ปลูกถ่าย 'สเต็มเซลล์' จากน้องชายวัย 5 ขวบ ที่ติดโควิด-19 รายแรกของโลก

น้องจีน ผู้ป่วยเป็นธาลัสซีเมีย ซึ่งเตรียมรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาค คือน้องชายวัย 5 ขวบ แต่กลับพบว่าน้องชายติดเชื้อโควิด-19 ทีมแพทย์ฯ รามาฯ จึงต้องทำงานอย่างหนัก กระทั่งกลายเป็นเคสปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคโควิด รายแรกของโลก
การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์ ในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ถือเป็นวิธีเดียวในการรักษาให้หายขาด ซึ่งส่วนใหญ่รับบริจาคจากสายเลือดเดียวกัน การจะหาสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ในผู้บริจาคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมมีน้อยมาก คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 2 - 5 หมื่นราย ขณะเดียวกัน ในช่วงการระบาดของโควิด-19 กลับพบว่า น้องจีโอ้ ซึ่งเป็นผู้บริจาคสเต็มเซลล์ให้พี่สาว กลับติดเชื้อโควิดก่อนวันปลูกถ่ายเพียง 1 วัน ทำให้ความหวังเดียวที่จะรักษาพี่สาวให้หาย กลับกลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากทั่วโลกไม่เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน
ธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดงผิดปกติถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ประชากรไทยมีโอกาสเป็นพาหะของธาลัสซีเมียสูงถึงร้อยละ 40 มีผู้ป่วยธาลัสซีเมียราว 2-3 แสนราย ผู้ป่วยโรคนี้ มีอาการเรื้อรังตั้งแต่เด็ก และรักษาไม่หายขาด ยกเว้นแต่ว่าจะได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (สเต็มเซลล์)
ที่ผ่านมา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์ ตั้งแต่ปี 2532 แต่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การปลูกถ่ายไขกระดูกให้แก่น้องจีน ผู้ป่วยอายุ 7 ขวบ ซึ่งน่าจะราบรื่นเหมือนเคสอื่นทั่วไป กลับพบปัญหาที่ว่า ผู้บริจาค คือ น้องจีโอ้ น้องชายวัย 5 ขวบ ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ก่อนทำการปลูกถ่ายไขกระดูกเพียง 1 วัน ขณะที่ทุกอย่างได้ถูกจัดเตรียมให้พร้อมและน้องจีนได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อรอรับการปลูกถ่ายในวันถัดไป
“ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง” ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์ เป็นวิธีเดียวที่ทั่วโลกใช้รักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมีย สำหรับ เคสน้องจีน เนื่องจากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าสามารถหาผู้บริจาคได้ คือ น้องชาย ซึ่งทางทีมแพทย์ได้เตรียมแผนปลูกถ่ายไขกระดูกให้น้องจีนตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน อยู่ในห้องปลอดเชื้อ และให้ยาเคมีบำบัดขนานสูงมากกว่าทั่วไป 10 เท่า และตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบว่าผลเป็นลบ ขณะที่น้องจีโอ้ น้องชายผู้บริจาคก็ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
ทว่าวันที่ 16 เมษายน 2563 ก่อนเจาะไขกระดูกเพียง 1 วัน ตรวจพบว่า น้องจีโอ้ติดเชื้อโควิด-19 แพทย์จึงจำเป็นต้องแยกน้องจีนและน้องจีโอ้ โดยให้น้องจีนซึ่งเป็นผู้ป่วยอยู่ที่พญาไท และน้องจีโอ้ ไปที่ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทันที
ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดขนานสูงไปแล้ว หากคนไข้ไม่ได้เซลล์ต้นกำเนิด จะมีภาวะไขกระดูกฝ่อ และภาวะแทรกซ้อนตามมา ทำให้เกิดการติดเชื้อ แม้จะอยู่ในห้องป้องกันการติดเชื้อก็ตาม จึงต้องให้ผู้ป่วยรับเซลล์ต้นกำเนิดเร็วที่สุด “ผศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์” สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเพิ่มเติมว่า การจะหาสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคใหม่ให้พี่จีนขณะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจะหาสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ในผู้บริจาคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมมีน้อยมาก คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 20,000-50,000 ราย ซึ่งต้องใช้เวลา สเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้ จึงเป็นความหวังเดียว ทีมแพทย์ได้ประชุมและร่วมกันพิจารณาอย่างรอบครอบ จนมั่นใจแล้วว่าโอกาสสำเร็จในเคสนี้มีมากกว่าความเสี่ยง จึงตัดสินใจดำเนินการเจาะไขกระดูกเพื่อเก็บสเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้ทันที
ทั้งนี้ ขั้นตอนการเก็บไขกระดูกต้องมีการวางแผน โดยนำน้องจีโอ้ เข้าห้องความดันลบ และเตรียมยาที่จำเป็นสำหรับการรักษาโควิด-19 มีทีมเลือด รพ.รามาฯ เตรียมเลือดที่ใช้ในระหว่างการเจาะไขกระดูก โดยทีมวิสัญญีแพทย์ต้องใส่ชุด PPE ขณะที่ทีมแพทย์ผ่าตัดใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อ โดยการเจาะไขกระดูก ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. กว่าๆ หลังจากนั้น จึงนำเอาไขกระดูกกลับมา และน้องจีโอ้รักษาต่อที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์
ขั้นตอนสุดท้าย หลังจากเก็บไขกระดูกผู้บริจาค ต้องนำไปที่คลังเลือดเพื่อตรวจว่ามีเชื้อโควิดในกระแสเลือดหรือไม่ จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้ติดโควิด-19 จะติดเชื้อในเลือดร้อยละ 10 และไขกระดูกมีส่วนผสมของเลือด แม้จะดูเหมือนมีเปอร์เซ็นต์ที่น้อยแต่ถือว่าเสี่ยง
"อย่างไรก็ตามหลังจากตรวจ พบว่าไม่มีเชื้อ สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกให้น้องจีนสำเร็จ หลังจากนั้น ได้มีการติดตามอาการคนไข้ และตรวจเชื้อโควิด-19 ทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ระหว่างรอไขกระดูกกลับมาทำงาน จนกระทั่งผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ทั้งนี้เคสน้องจีนและน้องจีโอ้ ที่สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกจากน้องชายที่ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อรักษาพี่สาวถือเป็นเคสแรกของโลก โดยการรักษาดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์เป็นที่เรียบร้อย" ผศ.นพ.อุษณรัสมิ์ กล่าว
น้องจีโอ้ น้องชายผู้บริจาคสเต็มเซลล์
น้องจีน พี่สาว
ในส่วนของครอบครัวน้องจีนและน้องจีโอ้ ซึ่งต่อสู้กับโรคธาลัสซีเมียมา 7 ปี โดยรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี หลังจากทราบว่าน้องจีโอ้ สามารถบริจาคสเต็มเซลล์ให้พี่สาวได้ถือเป็นความหวังของครอบครัว “สุชาย บุญกล่อมจิตร” และ “ศศิวิมล พลลาภ” พ่อแม่ของน้องจีนและจีโอ้ เล่าว่า ทันทีที่แพทย์บอกว่า น้องจีโอ้ ติดเชื้อโควิด -19 ไม่มีใครคาดคิดและทางครอบครัวตกใจมาก แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ได้ทราบข่าวจากทางโรงพยาบาลว่าจะทำการรักษาด้วยการใช้ไขกระดูกของจีโอ้เหมือนเดิมในวันรุ่งขึ้น เราไว้วางใจ ในทีมแพทย์และรพ.รามาฯ และความเชื่อมาตลอดว่า ถ้าอยู่ในมือหมอลูกเราต้องหาย
หลังจากวันนั้น จนถึงวันนี้ น้องๆ ได้กลับมาบ้านทั้งสองคน จีโอ้แข็งแรงดีได้รับการรักษาโควิด -19 หายขาด ส่วนน้องจีน หลังจากผ่านการให้สเต็มเซลล์อยู่ในช่วงฟื้นฟู และต้องไปพบแพทย์ทุกสัปดาห์ โดยหลังจากนี้ วางแผนว่าจะให้น้องจีนเรียนแบบโฮมสคูล ส่วนน้องจีโอ้ เตรียมพร้อมเปิดเทอมในเดือนหน้า
“เรามองว่า ในเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวเรา ไม่ได้ร้ายไปทั้งหมด ยังมีเหตุการณ์ดีๆ ที่เราได้รับ สิ่งสำคัญ คือมีทีมแพทย์ที่มีความสามารถ ดูแลลูกเราได้ทันท่วงที ภายใต้โรงพยาบาลที่มีคุณภาพ ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิรามาฯ ลดความกังวลใจได้มาก เหตุการณ์ร้ายๆ เป็นประสบการที่ดี เราได้รับกำลังใจจากคนที่เราไม่รู้จักมากมาย และขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวคนอื่นๆ ที่ต้องทำการรักษาแบบเรา” คุณพ่อสุชาย กล่าวทิ้งท้าย
'ออมสิน' ลงทะเบียน 'สินเชื่อเสริมพลังฐานราก' รอบสุดท้าย วันนี้!
'หมอธีระ' ชี้เคส 'ดีเจมะตูม' ติดเชื้อ 'โควิด-19' เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์
ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตที่สมุทรสงคราม ยอดติดเชื้อเพิ่ม 3 มีคนเสี่ยงต้องตรวจอีก 74 ราย
สำรวจ 'ค้าปลีก' กระทบแค่ไหนจากวิกฤติ 'โควิด-19' ปี 2564 ยังหนักหน่วง หรือ คลี่คลาย?
สรรหา ‘บอร์ดกสทช.’ วุ่น ผู้ตกรอบเตรียม ‘ยื่นอุทธรณ์’
'PTG' กางแผนธุรกิจใหม่ ดึงพันธมิตร 'CP Foton' รุกปั๊มชาร์จไฟฟ้า