ธปท.สั่งหั่นดอกเบี้ยเพิ่ม ‘บัตร-พีโลน’ ลดสูงสุด 4%

 ธปท.สั่งหั่นดอกเบี้ยเพิ่ม ‘บัตร-พีโลน’ ลดสูงสุด 4%

“แบงก์ชาติ” เรียกนายแบงก์-นอนแบงก์ ถกลดดอกเบี้ยเพิ่มหวังช่วยลดภาระประชาชนจากวิกฤติโควิด โดยสั่งลดดอกเบี้ย 2-4% ทั้ง “บัตรเครดิต-พีโลน-เช่าซื้อรถ” มีผล 1 ก.ค.ถึงสิ้นปีนี้ คาดเตรียมประกาศใช้เร็วๆ นี้

แหล่งข่าวจากวงการการเงิน กล่าวว่า วานนี้(17มิ.ย.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เชิญสถาบันการเงินทุกแห่งเข้ามารับฟังเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่โดนผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม โดยเฉพาะหนี้ในส่วนของหนี้ครัวเรือนทั้ง หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย

การหารือดังกล่าว สืบเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งรายย่อย และผู้ประกอบการ ใกล้สิ้นสุดการช่วยเหลือ เช่นการพักหนี้ การลดดอกเบี้ย ดังนั้น การหารือรอบนี้ เพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมกับลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบ แม้จะมีการคลายล็อกดาวน์โควิด-19 แต่การฟื้นตัวของรายได้ ธุรกิจต้องใช้เวลาสักระยะกว่าที่ลูกหนี้จะกลับมาฟื้นตัวได้

**สั่งผู้ประกอบการลดดบ.อุ้มลูกค้า

ดังนั้น ธปท. จึงได้ออกมาตรการเพิ่มเติม โดยให้แบงก์ นอนแบงก์ ผู้ประกอบการเช่าซื้อ โดยปรับลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเพิ่มเติมราว 2-4 % สำหรับดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อที่ผ่อนเป็นงวด เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ เพื่อประกาศใช้เป็นการทั่วไป เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมากกว่ามาตรการขั้นต่ำ ของธปท.ที่ออกมาเมื่อ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ส่วนใหญ่ จะให้ดุลพินิจแบงก์ ในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้มากกว่า 

ดังนั้นมาตรการที่ออกมารอบนี้ จะเป็นลักษณะปรับลดเรทดอกเบี้ย คล้ายกับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MLR MRR ต่างๆ แต่มีระยะเวลา ซึ่งการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ในแต่ละสินเชื่อ จะลดเป็นการทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโควิดด้วย

“เดิมมาตรการขั้นต่ำของธปท. ส่วนใหญ่ให้ดุลพินิจแบงก์ ในการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งบางแบงก์ก็ช่วยเยอะ ช่วยน้อย ลดดอกเบี้ยบ้าง ไม่ลดบ้าง ดังนั้นครั้งนี้ จะเป็นการลดดอกเบี้ยทั้งระบบ ที่เหมือนลดดอกเบี้ยของกนง. ที่มีผลแค่ระยะสั้นๆเพื่อช่วยลูกหนี้ ให้ผ่านวิกฤตไปได้ ซึ่งจะมีผล1ก.ค. -ธ.ค.เท่านั้น ซึ่งแบงก์ชาติทยอยรับฟังความคิดเห็นแบงก์ไปแล้ว หลังจากนี้จะเป็นการเคาะมาตราการจากธปท.แล้ว หลังฟังความคิดเห็น และคาดว่าจะมีการออกมาตรการเป็นรูปธรรมเร็วๆนี้”

นอกจากนี้ ธปท. ยังมีแผนจะขยายเพดานวงเงินสินเชื่อทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและบัตรกดเงินสดด้วย โดยเฉพาะในส่วนของผู้มีรายได้น้อยไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน จากเดิมที่กำหนดวงเงินกู้ยืมไม่เกิน 1.5 เท่า เพิ่มเป็น 2 เท่า

159245749271

**ลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตเพิ่ม2%

สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิต ธปท. กำหนดให้ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตทั้งระบบเหลือ 16% ต่อปีจากเดิม 18% ต่อปี ขณะเดียวกันยังอนุญาตให้ แปลงหนี้บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา(เทอมโลน) ด้วย โดยลูกหนี้สามารถแปลงประเภทหนี้จากหนี้บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา 48 งวด หรือ ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี 

**‘สินเชื่อบุคคล’ลดเพิ่ม2-4%

ด้านสินเชื่อส่วนบุคคล(พีโลน) ได้กำหนดให้ลดเพดานอัตราดอกเบี้ย สำหรับบัตรกดเงินสด ลดจาก 28% เหลือ 26% ต่อปี สินเชื่อ installment loan ลดจาก 28% เหลือ 25% สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดจาก 28% เหลือ 24% 

ส่วนการผ่อนชำระขั้นต่ำ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถพิจารณาลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำให้ลูกหนี้ตามความสามารถในการชำระของลูกหนี้ได้ตามความเหมาะสม

สำหรับการแปลงสินเชื่อหมุนเวียนเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา กำหนดให้ลูกหนี้สามารถแปลงประเภทหนี้จากสินเชื่อหมุนเวียนเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา 48 งวด หรือผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามความสามารถในการชำระของลูกหนี้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปี ในส่วนของวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่เหลืออยู่ ให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาตามความเหมาะสม

**‘เช่าซื้อรถยนต์’ไม่จำกัดวงเงิน

ด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ กำหนดให้ไม่ต้องจำกัดวงเงิน จากเดิมที่จำกัดวงเงินในส่วนของรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 35,000 บาท และ รถทุกประเภทไม่เกิน 250,000 บาท โดยผู้ประกอบธุรกิสามารถพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือได้ตามความสามารถในการชำระของลูกหนี้ ทั้งการเลื่อนกำหนดชำระค่างวด(ไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย) และการลดค่างวดโดยขยายระยะเวลาให้แก่ลูกหนี้  จากเดิมที่กำหนดให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน หรือพักชำระเงินต้น 6 เดือน

ทั้งนี้สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ขอให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาลดดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยคงที่ของสัญญาเช่าซื้อเดิมไม่น้อยกว่า 1% ต่อปี หรือสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ คือ EIR เดิม -2% ระยะเวลาลูกหนี้ที่ประสงค์ลงทะเบียนเข้าโครงการ

ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัย มาตรการใหม่จะไม่ได้จำกัดวงเงินการช่วยเหลือ จากเดิมที่จำกัดวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือได้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เช่น การพักชำระเงินต้น 3 เดือน หรือ การลดค่างวดโดยขยายระยะเวลาให้ลูกหนี้ จากเดิมที่กำหนดให้พักชำระเงินต้น 3 เดือนและพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสมของลูกหนี้แต่ละราย

โดยลูกหนี้ที่ประสงค์จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่1 ก.ค.2563ถึง 31 ธ.ค.2563