นายธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารร้าน เพนกวิน อีท ชาบู (Penguin Eat Shabu) กล่าวว่า แนวทางธุรกิจหลังโควิดของ เพนกวิน อีท ชาบู ยังคงมุ่งให้บริการดีลิเวอรี หรือส่งตรงถึงบ้านเป็นรายได้หลักอีกหนึ่งช่องทางที่จะกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยมีแผนพัฒนาเมนูใหม่เพิ่มจากเมนูชาบูดีลิเวอรี และขยายความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ ร้านเพนกวิน อีท ชาบู มีร้านที่กลับมาเปิดให้บริการรวมทั้งหมด 7 สาขา ในขณะนี้ โดยช่วงที่ศูนย์การค้าปิดให้บริการเพื่อควบคุมโรคระบาดโควิด ร้านได้ปรับตัวด้วยการพัฒนาเมนูรองรับบริการดีลิเวอรี อาทิ ข้าวราดกระเพราวากิว ชุดชาบูพร้อมปรุง ฯลฯ และเข้าร่วมกับแอพพลิเคชั่นฟู้ดดีลิเวอรี่ต่างๆ
"เป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยทำมาก่อน ซึ่ง เพนกวินฯ เลือกให้บริการดีลิเวอรีแบบพรีออร์เดอร์ (Pre-Order) หรือ สั่งซื้อล่วงหน้า และจัดส่งวันรุ่งขึ้น ในระยะแรกทางร้านทดลองจัดส่งอาหารเองเกิดความล่าช้าอยู่บ้าง จึงตัดสินใจเป็นบิสซิเนส พาร์ทเนอร์กับ ฟู้ดสตอรี่ (FoodStory) ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบริหารจัดการร้านอาหาร และ เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) จัดส่งอาหารแก่ลูกค้า"
หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้ลูกค้านั่งทานอาหารที่ร้านได้ พบว่า สาขาที่อยู่นอกศูนย์การค้ามียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนสาขาในศูนย์การค้ามียอดขายที่ดีขึ้นแต่ไม่เทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด ขณะที่พฤติกรรมลูกค้าส่วนใหญ่ไม่มาเป็นกลุ่มใหญ่ เน้นความสะอาดมากขึ้น
นายฐากูร ชาติสุทธิผล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นระบบบริหารจัดการร้านอาหารครบวงจร ฟู้ดสตอรี่ (FoodStory) กล่าวว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารให้ความสนใจและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีแอพฯ ได้ดี ทั้งการใช้งานเพื่อบริหารจัดการร้านและบริการฟู้ดดีลิเวอรี่ ส่งผลให้ปัจจุบันมีร้านอาหารที่ใช้แอพพลิเคชั่นของฟู้ดสตอรี่กว่า 10,000 ร้าน คาดเพิ่มเป็น 25,000 ร้าน ภายในสิ้นปีนี้
แอพฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย ระบบการขายหน้าร้าน เหมาะกับธุรกิจร้านอาหาร ร้านบุฟเฟ่ต์ ร้านคาเฟ่ พัฒนาให้เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ การแจ้งเมนูใหม่หรือโปรโมชั่นใหม่แบบเรียลไทม์ บริการจองคิว สั่งอาหารล่วงหน้า ฯลฯ และระบบบริหารจัดการร้าน เช่น สั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าทางออนไลน์ (สั่งวันนี้ ส่งพรุ่งนี้) จากซัพพลายเออร์ที่รวบรวมไว้ในฟู้ดสตอรี่มาร์เก็ต และเชื่อมต่อกับระบบบจัดการสต็อกวัตถุดิบ โดยมี JWD ให้บริการรวบรวมและจัดส่งวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ไปยังร้านอาหารตามที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้า และจัดส่งโดยรถควบคุมอุณหภูมิแบบด่วนพิเศษ
“ผลกระทบจากโควิดกระตุ้นให้ผู้ประกอบการร้านอาหารปรับตัวใช้แอพฯ เพื่อให้บริการดีลิเวอรีและสั่งซื้อวัตถุดิบทางออนไลน์เพื่อประหยัดเวลา แม้ร้านอาหารกลับมาให้บริการทานในร้านได้ แต่ความต้องการใช้แอพฯ มีสูง”
นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน กล่าวว่าร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากโควิดปรับตัวจากการขายหน้าร้านมาให้บริการแบบดีลิเวอรีผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นำเสนอเซ็ตเมนูอาหารสดแบบสั่งซื้อล่วงหน้ามากขึ้น พร้อมใช้ระบบบริหารจัดการร้านด้วยเทคโนโลยีฟู้ด แอพฯ ในสั่งซื้อและบริหารสต๊อกวัตถุดิบ จองคิว ทั้งนี้บริษัทร่วมกับ ซีเจ โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) ขยายบริการ “JWD Cold Chain Express Delivery” หรือการจัดส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วนพิเศษ แบบแช่เย็นและแช่แข็ง สร้างรายได้เพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 40-60% ปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ให้บริการจัดส่งวัตถุดิบและอาหารพร้อมปรุงกว่า 100 ร้าน คาดเพิ่มเป็น 1,200 ร้านในสิ้นปี
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโมเดลศูนย์รวมวัตถุดิบและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน สำหรับซัพพลายเชนธุรกิจอาหารบนมาร์เก็ตเพลส รองรับเครือข่ายร้านอาหารบนแอพฯ “FoodStory” โดยทำหน้าที่จัดเตรียมและรวบรวมวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์แหล่งต่างๆ มาไว้ที่คลังสินค้าห้องเย็นย่านบางนาเพื่อจัดหมวดหมู่ ก่อนส่งไปยังสาขาร้านอาหาร
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
‘เราชนะ’ ลุ้นเงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com
เปิดเหตุผล 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา โควิดรอบใหม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ 75%
WHO ประเมินโควิดไทย ยังอยู่ในประเทศ 'กลุ่มสีฟ้า'