แบงก์หมดเสน่ห์หุ้นปันผล เพื่อสู้ภาวะวิกฤติระยะยาว

แบงก์หมดเสน่ห์หุ้นปันผล  เพื่อสู้ภาวะวิกฤติระยะยาว

ความกังวลใจของนักลงทุนในหุ้นแบงก์ได้สะท้อนไปยังราคาหุ้นในช่วงต้นสัปดาห์จากแรงเทขายหุ้นออกเพื่อลดความเสี่ยง หลังแบงก์ชาติประกาศปรับลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อในระบบลงซึ่งคลอบคลุมไปถึงกลุ่มสินเชื่อรายย่อย

ที่น่ากังวลใจมากกว่าคือการประกาศให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล งดการซื้อหุ้นคืนในกระดาน และต้องบริหารเงินกองทุนไว้รองรับอีก 1-3 ปีข้างหน้าจนเกิดการ ‘แพนิก’ ขายหุ้นแบงก์ร่วงแบบยกแผง

ประเด็นดังกล่าวมีการพูดถึงมากที่สุดคือการงดจ่ายปันผลที่น่ากระทบหุ้นกลุ่มแบงก์ เมื่อเทียบกับประเด็นการซื้อหุ้นคืน ที่ปัจจุบันมีอยู่ไม่กี่แบงก์และส่วนใหญ่ดำเนินการซื้อหุ้นคืนแล้วเสร็จร่วมทั้งมีการยกเลิกซื้อหุ้นคืนด้วย

ส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของกลุ่มแบงก์เพื่อรองรับรับเสี่ยงส่วนใหญ่แบงก์มีสูงเกินกว่าแบงก์ชาติกำหนดไว้ที่รนะดับ 8.5 %

ขณะที่เงินจ่ายปันผลถือว่าเป็นจุดขายของหุ้นกลุ่มแบงก์ในช่วงที่เจอปัจจัยลบกระทบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การยกเลิกฟรีค่าธรรมเนียมโมบายแบงก์กิ้ง และอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง เกิดการดีสปรับชั่นธุรกิจแบงก์อย่างหนัก หรือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นจนแบงก์ชาติต้องออกมาตรการเข้มในการปล่อยสินเชื่อมาโดยตลอด

ปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันอัตราราคาปิดต่อหุ้นต่อกำไร หรือ P/E ปรับตัวลดลงมาต่ำสุดในรอบ 10 ปี มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7เท่า และบางช่วงลงไปต่ำมากถึง 5 เท่า สะท้อนได้ว่าหุ้นมีมูลค่าที่ถูกแต่นักลงทุนยังไม่กล้าลงทุนเพราะกังวลความเสี่ยงด้านผลประกอบการ

อย่างไรก็ตามแม้จะงดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของกลุ่มแบงก์มีอัตราน้อยกว่าการจ่ายปันผลงวดสิ้นปีค่อนข้างชัดเจน จนทำให้เม็ดเงินที่หายไปไม่ได้สูง จากตัวเลขการจ่ายปันผลปี 2562 ในช่วงครึ่งปีแรกหรือระหว่างกาลทั้งหมด 8 ธนาคารรวมเป็นเงิน 17,139 ล้านบาท

ขณะที่งวดครึ่งปีหลังมีการจ่ายเงินปันผลมากถึง 52,910 ล้านบาท ส่งผลทำให้ในปี 2562 กลุ่มแบงก์กลับขึ้นมามีอัตราการจ่ายเงินปันผลมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง รองจากกลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร

ด้วยเม็ดเงินจ่ายปันผลจำนวนมากส่งผลบวกไปยังเม็ดเงินจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไปด้วย เพราะกลุ่มแบงก์มีน้ำหนักในมาร์เก็ตแคปอันดับต้นในตลาดหุ้นไทย

เมื่อไล่จากปี 2560 บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายเงินปันผล 478,092 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) 2.70% ในปี 2561 มีการจ่ายเงินปันผลรวม 519,546 ล้านบาท Dividend Yield 3.22% และปี 2562 มีการคาดการณ์ว่าเม็ดเงินปันผลสูงมากถึง 610 ,768 ล้านบาท Dividend Yield 3.14 %

จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการเก็บข้อมูลการจ่ายเงินปันผลในช่วง 10 ปี (2553-2562) พบว่ามีการจ่ายปันผลมาแล้ว 4.74 ล้านล้านบาท อัตราการเติบโตของเงินปันผลเฉลี่ย 10 ปี อยู่ที่ 7.37 %

โดยมีกลุ่มธุรกิจที่จ่ายปันผลสูงสุด คือ อันดับ 1 .กลุ่มเทคโนโลยี สื่อสาร 5.71 % อันดับที่ 2. กลุ่มอุตสหกรรม 5.39 % และ อันดับที่ 3. กลุ่มการเงิน 5.15 % ซึ่งการสั่งแบงก์งดจ่ายปันผลระหว่างกาลในครั้งนี้ ตลท. จะสนับสนุนเพราะเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็ง และเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ถือหุ้นระยะยาวแบงก์

เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินงานหลังสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติและเศรษฐกิจเดินหน้าเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูอย่างเต็มที่ อีกทั้งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ในระยะสั้นอัตราการจ่ายปันผลของทั้งตลาดจะลดลงเช่นกัน

มุมมองของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)คาดว่าปันผลระหว่างกาลที่จะหายไปรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 1.43 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลในปี 2563 สำหรับดัชนีกลุ่มแบงก์ ลดลงประมาณ1.15%และสำหรับทั้งตลาดลดลงเช่นกันประมาณ 0.1%