ต้อนรับ ‘เปิดเทอม’ New Normal ครูและผู้ปกครองคิดเห็นอย่างไร?

ต้อนรับ ‘เปิดเทอม’ New Normal ครูและผู้ปกครองคิดเห็นอย่างไร?

การ "เปิดเทอม" แบบ New Normal กลายเป็นความท้าทายของบุคลากรด้านการศึกษาไทย ลองมาเช็คความคิดเห็นผู้ปกครองและคุณครูส่วนหนึ่ง ต่อสถานการณ์ "เปิดเทอม" แบบ New Normal ว่าได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ภาพผู้คนเดินทางขวักไขว่ในชั่วโมงเร่งด่วนบนท้องถนน สะท้อนถึงโหมดการใช้ชีวิตที่ (เกือบจะ) ปกติอีกครั้ง หลังมาตรการปลดล็อคของรัฐบาลทำให้สังคมไทยกลับมามีชีวิตชีวา รวมถึงโรงเรียนต่างๆ ก็กลับมา "เปิดเทอม" อีกครั้งด้วยเช่นกัน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563  หลังจากที่ต้องหยุดการเรียนการสอนเป็นระยะเวลาเกือบสี่เดือน

โดยนักเรียนทุกระดับชั้นจะได้กลับไปเรียนในโรงเรียน  พร้อมกับต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด โควิด-19 จากกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัด อย่างเช่น การสลับวันเรียนเพื่อลดความแออัด และการนั่งห่างกันไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร

อ่านข่าวเพิ่มเติม : รู้ก่อน 'เปิดเทอม' ข้อปฏิบัติช่วงโควิดตามมาตรการ ศธ. ทำยังไง? 

ทั้งนี้การ "เปิดเทอม" แบบ New Normal ก็กลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของบุคลากรด้านการศึกษา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้พูดคุยกับผู้ปกครองและคุณครูส่วนหนึ่ง เพื่อสอบถามถึงความคิดเห็นว่าการเปิดเทอมแบบ New Normal นั้นได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในบทบาทของผู้ปกครองและคุณครูอย่างไรบ้าง

  • ภาระที่มากขึ้นของครู

คุณครูโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกกล่าวว่า โรงเรียนพยายามทำตามมาตรการอย่างครบถ้วนทั้งการแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม A และ B สลับกันมาโรงเรียน มีจัดตารางเรียนแจกให้เด็กเช็คดูตามตาราง นักเรียนนั่งเรียนประจำห้องพร้อมทั้งให้ครูเป็นผู้เดินสอนแทน และการซื้อของในโรงเรียนก็ต้องเปลี่ยนจากใช้เงินสดมาเป็นการใช้บัตรระบบ Food court ซื้อทุกสิ่งในโรงเรียน พูดง่ายๆ คือไม่ใช้เงินสดเลย ลดการสัมผัส รวมถึงการใช้บัตรแตะเข้าโรงเรียนแทนการสแกนนิ้ว

“เนื่องจากแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่มสลับกันมาไม่วุ่นวายมากเท่าไหร่ มีการตรวจคัดกรองก่อนเข้าโรงเรียน นักเรียนทยอยกันเข้าโรงเรียนเรื่อยๆ ไม่ได้ต่อแถวยืดยาว การจัดแถวเป็นไปตามที่วางแผนไว้ มีการเว้นระยะห่างกัน อย่างเวลาที่เข้าแถวก็ต้องปล่อยแยกแถวทีละระดับ และแบ่งทางออกเป็น 3 ทางเพื่อไม่ให้เด็กใกล้กันมากเกินไป”

นอกจากปัญหาเล็กน้อยเรื่องพื้นที่แล้ว ครูยังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าภาระงานอื่นๆ นั้นยังคงมีเท่าเดิม ไม่ได้ลดลง แต่มีการเพิ่มส่วนยิบย่อยมากขึ้น ยกตัวอย่างงานพัสดุจากที่ทำงานพัสดุปกติ ก็ต้องมาเพิ่มอุปกรณ์เกี่ยวกับโควิด เวรหน้าประตูจากที่เคยยืนส่งนักเรียนปกติก็ต้องเพิ่มการคัดกรอง งานวิชาการจากที่ผ่านมาคือการรับสมัคร การสอบ และรายงานตัว ปกติจะทำอย่างละ 2 วัน แต่ก็ต้องเพิ่มเป็น 4 วัน

“สิ่งที่รัฐบาลควรทำตอนนี้คือจัดสรรงบประมาณให้แต่ละโรงเรียนให้เพียงพอต่อการจัดการ สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่โยนภาระให้โรงเรียนหรือผู้ปกครองโดยลำพัง”

  • ครูคนเดิม สู่การสอนแบบ new normal

เช่นเดียวกับ โบว์ - ศิริลักษณ์ ฉายะยันต์ ผู้มีบทบาทของความเป็นครู และต้องทำหน้าที่ของคุณแม่ลูก 2 ควบคู่ไปด้วย โดยลูกสาวลูกชายของเธอก็ต้องปรับตัวรับกับการ   "เปิดเทอม"  ครั้งใหม่หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไม่ต่างกัน

ศิริลักษณ์ เป็นคุณครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนวัดบางกระดี่ รับผิดชอบสอนวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเธอยอมรับว่า โควิด-19 ทำให้คนเป็นครูต้องปรับตัวให้ทันท่วงทีมาตั้งแต่สถานการณ์เริ่มลุกลามใหม่ๆ

โดยเฉพาะการเตรียมตัว "เปิดเทอม" เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ด้วยความที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีเด็กนักเรียนกว่า 1,200 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้โรงเรียนต้องจัดวางขั้นตอนปฏิบัติ และแนวทางการรับมือวันเปิดเทอมที่เข้มงวดพอสมควร

"ที่โรงเรียนจะมีการเปิดเรียนตามปกติ ให้นักเรียนมาเรียนทุกวัน โดยก่อนเข้าพื้นที่โรงเรียนจะมีการคัดกรองตามระเบียบของสาธารณสุข ตรวจวัดไข้ สวมหน้ากากอนามัย ติดตั้งเจลล้างมือ รวมทั้งการมาร์กจุดรักษาระยะห่างให้กับนักเรียน และงดกิจกรรมที่ใช้คนหมู่มากเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรค"

อย่างการเรียนการสอนในห้องเรียน เธออธิบายว่าเป็นการจัดห้องเรียนแบบขยายพื้นที่เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างโต๊ะนักเรียนออกไปยังบริเวณระเบียงห้อง คล้ายๆ ตอนจัดห้องสอบ ซึ่งปัญหาด้านการบริหารพื้นที่ของโรงเรียนนั้นถือว่าไม่มากนัก  เนื่องจากอาคารเรียนหลังใหม่ 5 ชั้นเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา ถือว่าทันท่วงทีสำหรับการใช้งานในช่วงเปิดเทอมพอดี

ส่วนมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่ทางโรงเรียนได้มีการเชื่อมโยงกับเขตการศึกษานั้น ทางโรงเรียนได้มีการถ่ายทำคลิปวิดีโอจำลองรูปแบบการจัดการเรียนการสอนส่งไปยังสำนักงานศึกษากรุงเทพมหานครเพื่อประเมินความพร้อม อีกทั้งในวัน   "เปิดเทอม" ก็ได้มีคณะกรรมการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยในการจัดการเรียนอีกครั้งหนึ่งด้วย

"อย่างการรับประทานอาหารกลางวันก็จะมีการแยกสัดส่วนอย่างชัดเจน โดยนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมจะให้รับประทานอาหารบนห้องโดยอยู่ในความดูแลของครูพี่เลี้ยง หรือหากตรวจพบว่านักเรียนคนไหนมีแนวโน้ม หรือต้องสงสัยว่ามีไข้ ก็จะให้นักเรียนกลับบ้านทันที นอกจากนั้นทางโรงเรียนยังได้มีการแจกหน้ากากผ้าเพื่อให้นักเรียนได้ใช้งานอย่างเพียงพออีกด้วย"

  • ครอบครัวตัวป่วน

ส่วนในมุมของคนเป็นแม่นั้น ศิริลักษณ์ กล่าวว่า ลูกสาวคนโตของเธอเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนราชินีบูรณะ จ.นครปฐม ส่วนลูกชายคนเล็กเรียนอยู่ชั้นประถมที่โรงเรียนสารสาสน์วิเทศสมุทรสาคร ซึ่งทั้ง 2 โรงเรียนนั้น อยู่ในข่ายของการจัดการศึกษาให้นักเรียนสลับวันไปโรงเรียน โดยลูกสาวคนโตไปโรงเรียนวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ส่วนน้องชายคนเล็กไปโรงเรียนอังคาร พฤหัส ทำให้เธอต้องจัดการความเป็นอยู่ของลูกๆ พอสมควร เนื่องจากเธอและสามีก็ต้องไปทำงานทั้งคู่ ทำให้ไม่มีใครอยู่ดูแลลูกที่บ้านในวันที่ใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ไปเรียน

"วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นเราก็ต้องเอาไปฝากคุณปู่คุณย่าเลี้ยงให้ก่อนที่จะไปส่งอีกคนหนึ่งไปโรงเรียน ก็ต้องใช้วิธีนี้แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าไปก่อน เพราะว่าที่บ้านผู้ปกครองต้องไปทำงานทั้งคู่"

ส่วนเรื่องการเตรียมตัวให้กับลูกๆ ของตนเองนั้น เธอมองว่าไม่ได้ต่างจากพ่อแม่คนอื่นๆ ที่ต้องเตรียมหน้ากากอนามัยเอาไว้อย่างน้อย 2 ชิ้น สำหรับให้ลูกๆ ไว้ใช้ที่โรงเรียน รวมทั้งเจลแอลกอฮอล์ขนาดพกพา และคอยกำชับให้ลูกๆ ล้างมือ และรักษาความสะอาดอยู่เสมอ

"โซเชียลมีเดียอย่างไลน์กลุ่ม หรือเพจของโรงเรียนก็มีความสำคัญ ทุกวันนี้ก็ช่วยได้มาก เพราะครูก็จะคอยแจ้งข่าว แจ้งแนวทางปฏิบัติให้กับเด็ก และผู้ปกครองผ่านช่องทางเหล่านี้ เพื่อที่ทุกคนจะได้รู้ และเข้าใจว่าเราจะผ่านสถานการณ์แบบนี้ไปด้วยกันอย่างไร” ศิริลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย