เครื่องดื่มวิตามินร้อนระอุ เบอร์ใหญ่แห่ชิงเค้กครึ่งปีหลัง

เครื่องดื่มวิตามินร้อนระอุ เบอร์ใหญ่แห่ชิงเค้กครึ่งปีหลัง

อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อนามัย หรือทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น กลายเป็นเทรนใหญ่ในยุคโควิด -19

จากพฤติกรรมผู้บริโภคต้องการป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและดูแลรักษาตัวเองและคนในครอบครัวกันมากขึ้น ส่งผลทำให้กลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ใหญ่สำหรับภาคธุรกิจไปด้วย

กระแสดังกล่าวจึงส่งผลทำให้เครื่องดื่มเพื่อเสริมอาหาร (Functional Drink) กลับมาได้รับความนิยมอย่างมากอีกครั้ง ยิ่งในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีวิตามินได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากที่สุด จึงทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายหันมาจับตลาดเครื่องดื่มประเภทนี้

โดยมูลค่าการตลาดของเครื่องดื่มประเภทนี้ยังเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มชูกำลัง หรือแม้แต่ชาเขียว จึงทำให้คู่แข่งมีจำนวนไม่มากแต่ก็กลายเป็นช่องว่างที่หลายคนมองว่าเป็นจุดแข็งในการเข้าไปจับจองพื้นที่ทางการตลาด

กลุ่มที่ออกตัวแรกเป็นกลุ่ม สิงห์ ที่มี บี-อิ้ง กลุ่มโออิชิ อะมิโน โอเค หรือ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE ที่มี บิวติ ดริ้งค์ หากแต่การเติบโตเริ่มลดลงหลังภาวะเศรษฐกิจชะลอ ประชาชนตัดค่าใช้จ่ายสินค้าไม่จำเป็น ซึ่งเครื่องดื่ม Functional Drink เป็นเครื่องดื่มที่ตอบสนองความต้องการบ้างกลุ่ม และไม่จำเป็นต้องบริโภคต่อเนื่อง

จนกระทั่งเกิดปรากฎการณ์วิกฤติโควิด -19 ทำให้กระแสสุขภาพและการดูแลตัวเองมาแรงจนฉุดไม่อยู่จนสินค้าที่เกี่ยวข้องขายดี และหากยังไม่มีวัคซีนรักษาไวรัสชนิดนี้ได้มีความเป็นไปได้สูงว่าจะกลายเป็นเทรนใหม่สำหรับผู้บริโภคไปด้วย

รายแรกที่ปล่อยสินค้าออกมาตั้งแต่ปี 2558 บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ด้วยสินค้า C-Vitt ร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่น บริษัท เฮ้าส์ ฟู้ดส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยไม่มีสินค้าที่เป็นคู่แข่งในลักษณะเดียวกันออกมาทำการตลาด ส่งผลทำให้ได้รับความนิยมและมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องจนปี 2562 มีการเติบโตถึง 142 %

ช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 รายได้รวมอยู่ที่ 6,687 ล้านบาท เติบโต 5% และกำไรสุทธิ 926 ล้านบาท เติบโต 5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทแจกแจงการเติบโตพบว่า ธุรกิจกลุ่มที่มียอดขายเพิ่มขึ้นคือ“กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม”ทำรายได้ 5,600 ล้านบาท โต 5.7% 

โดยแบ่งเป็น M-150มีส่วนแบ่งตลาด 38.3% และ เครื่องดื่ม C-vitt”ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10 % ของรายได้ เติบโต 37.1 % โดยได้อานิสงส์จากการเติบโตของตลาดนี้ในไตรมาสที่ผ่านมาที่สูงถึง 16.1% ที่สำคัญยังสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1 ต่อเนื่องและไตรมาสดังกล่าวทำตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 31.3%

159366724410

ด้านคู่แข่งสำคัญที่พึ่งเข้าตลาดได้ไม่นาน บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG พึ่งส่งสินค้า Woody C+Lock ร่วมกับพิธีกรชื่อดัง ‘วู้ด ดี้’ เปิดตัวไปเมื่อปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ไตรมาส 1 ปี 2563 มียอดขายมากถึง 1 ล้านขวด ส่วนรายได้รวม 4,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.8 % และกำไร 823 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106.5 %

CBG สามารถเข้ามาแทรกตลาดนี้ดึงส่วนแบ่งทางการตลาดมาได้ 5-6 % พร้อมรุกหนักครึ่งปีหลังด้วยการเปิดตัวรสส้ม และเครื่องดื่ม Functional Drink อื่นเพิ่มเติม โหมทำการตลาดต่อเนื่อง 200 ล้านบาท เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด และเพิ่มยอดผลิตไม่ต่ำกว่า 100 ล้านขวดสิ้นปีนี้ ที่สำคัญยังประกาศต้องการเป็นเบอร์ 1 ในตลาด เครื่องดื่ม Functional Drink ในอนาคต ซึ่งเป็นประกาศท้าทายเบอร์ 1 อย่างชัดเจน

นอกจากการทำตลาดในไทยแล้วทั้งสองแบรนด์ ยังพุ่งเป้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV เหมือนกันอีกด้วย โดยเฉพาะ CBG มีพอร์ตรายได้ต่างประเทศมากถึง 63 % ของรายได้และเป็นตลาด CLMV มากที่สุดจึงคาดหวังการไว้ค่อนข้างสูง

ขณะที่ OSP มีสัดส่วนตลาดต่างประเทศอย่าง CLMV น้อยกว่า แต่มีจุดแข็งที่สินค้าที่แข็งแกร่ง และการขยายฐานการผลิตสำคัญในเมียร์มาจะเริ่มดำเนินการผลิตในครึ่งปีหลังนี้ ทำให้บริษัทจึงวางแผนเพิ่มกำลังผลิตสินค้านี้อีก 10-15 %

อย่างไรก็ตามคู่แข่ง (เจ้าเดิม)กำลังจะเข้ามาตลาดอีกราย SAPPE ส่งเครื่องดื่มน้ำวิตามิน B’lue ซึ่งเป็นการจับมือกับเกมมือถือ การีนา เน้นเจาะกลุ่มตลาดมิลเลนเนียม ด้วยการนำการตลาดด้วย อี- สปอร์ต น่าจะทำให้ครึ่งปีหลังนี้ตลาดเครื่องดื่มวิตามินมีการแข่งขันร้อนแรงมากที่สุด