'มดบริรักษ์' หุ่นยนต์ช่วยแพทย์ ในโรงพยาบาลช่วงโควิด-19

'มดบริรักษ์' หุ่นยนต์ช่วยแพทย์ ในโรงพยาบาลช่วงโควิด-19

ภาคเอกชน ร่วมสนับสนุน ฟีโบ้ มจธ. เดินหน้าพัฒนาชุดระบบหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งต่อช่วยแพทย์ในโรงพยาบาล 9 แห่ง ทั่วประเทศ

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผศ. ดร.มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายอุตสาหกรรมและภาคีความร่วมมือ รศ. ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการ ฟีโบ้ และ รศ. ดร.ชิต เหล่าวัฒนา หัวหน้าโครงการมดบริรักษ์ ฟีโบ้ ให้การต้อนรับภาคเอกชนและผู้มีจิตศรัทธาที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาและจัดสร้างชุดระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานพัฒนาชุดระบบหุ่นยนต์ฯ ณ อาคารปฏิบัติการพื้นฐานสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ.

159437576889

รศ. ดร.ชิต เหล่าวัฒนา หัวหน้าโครงการมดบริรักษ์ ฟีโบ้ มจธ. เปิดเผยว่า ผู้สนับสนุนในโครงการประกอบด้วยบริษัทและหน่วยงานภาคเอกชน จำนวน 24 แห่ง และผู้มีจิตศรัทธา จำนวน 5 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณ อุปกรณ์ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในการร่วมดำเนินงานพัฒนาชุดระบบหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” ชุดระบบหุ่นยนต์ มดบริรักษ์ได้เริ่มออกแบบพัฒนาระบบประมาณกลางเดือนมีนาคม 2563 ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ต้นแบบหุ่นยนต์ชุดแรกที่จัดสร้างแล้วเสร็จได้ถูกนำเสนอต่อทีมแพทย์เพื่อทดลองใช้งานได้รับผลตอบรับอย่างดีมาก ด้วยการสั่งการหุ่นยนต์สามารถทำได้สะดวก หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพสูง

อีกทั้งมีระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ลดการทำงานซ้ำซ้อน ขณะนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งประสานแจ้งความต้องการ ซึ่งสถาบันฯ ได้ตอบรับการดำเนินงานจัดสร้างให้กับโรงพยาบาล จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลพุทธโสธร โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลบางละมุง และโรงพยาบาลระยอง

159437576848

ทีมพัฒนาหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” นำโดย คุณวุฒิชัย วิศาลคุณา รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม และ ผศ. ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ กล่าวถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ใน 3 รูปแบบ เพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการด้านการตรวจรักษาและดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วย ประกอบด้วย (1) CARVER / MUM II หุ่นยนต์ Automated Guided Vehicle (AGV) ทำหน้าที่ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย มีฟังก์ชันฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัส

(2) SOFA หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ ซึ่งแพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย สามารถแสดงข้อมูลการรักษาหรือผลการตรวจที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล และสามารถวิดีโอคอลสนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบ real time

และ (3) Service Robot หุ่นยนต์บริการเฉพาะจุด สามารถเคลื่อนที่ได้อัตโนมัติโดยการควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลาง ส่งยาและอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ และผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้ผ่านวิดีโอคอล หุ่นยนต์ทั้ง 3 รูปแบบ มีระบบการจัดเก็บข้อมูลบนแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นโดยฟีโบ้ (ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชุดระบบหุ่นยนต์: http://fibo.kmutt.ac.th/fibo/faco/)

รศ. ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการฟีโบ้ กล่าวว่า ชุดระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์ชุดแรกได้ดำเนินการส่งมอบให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 โดยหุ่นยนต์ได้ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาล สำหรับชุดระบบหุ่นยนต์ฯ ที่จะกำลังจะจัดสร้างจะนำส่งมอบให้กับโรงพยาบาลอีก 8 แห่งต่อไป