ฟื้นฟูผลกระทบโควิด ภารกิจของทุกคน

ฟื้นฟูผลกระทบโควิด ภารกิจของทุกคน

สถานการณ์การแพร่ระบาดมีทิศทางที่ดีขึ้น รัฐคลายล็อกเปิดให้กิจการและกิจกรรมดำเนินการได้มากขึ้น ดังนั้นนับจากนี้การฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 จึงเป็นภารกิจสำคัญของทุกฝ่าย รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นับเป็นโจทย์สำคัญของประเทศ

การควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจะอยู่กับเราอีกระยะ เพราะช่วงที่ผ่านมากิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักไปจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจการบินที่ในปัจจุบันประเทศยังไม่เปิดให้ทำการบินระหว่างประเทศ ถึงแม้ว่าสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะหารือกับสายการบินเพื่อเตรียมความพร้อมแล้ว แต่ท้ายที่สุดขึ้นกับการประเมินด้านสาธารณสุขเป็นหลักว่าจะเปิดได้หรือไม่

ในขณะที่การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเป็นรูปตัวแอล และอาจใช้เวลาในการฟื้นตัวมากกว่า 2 ปี จึงจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 คำถามจึงอยู่ที่กลไกของประเทศไทยพร้อมแค่ไหนที่จะอยู่ในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว 2 ปี และประเทศไทยมีทรัพยากรเพียงพอแค่ไหนที่จะประคองหรือผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ฟื้นคืนกลับมาได้

รัฐบาลใช้งบประมาณมากกว่า 1 ล้านล้านบาท วงเงินนี้นับเฉพาะงบประมาณที่มาจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ยังไม่รวมถึงงบประมาณจากการโอนมาจากปีงบประมาณ 2563 และงบประมาณที่กันไว้สำหรับป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 จากงบประมาณ 2564 และการใช้สภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ

ภาพที่เห็นในช่วงที่โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย คือ การให้ความร่วมมือในการควบคุมการระบาดทั้งในระดับประชาชน ชุมชน ภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐ ซึ่งทำให้ ณ วันที่ 18 มิ.ย.2563 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 3,141 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มจึงมีจำนวนคงที่ 58 ราย และเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติพบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่อันดับที่ 91 ของโลก ถือว่าน้อยมากหากพิจารณาว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีน

นับจากนี้การฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 จึงเป็นภารกิจสำคัญของทุกฝ่าย ในขณะที่วงเงินฟื้นฟู 400,000 ล้านบาท ที่กันส่วนหนึ่งมาจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ มีคำขอใช้งบประมาณสูงถึง 841,269 ล้านบาท แสดงว่าหลายฝ่ายต้องการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 แต่ส่วนสำคัญที่สุด คือ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่เฉพาะเงินก้อนนี้แต่รวมไปถึงทรัพยากรของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนทั้งหมด