การแข็งค่าของ 'เงินบาท' ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

การแข็งค่าของ 'เงินบาท' ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

การแข็งค่าของเงินบาททวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวที่ยังแก้ไม่ตก และกำลังจะเป็นแรงต้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังการระบาดของ COVID-19 ในไทยที่กำลังคลี่คลาย

เป็นที่ทราบกันดีว่า เงินบาทแข็งค่ามาอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้วและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะดูจากการแข็งค่าของเงินบาทกับเงินเหรียญสหรัฐก็ได้ หรือดูจาก NEER (การคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทกับเงินสกุลหลักต่างๆ ถ่วงน้ำหนักด้วยการค้าที่เกิดขึ้นจริงกับประเทศดังกล่าว) ก็ได้

หากดูจากดัชนี NEER ก็จะเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าประมาณ 18% จาก 106.04 ในเดือน ธ.ค. 2015 มาถึงจุดสูงสุดที่ 125.14 ในเดือนม.ค.2020 ดังปรากฏในตารางข้างล่าง สำหรับเงินบาทเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐนั้นก็จะแข็งค่าขึ้นจาก 36.07 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ มาเป็น 31.13 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ในช่วงเดียวกัน กล่าวคือแข็งค่าขึ้น 15.87%

159272251818

ผมรวบรวมตัวเลขให้ดูย้อนหลังไปนานกว่า 5 ปี เพื่อให้เห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาทนั้น เป็นปัญหาระยะยาวที่ยังแก้ไม่ตก และกำลังจะเป็นแรงต้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังการระบาดของ COVID-19 ในไทยจบลงไปแล้ว

เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะยังปิดประเทศไม่ให้คนต่างชาติเข้ามาและรายได้จากการท่องเที่ยวเท่ากับศูนย์ เงินบาทก็กลับแข็งค่าขึ้นมาอีกแล้วหลังจากที่อ่อนตัวลงในเวลาสั้นๆ เพียง 3 เดือนระหว่าง ม.ค.- มี.ค. และเริ่มกลับมาแข็งค่าอีกตั้งแต่ต้น เม.ย.2020 เป็นต้นมา โดยภายใน 3 เดือนที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าประมาณ 5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและประมาร 1.5% หากวัดจากดัชนี NEER

ปกติประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวไตรมาสละ 4 ล้านคน แต่ไตรมาส 2 และไตรมาส 3 น่าจะไม่มีรายได้จากตรงนี้เลย เทียบกับปกติที่รายได้จากนักท่องเที่ยวจะเท่ากับประมาณ 12-15% ของจีดีพีหรือ 6-7.5% ใน 2 ไตรมาส ดังนั้นจึงจะต้องถามว่าทำไมเงินบาทจึงแข็งค่าขึ้นมาได้ ซึ่งปัจจุบันธปท.แสดงท่าทีว่าเป็นเพราะมีการเก็งกำไรค่าเงินบาท แต่หากดูจากข้อมูลในอดีต 5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาโดยตลอด

อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัญหาเรื้อรัง คือ การที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากประมาณ 157,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มาเป็น 239,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยไม่มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มทุนสำรองอีกกว่า 80,000 ล้านเหรียญ เพราะปัจจุบันหากมีทุนสำรอง 120,000-130,000 ล้านเหรียญก็เพียงพออยู่แล้ว

และแม้ว่าปัจจุบันการส่งออกลดลงและไทยไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเลย แต่ประเทศไทยในปีนี้ (ถึงเดือน เม.ย.) ดุลชำระเงินของประเทศก็ยังบวกเกือบ 400,000 ล้านบาท และยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 270,000 ล้านบาท เพราะกำลังซื้อภายในประเทศทรุดตัวลงหนักมากกว่าการส่งออกที่หดตัวลง เห็นได้จาก

1.การส่งออกเป็นรายเดือนของไทยเป็นรายเดือนมีแนวโน้มทรงตัว+เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 และลดลงในเดือน เม.ย. คือ

มกราคม 598.59 พันล้านบาท

กุมภาพันธ์ 635.74 พันล้านบาท

มีนาคม 670.97 พันล้านบาท

เมษายน 583.01 พันล้านบาท

2.การนำเข้าทรุดตัวลงเร็วกว่าการส่งออก คือ

มกราคม 586.92 พันล้านบาท

กุมภาพันธ์ 466.71 พันล้านบาท

มีนาคม 598.05 พันล้านบาท

เมษายน 500.43 พันล้านบาท

จะเห็นได้ว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ประเทศไทยจะเกินดุลการค้ามาโดยตลอด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเพราะนอกจากจะหมายความว่ากำลังซื้อภายในจะอ่อนแออย่างมากแล้ว การหดตัวของการนำเข้านั้น มักจะหมายถึงการหดตัวของการลงทุนด้วย เพราะประเทศไทยจะนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการลงทุนจากต่างประเทศ

ประเด็นสุดท้ายคือการที่ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 80,000 ล้านเหรียญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น แปลได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยพยายาม “ดูแล” ค่าเงินบาท โดยการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ในตลาดมาเก็บเอาไว้เป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น โดยการพิมพ์เงินบาทออกมาเพื่อเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบซึ่งคาดหวังว่าทำให้เงินบาทอ่อนค่า (เพราะมีปริมาณเงินบาทในระบบเพิ่มขึ้น)

แต่ก็เห็นได้ว่าการ ดูแล ค่าเงินบาทดังกล่าวไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอีกด้านหนึ่งของเหรียญเดียวกันคือการที่ ธปท.ไม่สามารถบริหารนโยบายการเงินให้ได้ตามเป้าเงินเฟ้อที่ตั้งเอาไว้ เห็นได้จากตารางข้างล่างที่เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าเงินเฟ้อของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมได้เคยกล่าวมาก่อนหน้าแล้วว่าเงินเฟ้อคือการอ่อนค่าของเงินภายในประเทศและประเทศที่เงินเฟ้อต่ำย่อมต้องรับสภาพว่าเงินของตนก็จะต้องแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ที่อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศสูง

159272268511

ยิ่งในช่วงหลังนี้เงินเฟ้อของไทยติดลบติดต่อกันอย่างมากในเดือน มี.ค. เม.ย. และ พ.ค. ยิ่งไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเงินบาทจึงต้องแข็งค่าขึ้นครับ