จับตา ‘สตรีมเมอร์-ยูทูบเบอร์’ เขย่าโลกแรงงานยุคดิจิทัลบูม

ซีอีโอภาคธุรกิจจับตาแรงงานแห่งอนาคต หลังโควิดบีบคนเข้าหาดิจิทัลมากขึ้น ดันอาชีพใหม่สร้างรายได้จริง "เกม-อีสปอร์ต" มาแรง ขึ้นแท่นอาชีพในฝันเด็กรุ่นใหม่ ขณะที่โลกคอนเทนท์บนยูทูบยังมีมนต์สะกด ปลุก "ยูทูบเบอร์ไทย" ครีเอทไอเดียสร้างสตอรี่ล้านวิว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โอกาสในการเข้าถึงงานยุคปัจจุบัน และในอนาคตเปิดกว้างมากขึ้นให้ผู้ที่มีทักษะเฉพาะทาง รวมทั้งมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายจากการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ให้บริการอยู่บนโลกดิจิทัล และพิษของการแพร่ระบาดของโควิด ที่บีบให้คนใกล้ชิดกับโลกดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซี (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเข้าถึงงานยุคปัจจุบัน และในอนาคตเปิดกว้างมากสำหรับผู้ที่มีทักษะที่ตอบรับกับโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมภาคดิจิทัล ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมเกมออนไลน์ มีรายงานจาก Forbes เมื่อปี 2562 ตลาดเกมทั่วโลกสร้างรายได้ 152.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.6% เมื่อเทียบกับปี 2561 และอุตสาหกรรมเกมยังถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 196 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565
ขณะที่ตลาดเกมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าราว 1.4 แสนล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ถึง 22% ในประเทศไทยปี 2562 อุตสาหกรรมเกมมีมูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 13% จากปี 2561 แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม คือ เกมมือถือ พีซี และคอนโซล
“จะเห็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ทั้งในไทยและทั่วโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่ตามมา คือ ตลาดแรงงานของเกมและอีสปอร์ตที่กำลังเปิดกว้างมากขึ้น”
- อีสปอร์ตผุดอาชีพใหม่-เชื่อมโยงอุตฯ อื่น
ขณะที่ความนิยมกีฬาอีสปอร์ตที่กำลังมาแรง ได้ช่วยต่อยอดและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกมเข้ากับภาคธุรกิจอื่นๆ ทำให้อีสปอร์ตเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล
มีการประเมินว่าปี 2565 จำนวนผู้รับชมกีฬาอีสปอร์ตทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 590 ล้านคน ทำให้ภาคธุรกิจต่างสนใจพุ่งเป้าการโฆษณามาที่วงการอีสปอร์ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ต้องการสร้างฐานจากลูกค้ารุ่นใหม่เพื่อรองรับตลาดในอนาคต
นางสาวมณีรัตน์ กล่าวต่อว่า รายได้ที่หมุนเวียนในแวดวงกีฬาอีสปอร์ตมาจากหลายช่องทาง ได้แก่ รายได้จากผู้สนับสนุน ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ค่าโฆษณา ค่าลิขสิทธิ์เกม ค่าตั๋วเข้ารับชม ค่าขายสินค้าที่ระลึกต่างๆ
ยิ่งไปกว่านั้น เกิดอาชีพทางเลือกใหม่ที่สร้างรายได้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น นักพากย์การแข่งขันเกมอีสปอร์ต (Shoutcaster) นักพัฒนาเกม (Game Developer) ผู้สร้างและพัฒนาระบบเกมในส่วนของการเขียนโปรแกรมและการเขียนโค้ด (coding) ต่างๆ สตรีมเมอร์ (Streamer)
ซึ่งจะเล่นเกมออนไลน์ถ่ายทอดสด (live streaming) แบบเรียลไทม์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ยูทูบ เฟซบุ๊ค หรือ ทวิช เกมแอนิเมเตอร์ (Game Animator) ผู้สร้างสรรค์ผลงานสามมิติให้สามารถเคลื่อนไหวได้ ด้วยการใช้โปรแกรมออกแบบใส่เทคนิคต่างๆ และอาชีพอื่นๆ อีกมากมาย
“กระแสอีสปอร์ตที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน หันมาพัฒนาและเปิดหลักสูตรการศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกมและตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ด้วยการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถเป็นตัวชี้วัดได้ว่าตลาดแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้จะเปิดกว้างรองรับอาชีพทางเลือกใหม่หากผู้ที่สนใจเปิดโอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะที่สามารถนำมาใช้ต่อยอดอาชีพในวงการนี้”
- ยูทูบเบอร์ คอนเทนท์โดน-สร้างรายได้สูง
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการดิจิทัลไทยเผยว่า แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์อย่าง "ยูทูบ" ยังเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มหลักของกูเกิลที่ได้รับความนิยม เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ให้คนรุ่นใหม่ในยุคนี้ ข้อมูลยูทูบประเทศไทย พบว่าทุกๆ นาที มีคอนเทนท์วิดีโอรวมกันมากกว่า 500 ชั่วโมง ที่อัพโหลดมายังยูทูบ หลายคนใช้แพลตฟอร์มนี้สร้างรายได้เกิดเป็นอาชีพยูทูบเบอร์ (Youtuber) กลายเป็นอาชีพในฝันคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อย มีรายได้ ได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำงานอิสระ ไม่มีเงื่อนไขอายุมาเป็นข้อจำกัด
ข้อมูลของ Stock Digest พบว่า จำนวนช่อง ยูทูบในไทยที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1.5 ล้านคน มีถึง 208 ช่อง เช่น Kaykai Salaider สาวน้อยน่ารักขวัญใจชาวเน็ตที่มีผู้ติดตามในช่องยูทูบกว่า 11 ล้านคน แต่ละคลิปมียอดวิวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านวิว อาชีพยูทูบเบอร์ดังๆ จึงสามารถทำเงินได้ไม่แพ้การทำธุรกิจส่วนตัว
แหล่งข่าวอธิบายว่า รายได้ของอาชีพยูทูบเบอร์ มาจากจำนวนยอดวิว x จำนวนโฆษณาที่แสดงผลในวิดีโอ x ราคาโฆษณาแบบ CPM (ราคาโฆษณาต่อการแสดงผลโฆษณาทุก 1,000 ครั้ง) โดยยูทูบเบอร์จะหักรายได้จากค่าโฆษณาอีกประมาณ 30-50% ส่วนที่เหลือจะแบ่งให้เจ้าของช่อง รายได้ของยูทูบเบอร์ยังมาจากการรีวิวสินค้าหรือเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับแบรนด์ต่างๆ อีกด้วย
จากการคำนวณรายได้ของอาชีพยูทูบเบอร์ จะเห็นว่ายอดวิวเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นบันไดต่อยอดไปสู่การเป็นอินฟลูอินเซอร์ ซึ่งเป็นช่องทางรายได้ที่สำคัญของอาชีพยูทูบเบอร์ จะได้ค่าจ้างมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคนซับสไคร์บ (Subscribe) ช่องความดังของตัวยูทูบเบอร์เอง ยอดคนกดไลค์ กดแชร์ คอมเมนท์ที่มีในวิดีโอนั้น มีตั้งแต่ได้ค่าจ้างหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนต่อคลิป
- แมนพาวเวอร์ชี้อาชีพฮิตยุคบิซิเนสดิสรัปฯ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญตลาดแรงงานเชิงนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก ได้จัดอันดับกลุ่มอาชีพจากผลการสำรวจ โดยอาชีพและสายงานที่ขึ้นมาเป็นอันดับแรก คือ กลุ่มอาชีพอิสระต่างๆ คิดเป็น 12.76% ประกอบด้วยคนทำงานประจำที่ต้องการทำงานเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม จากช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือนที่ผ่านมา หลายองค์กรปรับรูปแบบการทำงานเวิร์ค ฟรอม โฮม ทำให้มีการจัดสรรเวลา การทำอาชีพอิสระที่นำทักษะความรู้มาต่อยอดเป็นการสร้างโอกาสและรายได้ควบคู่กัน
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มอาชีพด้านโลจิสติกส์, ซัพพลายเชนส์ และการขนส่งเดลิเวอรี่ คิดเป็น 10.32% นับเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มดังกล่าวเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะการรองรับการซื้อสินค้าออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ เป็นผลพวงจากการล็อคดาวน์ที่มีควบคุมการเข้าและเปิดปิดร้านค้า รวมถึงห้างสรรพสินค้าในหลายพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
อันดับที่สามกลุ่มอาชีพงานที่ใช้ภาษาต่างประเทศ คิดเป็น 10.29% โดยเฉพาะภาษาที่ 2 และ 3 เช่น กลุ่มภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น อันดับที่สี่ อาชีพค้าขายออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ อันดับที่ห้า กลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์คนอยู่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มงานบริการที่บ้าน (Service at home) เช่น งานซ่อมแซมบ้าน งานบริการตัดผม งานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการออกกำลังกาย สัตว์เลี้ยง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
ครม.อนุมัติ 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา 3,500 บาท ลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้
'เราชนะ' รับเงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน กดเป็นเงินสดไม่ได้!
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'เราชนะ' สรุปใครได้ 3,500 บาท 2 เดือนบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร เช็คที่นี่!