พาณิชย์เตรียมเสนอครม.อนุมัติลงนามอาร์เซ็ป

พาณิชย์เตรียมเสนอครม.อนุมัติลงนามอาร์เซ็ป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยัน 15 ชาติสมาชิก “อาร์เซ็ป” ลงนามความตกลงสิ้นปีนี้แม้ไม่มีอินเดีย แต่เปิดทางให้กลับมาเจรจาต่อได้ทุกเมื่อ พร้อมเดินสายสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการใช้ประโยชน์กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเริ่ม ก.ค.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.63 รัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ระหว่างอาเซียน และคู่เจรจาคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ประชุมทางไกล เพื่อรับทราบความคืบหน้าการทำงานของสมาชิก เพื่อนำไปสู่การลงนามความตกลง โดยยืนยันว่า สมาชิก 15 ประเทศ จะลงนามความตกลงร่วมกันภายในสิ้นปีนี้ตามเป้าหมายของผู้นำ

ส่วนอินเดีย ยังไม่พร้อมลงนามในปีนี้ แต่สมาชิกได้เปิดทางให้อินเดียกลับมาเจรจาต่อได้ โดยให้ถือว่ายังเป็นสมาชิกเก่า ไม่ต้องเริ่มต้นเจรจาใหม่ หรือนับหนึ่งใหม่ โดยอินเดีย ไม่เข้าร่วมประกาศความสำเร็จของการเจรจาในช่วงการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปลายปี 62 เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบด้านลบกับประเทศมากกว่าผลดี โดยเฉพาะการขาดดุลการค้ากับสมาชิกบางประเทศ

“เมื่อการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงแล้วเสร็จ ทุกประเทศต้องเตรียมการเพื่อการลงนาม และให้สัตยาบรรณ โดยไทยจะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนการลงนามความตกลง และการให้สัตยาบรรณ จากนั้นจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบการให้สัตยาบรรณอีกครั้ง ส่วนการมีผลบังคับใช้ กำหนดให้ต้องมีสมาชิกอาเซียนเกินกึ่งหนึ่ง และคู่เจรจาเกินกึ่งหนึ่ง ให้สัตยาบรรณ อาร์เซ็ปจึงจะมีผลใช้บังคับ คาดว่า น่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปี 64”

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ กรมมีแผนที่จะเดินหน้าสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการใช้ประโยชน์ของความตกลงให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยในเบื้องต้น มีแผนที่จะจัดสัมมนาผ่านทางออนไลน์ในประเด็นสำคัญๆ ในความตกลง เช่น กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ที่จะเป็นกฎที่กำหนดว่า สินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบในประเทศสมาชิกสัดส่วนเท่าไร จึงจะส่งออกโดยได้รับสิทธิประโยชน์จากความตกลง หรือการเปิดตลาดสินค้า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะชี้แจงรายละเอียดของข้อผูกพันในความตกลง เป็นต้น รวมถึงจะลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจด้วยเช่นกัน

นางอรมน กล่าวว่า เมื่ออาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้แล้ว จะเป็นความตกลงการค้าเสรี ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สมาชิกอาร์เซ็ป มีประชากรรวมกันเกือบ3,600ล้านคน คิดเป็น48.1%ของประชากรโลก โดยข้อมูลในปี62สมาชิกอาร์เซ็ป มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมกันกว่า28.5ล้านล้านดอลลาร์ หรือ32.7%ของจีดีพี โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า11.2ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น29.5%ของมูลค่าการค้าโลก

นอกจากนี้ ยังเป็นความตกลงที่มีความทันสมัยที่ครอบคลุมประเด็นทางการค้ายุคใหม่ อย่างเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นอกจากนี้ จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้เข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคได้ ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะเดียวกัน จะรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว