'หอการค้า' ชง ธปท.เคลียร์ปมเงินกู้ซอฟต์โลน

'หอการค้า' ชง ธปท.เคลียร์ปมเงินกู้ซอฟต์โลน

“หอการค้า” ชง ธปท.แก้ปัญหาเข้าถึงซอฟต์โลน เผยผลสำรวจสมาชิก ชี้ประเด็นเอสเอ็มอีกู้ซอฟต์โลนไม่ได้ เผยแบงก์ห่วงคิดดอกเบี้ยหลังครบ 2 ปี “แบงก์พาณิชย์” ห่วงศักยภาพลูกหนี้ด้อยลง เสี่ยงเป็นหนี้เสียสูง

หอการค้าไทย สำรวจความเห็นผู้ประกอบการ 344 ราย เกี่ยวกับการเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยได้เสนอผลสำรวจนี้ให้ ธปท.พิจารณาเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า จากผลสำรวจดังกล่าวให้ข้อมูลว่าผู้ประกอบการจำนวนมากเข้าไม่ถึงสินเชื่อ โดยหอการค้าไทยเสนอข้อมูลดารสำรวจให้ ธปท.พิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขการขอสินเชื่อ 

สำหรับปัญหาที่พบ คือ สถาบันการเงินมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าอีกไม่นาน ธปท.คงมีแนวทางปฏิบัติให้กับสถาบันการเงินพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหอการค้าไทยได้นำเรื่องนี้หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก กกร.ตั้งข้อสังเกตถึงเงื่อนไขการกู้เงิน 2 ปี ดอกเบี้ย 2% แต่หลัง 2 ปี จะคิดดอกเบี้ยอย่างไร ซึ่งจุดนี้ยังไม่ชัดเจน

หอการค้าไทยเสนอให้ทางบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) มารับช่วงต่อตรงนี้ได้หรือไม่ โดยหาก บสย.รับได้ทางธนาคารจะมีผู้มารับความเสี่ยงในอนาคตได้ เพราะธนาคารพาณิชย์กังวลช่วงหลัง 2 ปี หากเกิดหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลจะทำอย่างไร และธนาคารต้องรับภาระเอ็นพีแอลเพิ่ม

นายกลินท์ กล่าวว่า หอการค้าไทยต้องการให้ ธปท.แก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยขณะนี้ผู้ประกอบการที่กู้เงินได้เพียง 8 หมื่นล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 5 แสนล้านบาท เพราะติดปัญหาเงื่อนไขการกู้ และเอสเอ็มอีมีปัญหาสภาพคล่อง แต่การทำธุรกิจของเอสเอ็มอีก็ต้องปรับตัวด้วย เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในหลายธุรกิจมากขึ้น

รายงานข่าวจากหอการค้าไทย ระบุว่า สำหรับผลสำรวจดังกล่าวได้สรุปปัญหาที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงซอฟต์โลน คือ ปัญหาเชิงนโยบาย มี 3 ประเด็น คือ

1.กรณีที่ผู้ประกอบการมียอดหนี้สินเมื่อสิ้นปี 2562 จำนวนน้อยทำให้วงเงินกู้น้อยเนื่องมาจากเงื่อนไขให้กู้เพียง 20% ของยอดหนี้คงค้างสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.ปีที่แล้ว 

2.ผู้ประกอบการติดเอ็นพีแอล ณ วันที่ 31 ธ.ค.ปีที่แล้ว ไม่มีคุณสมบัติที่รับความช่วยเหลือตามมาตรการนี้

3.ผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นลูกหนี้เดิมของสถาบันการเงินขอซอฟต์โลนไม่ได้

สำหรับปัญหาจากการขอยื่นกู้กับสถาบันการเงินมี 8 ประเด็น 

1.ได้รับแจ้งจากสถาบันการเงินว่าซอฟต์โลนหมดแล้ว และเสนอให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยอื่นแทน

2.ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ อาทิ ขอให้ยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม เช่น ที่ดิน เงินฝาก ค้ำประกัน 70-100% ของวงเงินกู้

3.กฎเกณฑ์ในการพิจารณาความเสี่ยงในการปล่อยกู้ เช่น ธนาคารคำนึงถึงความเสี่ยงของสินเชื่อในสถานะปกติ วงเงินสินเชื่อเดิมมียอดสูงทำให้ธนาคารไม่ต้องการปล่อยสินเชื่อให้

รวมทั้งไม่อนุมัติให้กู้เนื่องจากธนาคารพิจารณาจากผลประกอบการโดยอ้างอิงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งประเมินว่าไม่มีความสามารถในการชำระเงินคืน และต้องมีโครงการขยายกิจการและต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ายอดขายในช่วงโควิด-19 ระบาดช่วงเดือน มี.ค.-เม-ย.ที่ผ่านมา สามารถทำยอดขายและกำไรได้ 

4.มีค่าธรรมเนียมที่ถูกเรียกเพิ่ม เช่น คิดค่า Front End Fee 1% และ 3%

5.ความยุ่งยากจากการขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น ให้ส่งรายละเอียด เงินเดือนพนักงาน ค่าไฟฟ้า ค่าประปา รายเดือนและจะให้สินเชื่อช่วยเหลือในวงเงินค่าใช้จ่ายข้างต้น ให้ทำแผนการตลาดส่งให้ธนาคารพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของแหล่งที่มารายได้ ต้องมีใบสั่งซื้อและคอนแทรคจากลูกค้าก่อนจึงจะได้รับพิจารณา

6.การสั่งการจากสำนักงานใหญ่มายังสาขา โดยสำนักงานใหญ่ส่งรายชื่อบริษัทที่มีความสามารถในการกู้ตรงลงมาสาขา ถ้าไม่มีรายชื่อบริษัทที่ระบุมาจากสำนักงานใหญ่จะถูกปฏิเสธ

7.ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติช้ามาก โดยใช้เวลาพิจารณานานหรือแจ้งให้รอแต่ไม่มีการตอบกลับ

8.เงื่อนไขอื่นในการให้กู้ของธนาคาร โดยธนาคารแจ้งว่า บริษัทไม่เข้าเงื่อนไขเนื่องจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 บริษัทไม่มีเงินกู้ค้างกับธนาคาร แต่ในระหว่างปีและช่วงปี 2563 มีการกู้อยู่ตลอด รวมทั้งมีการคิดดอกเบี้ย 6 เดือนแรกแต่ชะลอไปจ่ายในปีที่ 3 เป็นต้นไป และให้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ครบภายใน 2 ปี

ยอด‘ซอฟท์โลน’ล่าสุด8หมื่นล.

สำหรับสินเชื่อซอฟท์โลนที่ได้รับอนุมัติแล้วจากข้อมูล ธปท.รวม 80,701 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับซอฟท์โลน 51,991 ราย หรือคิดเป็นสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติเฉลี่ยต่อราย 1.6 ล้านบาท

ด้านสัดส่วนผู้ที่ได้รับซอฟท์โลน แบ่งตามขนาดผู้รับ พบว่ากว่า 76% เป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่ออยู่ 0-20 ล้านบาท ขณะที่17.4% เป็นเอสเอ็มอีขนาดกลางมีวงเงินสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 20-100ล้านบาท และ 6.1% เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีวงเงินสินเชื่อ 100-500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากดูคุณสมบัติการขอซอฟท์โลน ธปท.นั้น เบื้องต้น 1.ต้องเป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจในประเทศและไม่จดทะเบียนในตลาดหุ้น 2.ต้องไม่เป็นเอ็นพีแอล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 และ 3.มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 500 ล้านบาทกับธนาคารพาณิชย์หรือธนาครรัฐแต่ละแห่งอยู่แล้ว

ลูกหนี้ไร้หลักประกัน-เสี่ยงหนี้เสียสูง

แหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยซอฟท์โลนค่อนข้างน้อย เพราะปัจจุบันลูกหนี้แทบไม่มีหลักประกัน อีกทั้งมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นหนี้เสีย ดังนั้นจึงอยากให้มีหน่วยงานรัฐ เช่น บสย.ช่วยค้ำประกันหนี้

ก่อนหน้านี้นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างปรับปรุงแนวทางปฏิบัติการปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลน เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อคล่องตัวขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อ

ทั้งนี้ การปรับปรุงดังกล่าวเป็นเพียงการปรับกระบวนการภายใน เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อคล่องตัวมากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ขยายกลุ่มลูกหนี้ที่จะปล่อยสินเชื่อเพิ่ม เพราะหากจะแก้ไขข้อนี้ต้องแก้ พ.ร.ก.และต้องส่งเรื่องไปยังสภาเพื่อขออนุมัติใหม่ จึงทำไม่ได้

ทั้งนี้คาดว่าการปรับแนวปฏิบัติในการปล่อยซอฟท์โลนจะเห็นการปรับปรุงกระบวนการภายในจนชัดเจนขึ้นภายในเดือนนี้ และคาดว่าจะออกมาเป็นรูปธรรมได้ 2-3สัปดาห์ข้างหน้า

“เรื่องซอฟ์ทโลน เราคุยกับแบงก์ตลอด ทุกสัปดาห์ที่ยื่นซอฟท์โลนมาให้ ดังนั้น ธปท.กับแบงก์หารือกันต่อเนื่องว่ามีปัญหาอุปสรรคปัญหาอย่างไร โดยเอาลูกหนี้เป็นตัวตั้ง ดังนั้นที่ผ่านมาเราคุยกันอยู่แล้ว หากไม่มีความคืบหน้าเราจะจี้ถามว่าทำไม ซึ่งคาดว่าการปรับปรุงกระบวนการปล่อยสินเชื่อให้เข้าถึงซอฟท์โลนได้มากขึ้น จะชัดเจนและออกมาใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า แต่ในแง่การปรับกระบวนการภายในน่าจะเห็นได้ภายในเดือนนี้คงชัดเจนขึ้น”