เร็วขึ้นอีก! วัคซีนโควิด-19ไทยทำ "ชนิดดีเอ็นเอ" ต้นปี 64อาจได้ใช้

เร็วขึ้นอีก! วัคซีนโควิด-19ไทยทำ "ชนิดดีเอ็นเอ" ต้นปี 64อาจได้ใช้

สธ.เผยความคืบหน้าวิจัยวัคซีนโควิด-19 ชนิดดีเอ็นเอของบริษัทเอกชนไทย ผลทดลองในหนูสร้างภูมิคุ้มกันดี เตรียมขออนุญาตอย.ทดลองในคน หากได้รับไฟเขียวเริ่มก.ค.-ส.ค.นี้ คาดใช้เวลา 9 เดือน ต้นปี 64น่าจะมีใช้

      เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19  กับ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ที่ศึกษาวิจัยวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ(DNA)ว่า บริษัทฯได้รับรายงานผลการทำลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด DNA ในหนูทดลองให้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคดี ขณะนี้เตรียมการให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ และส่งเรื่องขอคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการวิจัยในมนุษย์ต่อไป โดยหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนคาดว่าคนไทยจะมีวัคซีนใช้ไม่เกิน 9 เดือน 

        “ถ้าคนไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เอง ก็จะเป็นประเทศแรกๆที่คนเข้าถึงวัคซีน และความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดนี้ ทางบริษัทไบโอเนทฯ จะแบกความรู้นี้ไปให้กับบริษัทต่างชาติในโลกก็ได้ แต่ทางบริษัทไบโอเน็ทฯ ยืนยันว่าต้องการให้นวัตกรรมนี้เป็นสมบัติของคนไทย คนไทยต้องได้รับวัคซีนก่อน จึงเป็นเรื่องที่ต้องชื่นชม ขอบคุณ และหวังว่าการผลิตวัคซีนจะสำเร็จในเร็ววัน ซึ่งขณะนี้ทราบว่าบริษัทก็ได้เตรียมความพร้อมผลิตในระดับอุตสาหกรรมไว้หมดแล้ว เรื่องนี้รัฐบาลอำนวยความสะดวกเต็มที่บนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน” นายอนุทิน กล่าว

         นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดดีเอ็นเอที่บริษัทฯศึกษาวิจัยมีการทดลองในหนูแล้วผลยืนยันว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ขั้นตอนต่อไปจะนำรายละเอียดและเอกสารหลักฐานต่างๆไปหารือและยื่นเรื่องขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เพื่อขอเริ่มทดลองวัคซีนในคน หากได้รับอนุญาตคาดว่าจะเริ่มทดลองในคนได้ราวปลายเดือนก.ค.-ส.ค.2563 และใช้เวลาดำเนินการอีก 9 เดือน หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนคาดว่าวัคซีนชนิดดีเอ็นเอจะสามารถผลิตใช้สำหรับคนไทยได้ในไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านวัคซีนอย่างมาก 

       ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าวัคซีนชนิดดีเอ็นเอนี้หลังจากทดลองในหนูแล้ว ไม่ต้องทดลองในสัตว์ใหญ่ก่อนทดลองในคนใช่หรือไม่ นายวิฑูรย์ กล่าวว่า บริษัทฯมีประสบการณ์ว่าตัวที่เป็นการจำลองโครงสร้างดีเอ็นเอของเชื้อโรคที่มีการทดลองใช้ในวัคซีนอื่นมีความปลอดภัย รวมถึง สหรัฐอเมริกาและยุโรปก็ให้ความเชื่อถือในความปลอดภัย และในต่างประเทศมีผู้ผลิต 3-4 รายที่ได้รับการอนุญาตเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตรูปแบบนี้จากอย.ในต่างประเทศแล้ว 
        บริษัทฯจึงจะยื่นขออนุญาตจากอย.ไทยเพื่อทำการทดลองในลิงควบคู่กับการทดลองในคนพร้อมกันซึ่งสามารถทำได้ในกรณีที่มีการระบาดของโรค โดยการทดลองในคนระยะแรกจะเป็นการดูเรื่องความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น หากได้ผลก็จะขยับไปในระยที่ 2 ซึ่งจะใช้อาสาสมัครจำนวนมากขึ้น และระยะที่ 3ที่จะต้องทำในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนั้น มีการเจรจาในหลายประเทศกลุ่มอาเซียนและเพื่อนบ้านของประเทศไทยที่จะไปดำเนินการ ทั้งหมดอยู่ระหว่างการวางแผนว่าจะดำเนินการทดลองในคนแต่ละระยะจำนวนเท่าไหร่ และจะไปทดลองในประเทศใดด้วยหรือไม่ 

     ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า หากบริษัทฯจะยื่นขออนุญาตทำการทดลองในคน จะต้องนำข้อมูลหลักฐานมาแสดงต่ออย.ว่ามีความปลอดภัยจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่ระบุว่าการผลิตรูปแบบนี้ในต่างประเทศมีการอนุญาตแล้วนั้นเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยพิจารณา เพราะหากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีความปลอดภัยจริงก็ไม่สามารถอนุญาตให้ข้ามขั้นตอนได้ ซึ่งผลการพิจารณาน่าจะทราบภายในสัปดาห์หน้าว่าจะอนุญาตให้เริ่มทดลองในคนได้หรือไม่

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ใน 6 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.วัคซีนชนิดดีเอ็นเอ(DNA) 2.วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ(mRNA) 3. วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต(Protein Subunit) 4.วัคซีนชนิดคล้ายอนุภาคไวรัส (Viral Like Particle:VLP) 5.วัคซีนเชื้อตาย(Inactivated) และ 6.วัคซีนใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) โดยมีการกระจายการวิจัยไปยังหน่วยงานต่างๆ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และมหาวิทยาลัยมหิดล

      สำหรับโครงการวิจัยที่มีความคืบหน้าอย่างมากมี 2 รูปแบบ คือ ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ(mRNA)ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการทดลองในลิงเข็มแรกแล้วได้ผลดี อยู่ระหว่างการทดลองในลิงเข็มที่ 2 คาดว่าจะเริ่มทดลองในคนราวเดือนต.ค.2563 และน่าจะมีใช้ในคนไทยราวกลางปี 2564 และชนิดดีเอ็นเอ(DNA) ของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัดนี้ที่คาดว่าจะผลิตให้คนไทยใช้ได้ราวต้นปี 2564