลวดขอบบนให้สนิทกับสันจมูก และเปลี่ยนทุกวัน รวมถึงการล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ใช้เวลาในการล้างมือนาน 15 วินาที หรือแอลกอฮอล์เจล ใช้เวลาประมาณ 15-25 วินาที 

หากเริ่มรู้สึกว่ามีไข้ ควรสังเกตอาการอื่นๆ เพิ่มเติม หรือในกรณีที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีแผนผังดังนี้

159490100060

อย่างไรก็ตามยังเป็นเรื่องที่ทั้งไทยและทั่วโลกยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดและเหลือน้อยที่สุด เพราะหากมีเกิดการแพร่ระบาดขึ้นระลอกสองและรุนแรงเช่นเดียวกับระลอกแรก อาจะส่งผลกระทบต่อทั่วโลกหนักกว่าเดิม

ที่มา : ratchakitcha.soc, dmsic.moph, bangkokbiznews, bangkokbiznews(2), who.intddc.moph