3 สเต็ปเก็บเงิน 'ซื้อบ้าน' สำหรับมนุษย์ 'เงินเดือน'

3 สเต็ปเก็บเงิน 'ซื้อบ้าน' สำหรับมนุษย์ 'เงินเดือน'

รวมขั้นตอนการเตรียมตัว "เก็บเงินซื้อบ้าน" สำหรับ "มนุษย์เงินเดือน" ที่ช่วยให้บ้านในฝันอยู่ใกล้แค่เอื้อม

สถานการณ์การระบาดของ "โควิด-19" ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์น้อยใหญ่ ทำให้บริษัทอสังหาฯ ต่างออกมาปล่อยแคมเปญการตลาดอย่างหนักหน่วง เพื่อจูงใจลูกค้าที่กำลังมีความต้องการ "บ้าน" ในเวลานี้

ทว่าการ "ซื้อบ้าน" ไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินใจซื้อได้ทันทีทันใด เพราะนอกจากจะเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงแล้ว ยังไม่ภาระที่ต้องผ่อนชำระยาวไปอีกหลายสิบปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับอีกหลายปัจจัยในการวางแผนการเงิน

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" สกัดข้อมูลจากบทความ "เคล็ดลับเก็บเงินซื้อบ้านฉบับมนุษย์เงินเดือน" ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มาให้คนที่กำลังมีแผนจะซื้อบ้านเตรียมความพร้อมซื้อบ้านในฝันได้แบบไม่ไกลเกินเอื้อม 

โดย 3 สเต็ปเก็บเงินซื้อบ้าน ที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้และลงมือทำ ได้แก่

 1. สำรวจตัวเอง 

ก่อนที่จะเริ่มต้นทำอะไรทุกอย่าง สิ่งแรกที่ต้องทำความรู้จักคือ "ตัวเอง" เพราะการซื้อบ้านจะเป็นหนี้สินก้อนใหญ่ ในระยะยาว ยิ่งต้องถาม และสำรวจตัวเองให้พร้อมก่อนตัดสินใจ

ดังนั้น สิ่งที่ลืมคิดไม่ได้คือ "กำลังทรัพย์" ที่เป็นกุญแจสำหรับการผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีแบบสำรวจให้ทดลองทำเพื่อประเมินตัวเองคร่าวๆ ว่า ณ เวลานี้ เรามีความพร้อมด้านการเงินสำหรับซื้อบ้านมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสามารถประเมินตัวเองง่ายๆ จากคำตอบของคำถาม ดังต่อไปนี้

159256122984 159256122944

หากสำรวจตัวเองแล้วพบว่าสุขภาพการเงินอยู่ในระดับที่มีกำลังพอที่ชำระหนี้ก้อนใหญ่ในระยะยาวได้ไหว ไม่กระทบกับชีวิตประจำวันแล้ว ลองเริ่มตั้งเป้าหมายใช้ชัดเจนเพื่อไปสู่สเต็ปต่อไป

 2. ตั้งเป้าหมายให้ชัด

เนื่องจากการเก็บเงินซื้อบ้านสักหนึ่งหลังถือเป็น "เป้าหมายใหญ่" ที่นอกจากจะต้องมีแรงบันดาลใจหรือความฝันแล้ว ยังต้องอาศัยความอดทน เวลา และความมุ่งมั่นเพื่อไปให้ถึงจุดหมายมีบ้านเป็นของตัวเองได้

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องไปถึงเป้าหมายเหล่านั้นแบบไม่หลุดจากแผนกลางทาง โดยวิธีการที่จะทําให้คุณเดินต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่หยุดยั้งและมีประสิทธิภาพ คือ "การตั้งเป้าหมายที่ดี" นั่นคือให้มีความชัดเจน วัดผลได้ สําเร็จได้ เป็นจริง และมีกําหนดระยะเวลาที่แน่นอน

หลักการในวางแผนที่จะเป็นตัวช่วยให้เราไปถึงเป้าหมาย ไม่หลุดแผน เรียกว่า "SMART Goal" ประกอบไปด้วย

  • Specific : เป้าหมายเจาะจง มีรายละเอียดชัดเจน เช่น ทําอะไร เพื่ออะไร ใครช่วยได้บ้าง
  • Measurable: การตั้งเป้าหมายต้องสามารถวัดผลหรือติดตามความก้าวหน้าได้ เช่น ต้องการเก็บเงินจํานวน 100,000 บาท ต่อปี
  • Achievable: เป้าหมายที่ตั้งต้องเป็นสิ่งที่รู้ว่ามีทางสําเร็จ รู้วิธีการที่เดินไปถึงเป้าหมาย
  • Realistic: เป้าหมายต้องสามารถเป็นไปได้จริง ไม่ใช่เพียงความคิดฝัน
  • Time bound: มีระยะเวลากําหนดชัดเจนว่าต้องทําสําเร็จเมื่อไร เพื่อนํามาใช้วางแผน ให้บรรลุเป้าหมายได้ตามเวลาที่ตั้งใจ

ตัวอย่างการวางแผนแบบ SMART Goal "เก็บเงิน 1,000,000 บาท เพื่อซื้อบ้าน ภายในระยะเวลา 6 ปี 6 เดือน (โดยมีรายได้อยู่ที่ 360,000 บาท/ปี)"

159256609419

159256609118

 3. เดินหน้าเก็บเงิน พร้อมหาตัวช่วยให้เก็บเงินได้เร็วขึ้น

แผนที่ชัดเจน เปรียบเสมือนแผนที่ที่ทำให้ได้เรามองเห็นว่าต้องทำอะไรบ้างระหว่างทาง จึงจะไปถึงเป้าหมาย แต่สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้คือการเริ่มต้นลงมือ "เก็บเงิน" ให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้

  • ออมอย่างมีประสิทธิภาพ

ด่านสำคัญที่หลายคนถอดใจจากความฝันไปซะก่อน คือไม่สามารถเก็บเงินได้ เพราะมีความเข้าใจผิดว่า "มีน้อยใช้น้อย มีมากใช้มาก เหลือเท่าไรจึงเก็บ" แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้อง "เก็บก่อนใช้" คือหัวใจของการออม

นั่นหมายความว่าทันทีที่มีเงินเดือนเข้าบัญชีสิ่งแรกที่ต้องทำคือ "หักเงินไว้ออม" โดยเทคนิคง่ายๆ แต่ประสิทธิภาพสูงที่ช่วยให้ใครก็ตามสามารถเก็บ ก่อนใช้ได้ก็คือ การแยกบัญชีเงินออมออกจากบัญชีเงินเดือน และการตัดเงินเข้าบัญชีอัตโนมัติ

  

"เก็บก่อนใช้" คือหัวใจของการออม

     

  • เดินหน้าได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย “การลงทุน” 

การฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากระยะยาวดูจะเป็นวิธีที่น่าจะ มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะได้รับผลตอบแทนบ้างเล็กน้อย และแน่ใจได้ว่า เงินต้นไม่มีทางหายไปไหน  หากใช้วิธีออมเงินเพียงทางเดียว ก็อาจต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะพอซื้อบ้านได้ตามที่หวัง

ฉะนั้นนอกจากการเก็บเงินให้ถึงเป้าหมายของราคาบ้านที่เราต้องการแล้ว สิ่งที่ควรจะศึกษาต่อไปคือสิ่งที่จะช่วยเร่งให้เงินของเราเติบโตได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงเป้าหมายได้มากขึ้น นั่นก็คือ "การลงทุน"

โดยเทคนิคที่จะช่วยให้คุณสามารถเก็บเงินก้อนใหญ่ได้เร็วยิ่งขึ้น และยังคงความมั่นคงของการออมเงิน แบบธรรมดาไว้ได้ คือการแบ่งเงินออมมาลงทุน

การฝากเงินแบบประจําช่วยให้คุณเก็บเงินเพิ่มได้ตลอด และป้องกันการถอนออกมาใช้ก่อนได้ แต่ในอีกแง่ อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนของเงินฝากได้ประมาณ 1% เท่านั้น แต่ถ้าคุณแบ่งเงินออมมาเป็น “เงินตั้งต้น” ลงทุน เงินตั้งต้นของคุณอาจเติบโตได้ถึง 5-15% ได้ หรือก็คือ เงินเก็บ ซื้อบ้านของคุณเติบโตเร็วขึ้นไปอีก

การแบ่งเงินออมมาลงทุน จะต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะเอาเงินส่วนนี้ไปทําอะไร เพื่อจะได้เลือกวิธีการลงทุนที่เหมาะกับเป้าหมาย หากต้องการเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านซึ่งต้องใช้เงินจํานวนมากและใช้ ระยะเวลาเก็บหลายปี คุณก็สามารถเลือกการลงทุนที่มีผลประกอบการสูงเมื่อเฉลี่ยผลประกอบการ ในระยะยาวได้ และไม่ควรเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเกินไป

159256550147

จากตัวอย่าง มีการกระจายการลงทุนให้ปลอดภัยโดยเลือกการฝากเงินประจําซึ่งมั่นคง เพื่อให้มั่นใจว่าจะยังมีเงินสะสมแน่ๆ ไม่ขาดทุน ส่วนการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่ต้องอาศัยเวลาในการถือในระยะยาวเพื่อทํากําไร และลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่ความเสี่ยงตำ่ แต่ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากประจํา

จากการฝากประจําเดือนละ 12,500 บาท 6 ปี จะเก็บเงินได้ 900,000 บาท หากจัดสรรแบ่งเงินออมมาลงทุนเช่นนี้ก็จะทําให้เก็บเงินได้มากกกว่าเดิม คือ 952,200 บาท ซึ่งต้องใช้เวลาเก็บเงิน เพิ่มเติมอีกเพียง 4 เดือน หรือถึงเป้าหมาย (1,000,000 บาท ในเวลา 6 ปี 6 เดือน) ก่อนเวลา 2 เดือน

แม้จะถึงจุดหมายก่อนกําหนดเพียงไม่นาน แต่เป็นการช่วยคุณประหยัดเงินที่ต้อง มาออมซื้อบ้านได้อีกเล็กน้อย ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมว่าจุดประสงค์หลักคือไม่ใช่การลงทุนเพื่อทํากําไรแต่อยู่ในรูปแบบของการออม

จะเห็นได้ว่าการซื้อบ้านหนึ่งหลัง มีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงให้รอบด้านก่อนตัดสิน ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน อย่าลืมวางแผนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและกำลังทรัพย์ของตัวเอง เพื่อให้บ้านเป็นบ้านแสนสุข และไม่ทำร้ายสุขภาพการเงินทีหลัง

ที่มา : ธนาคารอาคารสงเคราะห์