เปิดแนวคิด 'ชาญศิลป์' รักษาการ DD คนใหม่ เร่งทำแผนฟื้นฟู 'การบินไทย'

 เปิดแนวคิด 'ชาญศิลป์' รักษาการ DD คนใหม่ เร่งทำแผนฟื้นฟู 'การบินไทย'

“ชาญศิลป์” เผย เร่งทำแผนฟื้นฟู “การบินไทย” ยื่นศาลล้มละลาย 17 ส.ค.นี้ มั่นใจคลี่คลายปัญหาได้ พร้อมสั่งพนักงานกลับทำงานที่บ้านตามเดิม เริ่ม 3–31 ก.ค.นี้ หวังประหยัดค่าใช้จ่ายหลังหยุดบินต่อเนื่อง

ศาลล้มละลายกลางมีกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งแรกในวันที่ 17 ส.ค.2563 โดยการบินไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอศาลล้มละลายกลางให้ความเห็นชอบ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดกับกรุงเทพธุรกิจเผยว่า การบินไทยกำลังเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเสนอต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันที่ศาลล้มละลายได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

แผนฟื้นฟูกิจการจะระบุถึงแนวทางบริหารธุรกิจทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้ศาลล้มละลายกลางเห็นภาพว่า การบินไทย จะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจอย่างไรต่อไป แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ทั้งนี้ เบื้องต้นแผนฟื้นฟูกิจการมีหลายแนวทางที่จะดำเนินการให้มีความเหมาะสม เช่น 

1.การวางแผนจัดการสินทรัพย์ที่ไม่คุ้มค่า 

2.การวางแผนจัดการหน่วยธุรกิจที่แข่งขันไม่ได้ 

3.อาจเปิดให้มีการร่วมทุนหรือการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งอาจต้องลดทุนหรือเพิ่มทุนจะต้องมาพิจารณาแนวทางอย่างละเอียด

สำหรับการบริหารระหว่างนี้ จะดำเนินการเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะมีช่องทางที่จะดำเนินการให้สำเร็จได้ภายใต้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน เจ้าหนี้และลูกหนี้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นจะพยายามแก้ไขให้เร็วที่สุด ซึ่งมีหลายปัจจัยแวดล้อม ทั้งสภาพการแข่งขัน ความร่วมมือ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน เจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วย สุดท้ายแล้วมีช่องทางในการที่จะปรับปรุงได้อยู่แล้ว ก็ต้องดูความร่วมมือของทุกฝ่ายด้วย เพราะกฎหมายล้มละลายมีไว้เพื่อต้องการให้ธุรกิจเดินต่อได้ และไม่ต้องการให้มีคนตกงาน แต่ต้องมีการวางแผนเรื่องเงิน เรื่องเจ้าหนี้ต้องทำอย่างไร”

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การบินไทยได้ตั้งที่ปรึกษาเพื่อช่วยดูแลหลายด้าน ประกอบด้วย 

1.ด้านกฎหมาย มีที่ปรึกษาจากบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด 

2.ด้านบัญชี มีที่ปรึกษาจากบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด

3.ด้านการเงิน มีที่ปรึกษาจากบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า รวมทั้งมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการบินด้วย ซึ่งจะเข้ามาร่วมกันจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การบินไทย พยายามดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่ได้หารือกันต่อเนื่องทั้งในส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้ของกลุ่มสหกรณ์ ,การเช่าเครื่องบิน ,เงินกู้ธนาคาร ,น้ำมัน รวมถึงลูกค้าที่จองซื้อตั๋วเครื่องบินแล้ว แต่ยังไม่สามารถเดินทางได้ต้องมาดูว่าจะมีแนวทางดำเนินการได้อย่างไร

ส่วนการบินไทย จะสามารถกลับมาเปิดทำการบินได้เมื่อใดนั้น ยังต้องรอทางการออกประกาศเปิดน่านฟ้าระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการก่อน ซึ่งขณะนี้ ก็เตรียมพร้อมกลับมาเปิดทำการบินระหว่างประเทศให้เร็วที่สุด

ขอค้างหนี้น้ำมันกับ ปตท.

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า สำหรับภาระหนี้น้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของสายการบิน โดยส่วนของหนี้เก่าที่ค้างจ่ายกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องคงค้างไว้ก่อนหลังได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่วนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นใหม่หลังทำการบินก็จะต้องมีการเจรจาในรายละเอียดต่อไป ซึ่งก็เป็นกระบวนการปกติของการทำธุรกิจ

รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุว่า ในช่วงที่การบินไทยยื่นคำขอเข้าฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ได้ปัญหาบริหารจัดการภายในเนื่องจากหลังศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการทำให้นำเงิยส่วนกลางออกมาบริหารจัดการรายจ่ายไม่ได้ เช่น ค่าใช้จ่ายน้ำมัน น้ำดื่ม กระดาษ อุปกรณ์สำนักงาน

สำหรับปัญหานี้ทำให้วันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ปตท.งดจ่ายน้ำมันให้การบินไทย เพราะว่าติดปัญหาการตัดเครดิตส่วนกลางและการวางเงินเครดิตเติมน้ำมันหมดลง ซึ่งทำให้รถยนต์ที่ใช้งานในสนามบิน และสำนักงานไม่สามารถเติมน้ำมันตามเครดิตที่เคยทำ ซึ่งต่อมา ปตท.ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายจากเดิมการให้เครดิต 30 วัน เป็นการจ่ายในรูปแบบเงินสด

ขณะที่หนี้น้ำมันเดิมที่การบินไทยที่ติดหนี้ ปตท.ประมาณ 760 ล้านบาท ทำให้ ปตท.เป็นเจ้าหนี้การค้า ซึ่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการต้องจัดลำดับความสำคัญของเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้น้ำมันถือว่ามีความสำคัญในลำดับต้นต้น เนื่องจากมีความสำคัญที่ทำให้ธุรกิจการบินไทยเดินหน้าต่อได้

"ชาญศิลป์"สั่งทำงานที่บ้านเหมือนเดิม

รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2563 นายชาญศิลป์ ยกเลิกคำสั่งที่ให้พนักงานกลับมาทำงานตามปกติตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา เพราะปริมาณงานมีน้อยมาก รวมทั้งสถานการณ์การบินยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะที่จะปฏิบัติงานเต็มรูปแบบ ยกเว้นการดำเนินงานให้บริการภาคพื้นและอุปกรณ์ภาคพื้น ครัวการบิน การขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ การซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่เริ่มดำเนินการและเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเดินทางในประเทศ และเที่ยวบินเช่าเหมาลำ

ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวและเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของพนักงานและบริษัทจึงให้ยกเลิกคำสั่งให้กลับมาทำงานตามปกติ โดยตั้งแต่วันที่ 3-31 ก.ค.2563 ให้ปฏิบัติดังนี้

1.ฝ่ายบริหารทั่วไป (DW) เปิดสำนักงานใหญ่และสำนักงานศูนย์ปฏิบัติการ (OPC) ทุกวันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ในระหว่างเวลาทำงานปกติ และให้พนักงานที่ได้รับมอบหมายจากต้นสังกัดให้มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานให้เข้ามาปฏิบัติงานในระหว่างเวลาทำงานและบันทึกเวลาทำงานตามปกติของตน

สำหรับวันจันทร์และวันอังคารสามารถให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่พำนัก (Work from home) หากเป็นงานที่ให้ทำที่พำนักไม่ได้ให้ต้นสังกัดพิจารณามาปฏิบัติงานที่สำนักงาน

2.สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานที่สนามบิน หรือปฏิบัติงานการบิน หรือสนับสนุนการบิน (Operations) ให้เป็นดุลยพินิจของต้นสังกัด โดยคำนึงถึงการบริการลูกค้าและปริมาณงาน

3.ในระหว่างที่พนักงานปฏิบัติงานจากที่พำนักให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดและข้อปฏิบัติที่รัฐบาลประกาศเกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

4.กรณีที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ให้พนักงานเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ตามจริง ตามระเบียบของบริษัทที่กำหนดไว้

5.ในกรณีที่พนักงานต่างหน่วยงานที่มีจิตอาสามาช่วยปฏิบัติงานด้วยความสมัครใจให้พนักงานดังกล่าว บันทึกเวลาตามจริงได้ที่หน่วยงานที่ตนไปช่วยงานโดยไม่มีค่าตอบแทน

6.บริษัทจะให้บริการพนักงานตามวันเวลา สำหรับสำนักงานแพทย์ตามหน่วยธุรกิจจะเปิดตามความจำเป็นตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2548 พร้อมทั้งบัตรโดยสารพนักงานยังคงระงับทุกประเภทในทุกเส้นทางบินระหว่างประเทศของบริษัทและเส้นทางบินของสายการบินคู่สัญญา ถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้