จับตา ‘เศรษฐพุฒิ’ แซงโค้ง เบียด ‘คนใน’ นั่งเก้าอี้ ‘ผู้ว่าธปท.’

จับตา ‘เศรษฐพุฒิ’ แซงโค้ง เบียด ‘คนใน’ นั่งเก้าอี้ ‘ผู้ว่าธปท.’

ปิดรับสมัครไปแล้ว สำหรับการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อมาแทน ‘วิรไท สันติประภพ’ ผู้ว่าการธปท. คนปัจจุบันซึ่งจะครบวาระสิ้นเดือนก.ย.นี้ โดยที่เจ้าตัวไม่ขอต่อวาระดังกล่าว เพราะต้องการให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น

การปิดรับสมัครผู้ลงชิงชัยในตำแหน่ง 'ผู้ว่าการธปท.' รอบที่สอง พบว่า มีผู้มาสมัครเพิ่ม 2 คน คือ 'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฎิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ 'เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ' ปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของ ธปท.

เท่ากับว่าจำนวนผู้สมัครลงชิงชัยในตำแหน่ง ‘ผู้ว่าการธปท.’ รอบนี้มีด้วยกันทั้งสิ้น 6 คน แบ่งเป็น คนในธปท. 2 คน และ คนนอกธปท. 4 คน

สำหรับ ‘คนใน’ ทั้ง 2 คน คือ ‘เมธี สุภาพงษ์’ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน และ ‘รณดล นุ่มนนท์’ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน

ส่วน 'คนนอก' 2 คน ที่ลงสมัครก่อนหน้านี้ คือ 'สุชาติ เตชะโพธิ์ไทร' อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เจเอฟ จำกัด หรือ “เอเจเอฟ” และ 'ต้องใจ ธนะชานันท์' อดีตรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการลงทุน เอเจเอฟ

ก่อนหน้านี้ คนในแวดวงเศรษฐกิจการเงิน ค่อนข้างมั่นใจว่า ‘คนในธปท.’ ทั้ง ‘เมธี’ และ ‘รณดล’ จะได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการธปท. เพื่อส่งต่อให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ที่เหมาะสมสุดขึ้นเป็น ผู้ว่าการธปท. คนที่ 20 ลำดับที่ 24 ต่อจาก ‘วิรไท สันติประภพ’

แต่หลังปรากฎชื่อ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ลงชื่อร่วมสมัครรับการคัดเลือก ผู้ว่าธปท. ในครั้งนี้ด้วยแล้ว ทำให้คนในแวดวงเศรษฐกิจการเงินต้องปรับมุมคิดกันใหม่

‘เศรษฐพุฒิ’ นับเป็นนักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของเมืองไทย ถูกเรียกใช้งานเพื่อชาติมานักต่อนัก โดยเฉพาะช่วยวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เขาเป็นหนึ่งใน ‘ทีมคลังสมอง’ หรือ Think-Tank ร่วมกับ ‘วิรไท สันติประภพ’ ผู้ว่าการธปท. คนปัจจุบัน ในการนำประเทศฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น

ประวัติการศึกษาของ ‘เศรษฐพุฒิ’ มีดีกรีเป็นนักเรียนทุนด้านเศรษฐศาสตร์จาก Swarthmore College ของสหรัฐ ก่อนจะเข้าเรียนต่อและจบการศึกษาระดับปริญญาเอกใน Yale University ที่สหรัฐ

หลังจบการศึกษาเขาทำงานเป็น Business Analyst ที่ McKinsey&Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ชื่อดังของสหรัฐ ก่อนจะเข้าทำงานเป็น ‘เศรษฐกร’ ให้กับ ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) ในช่วงระหว่างปี 2535-2541

กระทั่งภายหลังเกิด ‘วิกฤติเศรษฐกิจ’ ครั้งรุนแรงสุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยเมื่อปี 2540 หรือ ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ เขาถูกรัฐบาลไทยเรียกตัวกลับเพื่อมาช่วยฝ่าวิกฤติในคราวนั้น โดยรับตำแหน่งเป็น ‘ผู้อำนวยการร่วม’ สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง ทำงานร่วมกับ ‘วิรไท’ ผู้ว่าการธปท. คนปัจจุบัน

‘เศรษฐพุฒิ’ เข้าร่วมทีมคลังสมองของกระทรวงการคลังได้เพียง 2 ปี ก็สามารถพาเศรษฐกิจไทยก้าวพ้นวิกฤติในคราวนั้น ทั้งยังทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว เขาจึงตัดสินใจลาออกเพื่อกลับไปทำงานต่อที่เวิลด์แบงก์

กระทั่งในปี 2548 ‘เศรษฐพุฒิ’ ถูก ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ในขณะนั้น ดึงตัวมาช่วยงานใน ‘ทีมกลยุทธ์’ โดยรับตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตลท.

ต่อมาในปี 2550 เขาย้ายมานั่งเป็น ‘กรรมการผู้จัดการ’ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ไทยพาณิชย์ ก่อนจะก้าวขึ้นเป็น กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ไทยพาณิชย์ ในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นไม่นาน ‘เศรษฐพุฒิ’ เข้ารับตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเขาถือเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ(EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ จนมีชื่อเสียงโด่งดังในทุกวันนี้

ไม่นานหลังจากนั้น เขาลาออกจากทุกตำแหน่งใน ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อมาก่อตั้งบริษัทของตัวเอง คือ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน

ต่อมาในปี 2557 เขาได้รับการเชื้อเชิญให้เข้ามานั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการร่วมวางแผนและกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของประเทศ

ปัจจุบัน ‘เศรษฐพุฒิ’ มีอายุราว 55 ปี ถือเป็น ‘นักเศรษฐศาสตร์’ วัยกลางคนที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในทุกยุค ไม่ว่าประเทศไทยจะเกิดอุบัติเหตุทางเศรษฐกิจกี่ครั้ง ก็มักมีชื่อ ‘เศรษฐพุฒิ’ ร่วมเป็นทีมที่ปรึกษาในการฝ่าฟันวิกฤติทุกครั้ง เช่นเดียวกับ วิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้เขาเป็น 1 ใน 6 ขุนพลที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ

ในแวดวงเศรษฐกิจการเงินทราบกันดีว่า ‘เศรษฐพุฒิ’ เป็นนักเศรษฐศาตร์ ‘อินดี้’ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมืองกลุ่มใดๆ แม้เขาจะถูกเรียกใช้ในรัฐบาลหลายๆ ชุด แต่นั่นไม่ได้ทำให้ ‘เศรษฐพุฒิ’ สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป เพราะเขาพร้อมลาออก หากถูกสั่งให้ทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ

‘เศรษฐพุฒิ’ ถูกยกให้เป็น ‘เนิร์ด’ ทางเศรษฐศาสตร์ เขามีมุมมองทางเศรษฐกิจและวิเคราะห์แนวโน้มได้อย่างลุ่มลึก ...เศรษฐพุฒิ ถือเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงจากปัญหา ‘หนี้ครัวเรือน’ ที่สูงจนแตะระดับน่ากังวล และเป็นผู้ที่เตือนให้ กนง. เฝ้าจับตาความเสี่ยงจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ก่อนจะเกิดวิกฤติการเบี้ยวหนี้ของ ‘หุ้นกู้’ นอนเรทติ้ง เมื่อปี 2559

ในมุมของนโยบายการเงินแล้ว ‘เศรษฐพุฒิ’ นับเป็น กนง. ‘สายเหยี่ยว’ ที่ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพระบบการเงิน เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวมากกว่าที่จะห่วงการเติบโตในช่วงสั้นๆ การให้ความเห็นเชิงนโยบายของเศรษฐพุฒิ จึงเป็นไปในลักษณะ ‘สร้างกันชน’ เพื่อรับมือกับวิกฤติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่ได้คาดคิด

การลงสมัครคัดเลือก ‘ผู้ว่าการธปท.’ ของ ‘เศรษฐพุฒิ’ ในครั้งนี้ จึงปลุกให้บรรยากาศการแข่งขันคึกคักขึ้นมาทันที และดูเหมือนว่า แวดวงเศรษฐกิจการเงินในเวลานี้ยกให้ ‘เศรษฐพุฒิ’ มีแต้มต่ออยู่พอสมควร!