อย่าประมาท สถานการณ์ 'โควิด-19'

อย่าประมาท สถานการณ์ 'โควิด-19'

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าของไทย ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่สำหรับต่างประเทศนั้นยังไม่สามารถวางใจได้ เนื่องจากยังมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอยู่มาก ดังนั้นคนไทยทุกคนจะต้องไม่ประมาทและต้องร่วมกันระมัดระวังต่อไป

[บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม 2563]

ถึงวันนี้ จันทร์ที่ 13 ก.ค. ประเทศไทยไม่มีการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศมาแล้ว 48 วัน ซึ่งนับว่าดีมากๆ ทั้งที่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทางการได้ผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์มากขึ้นเป็นลำดับ เพื่อให้ทุกส่วนของเศรษฐกิจสามารถกลับไปทำงานได้เป็นปรกติ ผ่อนปรนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่เฟสแรก เมื่อวันที่ 3 พ.ค.จนถึงต้นเดือนนี้ ที่ได้ผ่อนปรนเฟส 5 ที่เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง และถึงวันนี้การผ่อนปรนเฟส 5 ได้ผ่านไปแล้วเกือบ 2 อาทิตย์ โดยไม่มีการระบาดภายในประเทศ ซึ่งถือว่าน่ายินดีมาก

สถานการณ์การระบาดที่ควบคุมได้นี้ ทำให้คนไทยในประเทศสบายใจ และผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ลง เห็นได้จากผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อต้นเดือนนี้ที่คนไทย 53.9% กังวลเรื่องโควิด-19 น้อยลง 39.4% หวังให้สถานการณ์โควิด-19 เข้าสู่สภาวะปรกติภายในสิ้นปีนี้ และ 94.7% เห็นว่าประชาชนมีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 โดยสวมหน้ากากอนามัย 94.8% และล้างมือบ่อยๆ 88.2%

ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ชี้ชัดเจนว่า ความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์ต้องมาจากความร่วมมือของคนในสังคมเป็นสำคัญ ที่พร้อมเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดหรือป้องกันการระบาด

แต่สถานการณ์ในบ้านเราขณะนี้ แตกต่างมากกับสถานการณ์ในโลกที่การระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายลง

1.การระบาดยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดตัวเลขถึงวันที่ 10 ก.ค. ทั่วโลกมียอดสะสมผู้ติดเชื้อกว่า 22.387 ล้านคน และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 557,000 คน เฉพาะใน 5 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากสุด คือ สหรัฐ บราซิล อินเดีย รัสเซีย และเปรู จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 140,000 คนต่อวัน ชี้ชัดเจนว่ามีหลายประเทศในโลกที่การระบาดของโควิด-19 ยังรุนแรงและยังไม่สามารถลดหรือยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศได้ตั้งแต่สถานการณ์ระบาดเริ่มขึ้น

2.แม้ในประเทศที่สามารถควบคุมและลดการระบาดของโควิด-19 ได้ดีในรอบแรก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย การระบาดรอบใหม่ได้ประทุขึ้นในหลายประเทศ หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ เช่น สเปน ออสเตเลีย ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ อิสราเอล ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย ยูเออี มีทั้งที่เป็นการระบาดในวงจำกัดแบบคลัสเตอร์และการระบาดแบบทั่วไปที่เป็นคลื่นรอบ 2 แสดงว่า การกลับมาระบาดใหม่ของไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และถ้าควบคุมไม่ดีก็สามารถเป็นการระบาดรอบ 2 ที่รุนแรงต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์หลายคนมีความเห็นว่า การระบาดรอบ 2 ไม่ใช่เรื่องว่าจะมีหรือไม่ แต่เป็นเรื่องว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และรุนแรงแค่ไหน

3.จากสิ่งที่เกิดขึ้น นิตยสาร เดอะ อีโคโนมิสต์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ก.ค.ให้ความเห็นว่าไวรัสโควิด-19 คงจะอยู่กับโลกนี้ไปอีกนาน อย่างน้อยก็อีกระยะหนึ่ง ทำให้โลกต้องพร้อมปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ในโลกที่ไวรัสโควิด-19 ยังควบคุมไม่ได้ โดยคนในประเทศต้องช่วยกันลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดการระบาด เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ปรกติมากที่สุด ซึ่งคำตอบอยู่ที่คนในสังคมที่ต้องพร้อมเปลี่ยนพฤติกรรม ขนานไปกับความเช้มแข็งทางสาธารณสุขที่ตรวจเชื้อ สืบหาผู้ติดเชื้อ และแยกผู้ติดเชื้อ โดยทำอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เพราะถ้าไม่ทำ มาตรการปิดเมืองอาจเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอย่างที่ทราบ จะมีต้นทุนต่อเศรษฐกิจและคนในสังคมสูงมาก

ด้วยเหตุนี้ จึงสำคัญมากที่คนไทยทุกคนจะต้องไม่ประมาทและต้องร่วมกันระมัดระวังต่อไปไม่ให้การระบาดเกิดขึ้นอีก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อสุขภาพของส่วนรวมและเศรษฐกิจ ซึ่งชัดเจนว่าสิ่งที่ควรต้องทำร่วมกันคือ

1.ไม่ประมาทและร่วมกันระมัดระวังโดยป้องกันตนเองอย่างมีวินัย คือ การสวมหน้ากากในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ และปฏิบัติตามแนวทางลดการระบาดของทางการ โดยเฉพาะในสถานที่สาธารณะ ประเด็นนี้ เมื่อดูจากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลที่พูดถึงเมื่อตอนต้นก็รู้สึกสบายใจที่คนไทยรู้บทบาทของตนเองเป็นอย่างดี ในการช่วยควบคุมสถานการณ์โควิด-19 คือ สวมหน้ากากและล้างมือบ่อยๆ 

2.ระมัดระวังไม่ให้เกิดการกลับมาของไวรัสโควิด-19 จากภายนอก เพราะที่ผ่านมา 2 เดือน เคสใหม่ที่เกิดขึ้นในไทย ล้วนเป็นการเจ็บป่วยของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น และถ้าเราดูจากเหตุการณ์การระบาดรอบ 2 ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ชัดเจนว่า การระบาดมักเริ่มจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น คือเป็นต้นเหตุสำคัญ ทำให้เราต้องระมัดระวังเรื่องนี้มาก ต้องทำให้ระบบกักตัวผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ 14 วันไม่มีช่องโหว่ เพราะความเสี่ยงอาจมีได้จากเจ้าหน้าที่สนามบิน การเคลื่อนย้ายผู้เดินทางกลับจากประเทศจากสนามบินไปโรงแรม เจ้าหน้าที่โรงแรม บุคลากรทางการแพทย์ ที่ติดต่อและสัมผัสกับผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศจนเกิดการติดเชื้อและนำเชื้อไปแพร่ต่อกับคนในครอบครัวและประชาชนทั่วไป

ในเรื่องนี้ กรณีของออสเตรเลียเป็นอุทาหรณ์ที่ดี นอกจากนี้ ต้องไม่ประมาทกับแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศเพราะอาจเป็นที่มาของการระบาด เช่น กรณีสิงคโปร์ รวมถึงการลักลอบเข้าประเทศตามชายแดนอย่างผิดกฎหมาย เพราะไม่มีการกักตัว 

 3.ระบบการให้สิทธิพิเศษต่างๆ กับบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศ หรือนักธุรกิจ ควรต้องมีระบบป้องกันที่ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเองพอใจและมั่นใจว่าจะไม่มีความเสี่ยงจากบุคคลเหล่านี้กับคนในประเทศเรื่องนี้สำคัญ เพราะลักษณะคนไทยที่มักจะใจอ่อน เมื่อถูกล็อบบี้ หรือร้องขอจากต่างชาติ

ตรงกันข้าม การวางหลักเกณฑ์ป้องกันต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของคนในประเทศและเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง โดยไม่ลืมว่ามีหลายประเทศที่ยังไม่อนุญาติให้คนไทยเข้าประเทศเขา ทั้งที่สถานการณ์โควิด-19 ของเราดีกว่าประเทศเหล่านี้หลายเท่าตัว เพราะเขามองประโยชน์ต่อประเทศเขาก่อน

เหล่านี้เน้นว่า ความเข้มแข็งและวินัยของสังคมเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศเราอยู่รอดในวิกฤติคราวนี้