ไอเดียเก๋! เปิดนวัตกรรม 'กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน' ล็อกกลิ่นได้ 100%

ไอเดียเก๋! เปิดนวัตกรรม 'กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน' ล็อกกลิ่นได้ 100%

เปิดนวัตกรรม "กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน" ล็อกกลิ่นได้ 100% นวัตกรรมจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย รวมถึงบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายมะม่วงออนไลน์ ช่วยลดความชื้นแม้เก็บในห้องเย็น และบรรจุภัณฑ์บ่งชี้ความปลอดภัยปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก "ไทยคู่ฟ้า" ได้เปิดเผยข้อมูล "3 นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ผลไม้สด ส่งเสริมการขายออนไลน์" นับเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะในยุคที่พึ่งพาการตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่เกษตรกรหรือผู้ผลิตสามารถขายสินค้าได้ด้วยตนเอง แต่บางครั้งอาจมีข้อจำกัด เช่น บรรจุภัณฑ์มีขนาดบรรจุที่มากเกินไป ทำให้สิ้นเปลืองค่าขนส่ง บริษัทขนส่งบางรายปฏิเสธการขนส่งผักและผลไม้สดที่เป็นสินค้าที่เน่าเสียได้ง่าย หรือมีกลิ่นรบกวน
ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้แก้ปัญหาที่เป็นข้อจำกัดเหล่านี้ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร และตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยการเปิดตัว 3 นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ผลไม้สด ส่งเสริมการขายออนไลน์ ดังนี้
1.นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ “กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน ล็อคกลิ่นได้ 100%” ด้วยการพัฒนาขอบล็อกพิเศษ ช่วยป้องกันการผ่านเข้าออกของก๊าซและไอน้ำได้ โดยใช้แนวคิดการออกแบบแบบองค์รวม ทำให้สะดวกต่อการบรรจุ เปิดง่าย-ปิดสนิท และเปิด-ปิดซ้ำได้ มีความสวยงาม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
159290993918
ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
2.บรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายมะม่วงออนไลน์ ที่สามารถรองรับน้ำหนักผลผลิตได้ 5 กก./กล่อง เรียงซ้อนกันได้ถึง 14 ชั้น เจาะช่องระบายอากาศที่เพียงพอต่อการคายน้ำของผลมะม่วง ช่วยลดการสะสมความร้อนและความชื้นภายในกล่อง รวมถึงช่วยยืดอายุการเก็บได้ นอกจากนี้ยังผลิตจากกระดาษลูกฟูก 5 ชั้น ที่มีการดูดซึมน้ำต่ำ ทำให้กล่องมีความแข็งแรง แม้ว่าจะเก็บในห้องเย็นที่มีความชื้นสูง
159291016782
ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
3.บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะบ่งชี้ความปลอดภัยปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย ในรูปแบบฉลากเปลี่ยนสี ที่ใช้ตรวจสอบปริมาณสารซัลเฟอร์ฯ ที่เหลือตกค้างที่ผิวผลลำไย โดยเมื่อนำแผ่นฉลากไปวางที่ผลลำไย หากมีปริมาณสารซัลเฟอร์ฯ ต่ำ ฉลากจะยังคงสีน้ำตาลเข้ม แต่ถ้ามีปริมาณสารซัลเฟอร์ฯ มากสีของฉลากจะค่อย ๆ จางลงจนไม่มีสี แสดงว่ามีสารซัลเฟอร์ฯ เกินมาตรฐานกำหนด นับเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว เข้าใจง่าย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
159291037384
ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ทั้งนี้ผู้สนใจติดต่อได้ที่ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. (บางเขน) โทร 0-2579-1121 ต่อ 3101, 3208 หรืออีเมล [email protected]