ย้อนรอย ‘กาฬโรค’ ในจีน จากยุค ‘เหมา’ ถึงปัจจุบัน

ย้อนรอย ‘กาฬโรค’ ในจีน จากยุค ‘เหมา’ ถึงปัจจุบัน

“จีน” ตื่นตัวรับมือโรคระบาดรอบใหม่ หลังพบผู้ติดเชื้อ “กาฬโรค” ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน จนต้องยกระดับการป้องกันและควบคุมกาฬโรคสู่ระดับ 3 จากทั้งหมด 4 ระดับ แม้กรณีล่าสุดเป็นผู้ป่วยรายแรกในปีนี้ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนต้องเผชิญกับกาฬโรค

ชื่อของ “กาฬโรค” กลับมาเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการสุขภาพนครปาเยี่ยนน่าวเอ่อร์ เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางภาคเหนือของจีน พบผู้ป่วย 1 คนที่ได้รับการยืนยันว่าเป็น “กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง” (bubonic) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา และยกระดับการป้องกันและควบคุมกาฬโรคสู่ระดับ 3 จากทั้งหมด 4 ระดับ (ระดับ 4 เป็นระดับสูงสุด) มีผลถึงสิ้นปีนี้

ปัจจุบัน ผู้ป่วยรายดังกล่าวอยู่ระหว่างการกักกันตัวและการรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่น โดยมีอาการคงที่

อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่ชัดเจนว่ากาฬโรคชนิดนี้ระบาดสู่คนได้อย่างไร แต่ทางการท้องถิ่นกระตุ้นเตือนประชาชนให้เพิ่มการป้องกันตนเอง เนื่องจากปาเยี่ยนน่าวเอ่อร์มีความเสี่ยงของการติดเชื้อในผู้คน รวมถึงยุติการล่าและรับประทานสัตว์ที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อกาฬโรค

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสุขภาพฯ ยังเรียกร้องประชาชนให้รายงานต่อทางการทันที หากพบ “มาร์มอต” สัตว์ฟันแทะคล้ายกระรอกหรือสัตว์ชนิดอื่นที่มีอาการป่วยหรือตาย ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นกาฬโรค ผู้ป่วยที่มีไข้สูงอย่างไม่ทราบสาเหตุ และผู้ป่วยที่เสียชีวิตกะทันหัน

อ่านเพิ่มเติม: 8 เรื่องน่ารู้ของ 'มาร์มอต' พาหะ 'กาฬโรค' ในจีน

 

  • ย้อนประวัติศาสตร์กาฬโรค

กาฬโรค หรือ มรณะดำ (The Black Death) เป็นโรคที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดชนิดไม่มีโรคใดเทียบติด มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “เยอร์ซิเนีย เปสติส” (Yersinia pestis) โดยมีสัตว์ฟันแทะและหมัดเป็นพาหะนำโรค รวมถึงสามารถแพร่ในอากาศ ผ่านการสัมผัสโดยตรง หรือโดยอาหารหรือวัสดุที่ปนเปื้อน

ในอดีต โลกเผชิญกับการระบาดใหญ่ของกาฬโรค 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดในยุคกลางตอนต้น ในสมัยจักรวรรดิโรมันตะวันออก คริสต์ศตวรรษที่ 6 ระหว่างปี 541-542 เป็นการระบาดที่เรียกกันว่า “กาฬโรคแห่งจัสติเนียน” (Plague of Justinian) คาดกันว่ากาฬโรคซึ่งมีต้นกำเนิดในจีน แพร่กระจายสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิล จากธัญพืชที่นำเข้าจากอียิปต์

ครั้งที่ 2 เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 14-19 ผู้คนในยุคนั้นเรียกการระบาดนี้ว่า “Great Pestilence (โรคระบาดครั้งใหญ่) หรือ “Great Plague (กาฬโรคครั้งใหญ่) ซึ่งเริ่มต้นจากตอนใต้ของอินเดียและจีน ระบาดไปตลอดเส้นทางสายไหม (Silk Road) กระจายไปทั่วเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ในยุโรปเกิดการระบาดในช่วงปลายทศวรรษ 1340 สันนิษฐานว่า พ่อค้าชาวจีน-มองโกล เป็นผู้นำเชื้อมาแพร่ในยุโรป

และครั้งที่ 3 เกิดในศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งเป็นการระบาดครั้งสุดท้าย เริ่มขึ้นที่มณฑลยูนนานของจีน ในปี 1855 มีการแพร่ระบาดไปทั่วทุกทวีปของโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 12 ล้านคน ซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค

จนกระทั่งในปี 1894 อเล็กซองเดร เอมิล ฌ็อง เยอร์ซิน (Alexandre Emile Jean Yersin) แพทย์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ค้นพบเชื้อก่อโรคคือ เชื้อแบคทีเรีย “บาซิลลัส เปสติส” (Bacillus pestis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ฟันแทะและหมัด

นอกจากนี้ มีการตั้งชื่อเชื้อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบว่า “เยอร์ซิเนีย” (Yersinia) หลังจากค้นพบแบคทีเรีย “เยอร์ซิเนีย เปสติส” (Yersinia pestis) ซึ่งนำไปสู่การคิดวิธีรักษากาฬโรค มีการพัฒนาและทดลองใช้วัคซีนต้านเชื้อกาฬโรคในต่อมน้ำเหลืองเป็นครั้งแรกในปี 1897

 

  • “เหมา เจ๋อตุง” รับมือกาฬโรคอย่างไร

แม้มีการระบาดใหญ่ทั่วโลก 3 ครั้ง แต่การระบาดของกาฬโรคครั้งหนึ่งในจีน กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ชี้ชะตาอนาคตของจีน

ช่วงทศวรรษ 1910 เกิดกาฬโรคระบาดอีกครั้งในแคว้นแมนจูเรีย ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนเสียชีวิตจากกาฬโรคปอด ซึ่งนับเป็นครั้งเลวร้ายที่สุด

ในยุคนั้น หลายพื้นที่ของจีนถูกยึดครองโดยมหาอำนาจต่างชาติ ทั้งอาณานิคมรัสเซียและญี่ปุ่นต่างอ้างว่าสามารถจัดการกาฬโรคในแมนจูเรียได้ดีกว่าจีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า เหตุการณ์นั้นทำให้จีนเห็นว่าโรคนี้อาจเป็น “หายนะด้านความมั่นคง” ที่ทำให้นักล่าอาณานิคมได้รับความชอบธรรม

เมื่อครั้งที่ “เหมา เจ๋อตุง” นักปฏิวัติลัทธิคอมมิวนิสต์ชาวจีนที่กลายเป็นบิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าสู่อำนาจในปี 1949 เขาได้ยกเรื่องการควบคุมโรคเป็นภารกิจอันดับแรกในการปกครองประเทศ หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือเพื่อแสดงให้เห็นว่า จีนสามารถรับมือกิจการภายในประเทศและไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ

ด้วยเหตุนี้ เหมาจึงออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมโรคร้ายนี้ในประเทศ โดยหนึ่งในข้อเสนอที่ลือลั่นที่สุดของเขาคือ “แคมเปญกำจัดพาหะนำโรค 4 อย่าง” (Four Pests Campaign) ได้แก่ หนู ยุง แมลงวัน และนกกระจอก แต่แคมเปญนี้ทำให้มีการฆ่าสัตว์ป่าหลายล้านชีวิต ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศของจีนในยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด จีนก็ปรับปรุงระบบสาธารณสุขทั่วทั้งประเทศ แต่กาฬโรคก็ยังกลับมาระบาดในจีนเป็นครั้งคราว เช่น ระหว่างปี 1986-2005 ในมณฑลยูนนาน, ปี 2552 ในมณฑลชิงไห่, ปี 2559 ในมณฑลยูนนานอีกครั้ง และเดือน พ.ย. 2562 ในกรุงปักกิ่ง

 

  • อาการของกาฬโรค

อาการของกาฬโรคมี 3 ลักษณะ ได้แก่ กาฬโรคปอด (peneumonic) กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (bubonic) และกาฬโรคแบบโลหิตเป็นพิษ (septicemic) ซึ่งอาการทั้ง 3 ลักษณะนี้ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ใน 5-6 วันหลังจากได้รับเชื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ กาฬโรคปอด อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ป่วยหายใจเอาละอองเชื้อเข้าไปหรืออาจเกิดจากแบคทีเรียแพร่กระจายสู่ปอด จากกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองหรือกาฬโรคแบบโลหิตเป็นพิษที่ไม่ได้รับการรักษา นอกจากนี้ กาฬโรคปอดยังมีความรุนแรงที่สุดและสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้

ส่วนการติดต่อมาสู่คนเกิดขึ้นได้ 3 ทาง ได้แก่ การถูกหมัดที่มีเชื้อกัด การสัมผัสเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อ และการสูดดมสัมผัสสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของสัตว์ที่ติดเชื้อ

อาการทั่วไปของผู้ป่วยกาฬโรคนั้น จะรวมไปถึงอาการไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้ อ่อนแรง และต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบ ซึ่งปัจจุบัน กาฬโรคสามารถรักษาหายได้หากตรวจพบเร็ว โดยใช้ยาปฏิชีวนะ

-----------------------------

อ้างอิง: CNN, Pobpad, Hfocus, The Week