คืบหน้าวัคซีน โควิด-19 เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ หลังพบในลิงได้ผลดี

คืบหน้าวัคซีน โควิด-19 เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ หลังพบในลิงได้ผลดี

จุฬาฯ เผยความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 หลังพบในลิงได้ผลดี ส่งโรงงานผลิตในอเมริกา และ แคนาดา สัปดาห์หน้า เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ (จิตอาสา) เฟสแรก 150 คน และเฟส 2 จำนวน 500-1,000 คน หากสำเร็จคาดได้ใช้ไตรมาส 3-4 ปี 2564

วันนี้ (12 กรกฎาคม) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวความคืบหน้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดmRNA ที่มีชื่อว่า “Chula-Covid19” ซึ่งพัฒนาร่วมกับ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคกองทุนวิจัยวัคซีน ห้องประชุม 1210 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ แพทย์ พยาบาล บุคลากร เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย มีมาตรฐาน นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองประชาชนเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ

159454251765

นอกจากนี้ ทางด้านศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่าสถาบันการวิจัยทางการแพทย์ที่ได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกร่วมกันเดินหน้าพัฒนา วิจัย ต่อยอด การคิดค้น ผลิตวัคซีน เพื่อใช้ในการป้องกันโรคต่างๆ ให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุด ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า “Chula-Covid19” ผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่ 2 พบว่า ลิงสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง มีสุขภาพดี เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ตามแผน

ด้าน .นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัคซีน “Chula-Covid19” เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน ซึ่งเมื่อชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดี้ที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ผลการตรวจเลือดลิงหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน Chula-Covid19  กระตุ้นเข็มที่ 2 ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลาสองสัปดาห์ พบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น โดยมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูง เฉลี่ย 5,120 ไตเตอร์ นอกจากนี้ ยังพบว่าลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมนุษย์มีร่างกายใหญ่กว่าลิง ประสิทธิภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อาจต่ำกว่าลิงราว 5-10 เท่า

ผลการตรวจเลือดลิงหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน Chula-Covid19  กระตุ้นเข็มที่ 2 ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน

จากผลการทดสอบนี้ ศูนย์วิจัยวัคซีนฯ จะเริ่มสั่งผลิตวัคซีน mRNA จำนวน 2 ชนิด ซึ่งมีความแตกต่างในแง่ของพันธุกรรมเล็กน้อย โดยส่งผลิต 2 โรงงาน ได้แก่ โรงงานแรกในสหรัฐอเมริกา ผลิตเนื้อวัคซีน คาดแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 63 และส่งไปยังโรงงานที่ 2 ในแคนาดา ผลิตไขมันเคลือบวัคซีน ในเดือนพฤศจิกายน 63 เพื่อให้พร้อมสำหรับการทดสอบในมนุษย์ตามแผน โดยต้องเตรียมวัคซีนราว 10,000 โดส ใช้ได้ 5,000 คน อย่างไรก็ตาม หลังจากได้วัคซีนมา จะต้องทดลองความเป็นพิษในหนูอีกรอบ เพื่อความปลอดภัยของมนุษย์

159454253359

ทั้งนี้ ในขั้นตอนการทดสอบในมนุษย์เฟสแรก กับอาสาสมัครจำนวน 150 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุ 18-60 ปี75 คน และ กลุ่มอายุ 60-80 ปี 75 คน โดยจะให้วัคซีนในระดับที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ โดส 10 , 30 และ 100 ไมโครกรัมกลุ่มละ 15 คน หลังจากนั้น 1 เดือน กระตุ้นเข็ม 2 ในปริมาณเท่าเดิม

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 กลุ่ม ที่ให้วัคซีนสองเข็มในโดสที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มแรก ให้เข็มแรก 30 ไมโครกรัม  และกระตุ้นครั้งที่สอง 10 ไมโครกรัม ขณะที่ อีกกลุ่ม ให้เข็มแรก 100 ไมโครกรัม และเข็มสอง 10 ไมโครกรัม

หากทั้งหมดนี้มีความปลอดภัย ก็จะให้วัคซีนในอาสาสมัครอายุ 61-80 ปี จำนวน 75 คน ต่อไป โดยเฟสแรกคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน แล้วเสร็จประมาณสิ้นปี 2563

ขณะที่การทดสอบวัคซีนในเฟสที่ 2 จะใช้อาสาสมัครประมาณ 500-1,000 คน คาดว่าจะรู้ผลในกลางปี 2564

สำหรับการทดลองเฟสที่ 3 ซึ่งต้องทดลองในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ อาจทดลองในประเทศไทยไม่ได้ เพราะไม่มีคนติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น จึงต้องมีการคุยกับทางประเทศที่มีการระบาดอยู่ แต่หากมีประเทศใดที่ผลิตวัคซีนสำเร็จ ก็จะไม่มีการทดลองในเฟสที่ 3 นี้ และคาดว่ารัฐบาลจะต้องเตรียมการสั่งซื้อวัคซีนจากต่างประเทศร่วมด้วย

การทดลองเฟสที่ 3 ซึ่งต้องทดลองในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ อาจทดลองในประเทศไทยไม่ได้ เพราะไม่มีคนติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น จึงต้องมีการคุยกับทางประเทศที่มีการระบาดอยู่

"อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดรับอาสาสมัคร เนื่องจากต้องรอคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ อนุมัติ เร็วที่สุดคาดว่าจะเปิดรับสมัครภายในปลายเดือนกันยายนนี้" .นพ.เกียรติ กล่าว

ปัจจุบัน มีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การอนามัยโลก (WHO) จำนวน 129 รายการ ผ่านการทดสอบในมนุษย์ 18 รายการ แบ่งเป็น เฟส 1 จำนวน 9 รายการ เฟส1/2 จำนวน 6 รายการ เฟส 2 จำนวน 2 รายการ และ เฟส 3 จำนวน 1 รายการ ขณะที่ไทย ขึ้นทะเบียน วัคซีน 3 ชนิด ได้แก่ mRNA , ดีเอ็นเอวัคซีน และ วัคซีนชนิดโปรตีนจากพืช โดย mRNA ยังอยู่ในขั้นตอนทดลองในสัตว์

"สิ่งเร่งด่วนของไทย ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในมนุษย์ให้เร็วที่สุด เราลุ้นกันตรงนี้มาก อย่างไรก็ตาม ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยมาอันดับหนึ่ง" .นพ.เกียรติ กล่าว

.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า วัคซีนโควิด-19 คือการวิจัยที่จำเป็นขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอนสูง และเราต้องการได้คำตอบ วัคซีนจำเป็นต้องมีการลงทุนล่วงหน้า ระยะยาว ราคาสูง การลงทุนที่ว่าเหมือนการซื้อประกัน เราไม่แน่ใจว่าเราจะได้ใช้หรือไม่ แต่หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่า

"ดังนั้น 2 เรื่อง สำคัญ คือ จำเป็นต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทำงานร่วมกันเชื่อมโยงนักวิจัย และการทำงานแบบคู่ขนาน ทั้งการวิจัยพัฒนา ร่วมมือกับต่างประเทศ และร่วมกับบริษัทผู้ผลิตทั้งไทยและต่างประเทศ" .นพ.สิริฤกษ์ กล่าว