'พลังงาน' ชี้ช่อง กฟผ. จ่อหั่นค่าไฟรฟ.หินกอง

'พลังงาน' ชี้ช่อง กฟผ. จ่อหั่นค่าไฟรฟ.หินกอง

 "ราช กรุ๊ป” ลุ้น กพช.รื้อเกณฑ์โครงสร้างการแข่งขันก๊าซฯใหม่ เปิดทาง “หินกองฯ” นำเข้าแอลเอ็นจี 1.4 ล้านตันต่อปี ด้าน “พลังงาน” ส่งสัญญาณ กฟผ. เตรียมเจรจาหั่นต้นทุนค่าไฟใหม่ เอื้อประโยชน์ประชาชน

แหล่งข่าวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ซึ่งเป็นร่วมทุนระหว่าง ราช กรุ๊ป ถือหุ้นสัดส่วน 51% และ กัลฟ์ฯ ถือหุ้น 49% ในฐานะผู้รับสิทธิดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) กับ กฟผ. ไปเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2562 นั้น อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อนำมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งยังมีระยะเวลาเตรียมการภายใน 6 เดือน หลังจากคณะกรรมการ กฟผ. หรือ บอร์ด กฟผ. ได้เห็นชอบให้ หินกองฯ เลื่อนระยะเวลาการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ(Gas Sales Agreement : GSA) กับ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงในโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 เรียบร้อยแล้ว หลังจากเดิมครบกำหนดเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2563

159368950148

โดยเบื้องต้น ได้รับรายงานจาก ราช กรุ๊ป ว่า ทาง หินกองฯ กำลังรอความชัดเจนจากกระทรวงพลังงาน ที่เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) อย่างเร็วภายในเดือน ก.ค.นี้ พิจารณาปรับรูปแบบโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ นอกเหนือจาก ปตท. และ กฟผ. สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ได้

หลังจากที่ หินกองฯ เป็นผู้มีความพร้อมที่จะนำเข้า LNG เพราะได้รับใบอนุญาตฯ Shipper จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้ว ในปริมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์(MW) จ.ราชบุรี ที่มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 67 และปี 68

ระหว่างนี้ หินกองฯ ก็จะต้องไปดีลจัดซื้อ LNG เพื่อเตรียมพร้อมป้องโรงไฟฟ้าหินกอง ทันทีที่รัฐเปิดกว้างทางนโยบาย ซึ่งก็ต้องรอลุ้นผล กพช. ส่วนการเซ็นสัญญาก๊าซฯกับ ปตท. ก็อาจไม่จำเป็นหาก หินกองฯ นำเข้า LNG ได้เอง

อย่างไรก็ตาม ทาง หินกองฯ รับทราบถึงความเสี่ยงในการจัดหา LNG เข้ามาป้องโรงไฟฟ้า หากรัฐปรับสูตรคำนวนราคาก๊าซฯ โดยไม่ให้นำเข้าสู่ระบบการซื้อขายก๊าซธรรมชาติรวม (Pool Gas) ซึ่งทาง หินกองฯ ได้จัดเตรียมวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงรองรับไว้แล้ว เช่น การเจรจาจัดซื้อLNG ระยะยาว เพื่อให้ได้ต้นทุนที่แข่งขันได้

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าว่า กรณีโรงไฟฟ้าหินกอง หากไม่มีการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ(GSA)กับ ปตท.ตามเงื่อนไขสัญญา PPA และหากสามารถนำเข้าก๊าซฯได้ในต้นทุนที่ถูกลง ก็เป็นสิทธิ์ของ กฟผ.ที่จะต้องไปเจรจาปรับลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลง เพราะตาม PPA เดิมนั้น ได้อ้างอิงราคา Pool Gas ที่จะซื้อก๊าซฯจาก ปตท. ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ

ก่อนหน้านี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้นำเสนอรูปแบบโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ ในหลายทางเลือกให้ที่ประชุมอนุกรรมการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯ ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พิจารณา อาทิ 1.การเปิดให้แข่งขันกันแบบเสรีทั้งหมด 2. การแยกกลุ่มธุรกิจให้แข่งขันกันระหว่างกลุ่มนำเข้า LNG ที่เป็นสัญญาระยะยาว และกลุ่มนำเข้า LNG ตามราคาตลาดจร(Spot) และ3. การให้ ปตท.เป็นผู้นำเข้า LNG แต่เพียงรายเดียวเหมือนเดิม ซึ่งจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ กพช.ต่อไป