แค่ไหนเรียก VIP? 'เอกสิทธิ์ทางการทูต' คืออะไร

แค่ไหนเรียก VIP? 'เอกสิทธิ์ทางการทูต' คืออะไร

ทำความรู้จักความหมายของ "เอกสิทธิ์ทางการทูต" จากกรณีครอบครัวทูตซูดานที่เดินทางเข้าไทยและมีสมาชิกคนหนึ่งติดโควิด-19 ใช้สิทธิทางการทูตเพื่อเลี่ยงการกักตัวในสถานที่ที่กำหนด จนเกิดเสียงวิจารณ์หนักถึงความไม่เท่าเทียมในการควบคุมโรคระหว่างสามัญชนกับทูต

ขณะนี้ สังคมไทยกำลังให้ความสนใจกับ "เอกสิทธิ์ทางการทูต" ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่บรรดานักการทูต รวมถึงครอบครัวได้รับระหว่างเดินทางและพำนักในต่างประเทศ หลังเกิดกรณีที่บุตรสาววัย 9 ขวบของอุปทูตซูดานเดินทางเข้าไทยและถูกตรวจพบติดเชื้อโควิดที่สนามบิน แต่กลับเลี่ยงการกักตัวในสถานเอกอัครราชทูตของตนซึ่งเป็นสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด โดยอ้างสิทธิทางการทูต และออกไปพักที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จนล่าสุดกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงโควิด-19 อีกรอบ

ในวันอังคาร (14 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงกรณีนี้ว่า การดูแลคณะทูตต่างประเทศที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ขณะนี้จะต้องรักษาสมดุลตามอนุสัญญาเวียนนา และการควบคุมโรคของประเทศไทย ซึ่งจากกรณีบุตรสาวอุปทูตซูดาน ทำให้กระทรวงการต่างประเทศ ขอให้สำนักงานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) หรือ ศบค. และ ศบค.ชุดเล็ก พิจารณาทบทวนมาตรการการเดินทางของคณะทูตใหม่ทั้งหมด เพื่อเพิ่มความเข้มข้นและให้เกิดความมั่นใจในการควบคุมโรคโควิด-19

"เราจะขอให้คณะทูตที่เดินทางเข้าประเทศไทย ต้องได้รับการกักตัวยังสถานที่ที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งเป็นสถานที่กักกันทางเลือกที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง จากเดิมที่ต้องหาเชื้อโควิด-19 และ ให้กักตัวในพื้นที่สถานเอกอัครราชทูต เอง 14 วัน" นายเชิดเกียรติ อัตถากร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุ

และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยจากการอ้างเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันทางการทูตในอนาคต ศบค. จึงมีมติทบทวนมาตรการผ่อนคลายมาตรการกักกันของบุคคลในคณะทูต โดยเฉพาะคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของบุคคลดังกล่าว

 

  • เอกสิทธิ์-ความคุ้มกันทางทูต/กงสุล คืออะไร ทำไมต้องมี

เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน (Privilege & Immunity) หมายถึง สิทธิประโยชน์และความคุ้มกันจากการถูกบังคับตามกฎหมายบางประเภทที่รัฐผู้รับให้แก่คณะผู้แทนทางทูตและตัวแทนทางทูต และเจ้าพนักงานกงสุลของรัฐผู้ส่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้แทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของตัวแทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลจะเริ่มตั้งแต่ขณะที่บุคคลนั้นเข้ามาในอาณาเขตของรัฐผู้รับในการเดินทางไปรับตำแหน่งของตน และเมื่อการหน้าที่ของตัวแทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลยุติลง เอกสิทธิ์และความคุ้มกันจะสิ้นสุดลงขณะที่บุคคลนั้นออกไปจากประเทศของรัฐผู้รับ

ทั้งนี้ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตและกงสุลมีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ซึ่งในปัจจุบันมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ได้แก่ ฉบับแรกคือ อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ปี 2504 (1961 Vienna Convention on Diplomatic Relations)

 

  • ความคุ้มกัน

- สถานที่ของคณะผู้แทนจะถูกละเมิดมิได้ รวมทั้งสถานที่ของคณะผู้แทน เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่นของคณะผู้แทนในสถานที่นั้น และพาหนะในการขนส่งของคณะผู้แทนจะได้รับความคุ้มกันจากการค้น การเรียกเกณฑ์ การอายัด หรือการบังคับคดี (ข้อ 22)
- ตัวบุคคลของตัวแทนทางทูตจะถูกละเมิดมิได้ (ข้อ 29) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ตัวบุคคลของตัวแทนทางการทูตจะถูกละเมิดมิได้ ตัวแทนทางการทุตจะไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในรูปใด ๆ ให้รัฐผู้รับปฏิบัติต่อตัวแทนทางการทูตด้วยความเคารพตามสมควร และดำเนินการที่เหมาะสมทั้งมวลที่จะป้องกันการประทุษร้ายใด ๆ ต่อตัวบุคคล เสรีภาพ หรือเกียรติของตัวแทนทางการทูต ตัวบุคคลของตัวแทนทางการทูตจะถูกละเมิดมิได้นั้น ได้ถือเป็นปัจจัยหลักในการที่ให้ผู้แทนทางการทูตได้รับสิทธิและความคุ้มกันทั้งมวล
- ตัวแทนทางทูตได้อุปโภคความคุ้มกันจากอำนาจศาลทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครองของรัฐผู้รับ (ข้อ 31)

 

  • เอกสิทธิ์

- ตัวแทนทางทูตจะได้รับยกเว้นจากค่าติดพันและภาษีทั้งปวงของชาติ ของท้องถิ่น หรือ ของเทศบาล ในส่วนบุคคลหรือในทรัพย์สิน ยกเว้นค่าติดพันและภาษีบางประเภท เช่น ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาสินค้าหรือบริการแล้ว ค่าติดพันและภาษีจากเงินได้ส่วนตัวจากซึ่งแหล่งกำเนิดในรัฐผู้รับ และภาษีเก็บจากเงินทุนซึ่งได้ลงทุนประกอบการพาณิชย์ในรัฐผู้รับ เป็นต้น (ข้อ 34)

 

  • หน้าที่

- ตัวแทนทางทูตมีหน้าที่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ และไม่แทรกสอดในกิจการภายในของรัฐผู้รับ (ข้อ 41 วรรคหนึ่ง)
- ตัวแทนทางทูตจะต้องไม่ปฏิบัติกิจกรรมใดทางวิชาชีพหรือพาณิชย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ในรัฐผู้รับ (ข้อ 42)

 

ส่วนฉบับที่สองคือ อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ปี 2506 (1963 Vienna Convention on Consular Relations) ซึ่งมีข้อกำหนดแตกต่างกับอนุสัญญาฉบับแรกที่ใช้กับระดับทูตเล็กน้อย

 

  • ความคุ้มกัน

- สถานที่ทางกงสุลจะถูกละเมิดมิได้ รวมทั้งสถานที่ทางกงสุลและเครื่องเรือน ทรัพย์สินและพาหนะของสถานทำการทางกงสุลจะได้รับความคุ้มกันจากการเรียกเกณฑ์ไม่ว่าในรูปแบบใด (ข้อ 31)

- เจ้าพนักงานกงสุลจะต้องไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในระหว่างการดำเนินคดี เว้นแต่ในกรณีอาชญากรรมที่ร้ายแรง (ข้อ 41 วรรคหนึ่ง)

 

  • เอกสิทธิ์

- เจ้าพนักงานกงสุลจะได้รับยกเว้นจากภาษีอากรทั้งปวงของชาติ ท้องถิ่น หรือเทศบาล ในส่วนบุคคลหรือในทรัพย์สิน ยกเว้นภาษีบางประเภท เช่น ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาของสินค้าหรือบริการแล้ว ภาษีอากรเก็บจากเงินได้ส่วนตัว รวมทั้งผลได้จากทุนซึ่งมีแหล่งที่มาในรัฐ เป็นต้น (ข้อ 49)

 

  • หน้าที่

- เจ้าพนักงานกงสุลมีหน้าที่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ และไม่แทรกแซงในกิจการภายในของรัฐผู้รับ (ข้อ 55 วรรคหนึ่ง)

- เจ้าพนักงานกงสุลอาชีพจะต้องไม่ประกอบกิจกรรมทางวิชาชีพหรือพาณิชย์ในรัฐผู้รับเพื่อ ผลกำไรส่วนตัว (ข้อ 57 วรรคหนึ่ง)

 

กฎหมายภายในเพื่ออนุวัติการ หรือเพื่อดำเนินการให้เป็นผลตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา

ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับข้างต้น จึงได้ตรากฎหมายภายในเพื่ออนุวัติการ ได้แก่

1. พ.ร.บ. ว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูต พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต พ.ศ. 2504

2. พ.ร.บ. ว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางกงสุล พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล พ.ศ. 2506

  

  • ตำแหน่งไหนได้รับเอกสิทธิ์นี้บ้าง

ผู้ที่ได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูต คือ กลุ่มนักการทูตหรือเจ้าหน้าที่ทูต (Diplomat) ซึ่งมีหลากหลายตำแหน่งตามลำดับชั้นดังนี้

- เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม (Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary)

- อัครราชทูต (Minister)

- อุปทูต (Chargé d’Affaires)

- อัครราชทูตที่ปรึกษา (Minister Counsellor)

- ที่ปรึกษา (Counsellor)

- เลขานุการเอก (First Secretary)

- เลขานุการโท (Second Secretary)

- เลขานุการตรี (Third Secretary)

- นายเวร (Attaché)

- กงสุลใหญ่ (Consul General)

- กงสุล (Consul)

- รองกงสุล (Vice Consul)

- กงสุลกิตติมศักดิ์ (Honorary Consul)

---------------------------------------

อ้างอิง: กระทรวงการต่างประเทศ, GoToKnow, Lai Brothers