นักลงทุนถล่ม 'หุ้นแบงก์' 'ต่างชาติ-กองทุน' กอดคอขายสุทธิกว่า 6.7 พันล้าน

นักลงทุนถล่ม 'หุ้นแบงก์' 'ต่างชาติ-กองทุน' กอดคอขายสุทธิกว่า 6.7 พันล้าน

“หุ้นแบงก์” ดิ่งหนักกว่า 6.37% กดดัชนีตลาดวูบ 18 จุด ขณะ “ต่างชาติ-สถาบัน” กอดคอขายสุทธิรวมกว่า 6.7 พันล้าน นักวิเคราะห์ คาดเป็นการเปลี่ยนกลุ่มเล่น หันไปถือหุ้นที่เน้นจ่ายปันผลแทน ด้าน “กองทุน” ยอมรับลดน้ำหนักหุ้นกลุ่มแบงก์ต่ำกว่าตลาด

หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในวานนี้(22มิ.ย.) ถูกเทขายออกมาอย่างหนัก หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและห้ามทำการซื้อหุ้นคืนในช่วงเวลานี้ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์รักษาระดับเงินกองทุนไว้รองรับกับความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ยังโดนแรงกดดันจากมาตรการของ ธปท. ที่ออกนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในเฟส2 ด้วยการลดดอกเบี้ยสินเชื่อกลุ่มครัวเรือนลง ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์วานนี้ปรับลดลงกว่า 6.37% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงตามไปด้วย โดยปิดตลาดลดลง 18 จุด มาอยู่ที่ 1,352 จุด 

ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนสถาบันในประเทศ เป็น 2 กลุ่มที่เทขายหุ้นสุทธิในวานนี้ โดยนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 3,106 ล้านบาท และ นักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 3,695 ล้านบาท 

กลุ่มธนาคารที่ปรับลดลงแรงสุด ได้แก่  ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ลดลง 9.09% รองลงมาคือ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ร่วงลง 7.44% ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)  ลดลง 6.79% บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป(TISCO) ลดลง 5.78% ธนาคารเกียรตินาคิน(KKP) ลดลง 5.68%

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บล.โนมูระ พัฒนสิน  กล่าวว่า คำสั่งของ ธปท. ถือเป็นปัจจัยเชิงลบต่อกลุ่มธนาคาร แม้ระดับเงินกองทุน (CAR ratio) ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ณ ปัจจุบันที่ 19.6% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ธปท.ที่ 12% แต่ประกาศดังกล่าว Implied ได้ว่า ธปท.อาจเห็นสัญญาณของผลกระทบโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและคุณภาพสินทรัพย์อาจเลวร้ายกว่าที่ ธปท. เคยประเมินก่อนหน้า นอกจากนี้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารมักตอบรับเชิงลบต่อการแทรกแซง ของ ธปท.

ขณะที่ธนาคารที่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลคือ BBL, KBANK, KKP และ SCB ส่วนธนาคารกรุงไทย(KTB)  ธนาคารทหารไทย(TMB) และTISCO จ่ายปันผลปีละ 1 ครั้ง ดังนั้นราคาหุ้นของธนาคารที่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลอาจเผชิญแรงกดดันที่มากกว่า ทั้งนี้ negative sentiment จะมากกับธนาคารที่จ่ายปันผลระหว่างกาลอย่าง KKP,SCB,BBL และKBANK เพราะผู้ถือหุ้นมีความคาดหวังต่อเงินปันผล ซึ่งปกติจะจ่ายจำนวนเงินที่แน่นอนทุกปีก็ต้องรอไปจ่ายทีเดียวรอบปลายปี ส่วนธนาคารที่ผลกระทบน้อยคือ TISCO,KTB และTMB เพราะจ่ายปันผลปีละครั้ง อย่างไรก็ตามหากมองในมุมเงินปันผลที่มีแนวโน้มลดลงนั้นคาดว่าเกิดกับทุกธนาคารเพราะแนวโน้มกำไรอ่อนตัวลง

นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า เงินปันผลระหว่างกาลที่จะหายไป คาดว่ารวมกันประมาณ 1.43 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผล(ดิวิเดนด์ยิลด์)ในปี 2563 ของกลุ่มแบงก์ ลดลง 1.15% เหลืออยู่ที่ 4.38% ในปีนี้ และมีผลทำให้ดิวิเดนด์ยิลด์ของตลาดหุ้นไทย ลดลง 0.10% เหลืออยู่ที่ 3.46% และอาจเกิดการเปลี่ยนกลุ่ม (Sector Rotation)ไปยังหุ้นขนาดใหญ่ และมีเงินปันผลสูงกลุ่มอื่นแทน

“หุ้นกลุ่มแบงก์ที่ร่วงหนัก คาดว่าเกิดจากSector Rotation ของนักลงทุนสถาบันในประเทศ และเป็นการขายของนักลงทุนต่างชาติ จากที่ไม่เชื่อมั่นการลงทุนหลังจากที่ธปท.เข้ามาแทรกแซงการดำเนิน บริษัทจึงแนะนำหลีกเลี่ยงกลุ่มแบงก์”

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล กล่าวว่า หุ้นกลุ่มแบงก์ที่ปรับลดลงวานนี้ ถือว่าสะท้อนข่าวไปแล้ว และด้วยความคาดหวังปันผลของนักลงทุนน่าจะกระทบหุ้นกลุ่มนี้ระยะสั้น ขณะที่ในระยะกลางถึงยาว ปัจจัยพื้นฐานของธนาคารยังแข็งแกร่งขึ้น

ปัจจุบันเรายังคงลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ในระดับปานกลางจนถึงลดน้ำหนักการลงทุนเล็กน้อย ทำให้กองทุนหุ้นปันผลของเรา ยังมีสัดส่วนการลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ในสัดส่วนน้อยกว่าตลาด และยังมีความน่าสนใจอยู่ เพราะยังมีหุ้นปันผลตัวอื่นๆที่รอดพ้นจากโควิด-19ได้