สถานการณ์เดือด 'ประชาธิปัตย์' ผู้มากบารมีหวังคืนชีพ 'อภิสิทธิ์'

สถานการณ์เดือด 'ประชาธิปัตย์' ผู้มากบารมีหวังคืนชีพ 'อภิสิทธิ์'

ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรกับการที่คนใน “พรรคประชาธิปัตย์” จะมีปฏิกิริยา หรือความเคลื่อนไหวบางอย่างภายใน ที่ดูเหมือนจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันเอง

 และไม่แปลกอะไรที่จะถูกมองว่า เพื่อหวังผลในตำแหน่ง ทั้งการบริหารงานในพรรค และเก้าอี้ “รัฐมนตรี”

ถือเป็นวัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งก็ว่าได้ แต่เมื่อถึงเวลาต้องสู้ศึกนอก ปัญหาที่คุกรุ่นภายในก็จะยุติลงทันที และผู้มีบารมีมากที่สุดในพรรคหนีไม่พ้น ชวน หลีกภัย

“ประชาธิปัตย์” เป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ผ่านความรุ่งโรจน์และตกต่ำครบทุกวงจร ในทางการเมืองมาแล้ว การนำของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ในช่วงที่พรรคมีอายุ 74 ปี ไม่มีอะไรง่าย ทั้งการสร้างผลงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล และการบริหารจัดการภายในให้คลื่นลมสงบ ราบรื่น การถูกแรงกระเพื่อมครั้งล่าสุด มีเป้าหมายยิงตรงไปที่เก้าอี้หัวหน้าพรรคโดยตรง

ว่ากันว่า แรงกระเพื่อมนี้ มาจากกลุ่มคนที่เคยเทเสียงสนับสนุน “จุรินทร์” ให้เป็นหัวหน้าพรรคแบบเสียไม่ได้ เพราะเวลานั้นคู่แข่งคนสำคัญอย่าง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่กำลังมา หากไม่ได้ฐานเสียงสนับสนุนในพรรค จากกลุ่ม ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นเรื่องยากที่ ‘จุรินทร์’ จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้ จนถึงทุกวันนี้ และนำพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการสร้างความอึดอัดให้กับผู้ยิ่งใหญ่ของพรรคทั้ง 3 คน คือ ‘อภิสิทธิ์-กรณ์-พีระพันธุ์ ที่หันหลังให้กับพรรค เพื่อไปตั้งพรรคใหม่ และไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เว้นแต่อภิสิทธิ์เท่านั้น ที่ยังอยู่กับพรรคแบบไม่มีตำแหน่ง ส.ส.และกรรมการบริหารพรรค

 

เมื่อการเมืองมาถึงจังหวะเวลาอันสมควร ภายหลังรัฐบาลทำงานมาครบ 1 ปี รวมทั้งสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ล่าสุดที่ออกมาบอกว่า ให้พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมคนไว้ให้ พร้อมกับการปรับคณะรัฐมนตรี จึงมองว่าสมควรต้องมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งคณะรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์บ้าง เพื่อเป็นการต่างตอบแทนกับคะแนนเสียงที่เทให้กับ ‘จุรินทร์’ ก่อนหน้านี้

การออกมาเขย่าพรรคประชาธิปัตย์จน ‘จุรินทร์’ สั่นคลอนครั้งใหญ่นั้น มีต้นทางมาจาก ส.ส.ที่ยังสนับสนุน ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ พร้อมกับมีผู้มากบารมีของพรรคบางคน หลิ่วตาให้ท้าย โดยพยายามโน้มน้าว ส.ส.กลุ่มอื่น ๆ ให้เห็นว่า ผลงานกว่า 1 ปี ของหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ยังไม่เข้าตามากนัก อีกทั้งที่ผ่านมา กรรมการบริหารพรรคจะให้ความสำคัญ ส.ส.ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มจุรินทร์เท่านั้น

เหนืออื่นใด ยังหยิบยกประเด็นถึงการกู้วิกฤตศรัทธาของพรรค ภายใต้การนำของจุรินทร์ด้วยว่า มีความเป็นไปได้ยาก และยังไม่เพียงพอที่จะสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าได้ ซึ่งการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเผชิญกับปัญหาภายใน และภายนอกอย่างรุนแรง อันอาจทำให้ความอดทนของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลง และตัดสินยุบสภาฯ เพื่อเป็นการยุติปัญหาทั้งหมด

ดังนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่พอใจจุรินทร์ จึงต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเริ่มมีการเสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเข้ามากลางวงสนทนาของ ส.ส.บางกลุ่มอีกครั้ง โดยหวังว่าผู้อาวุโสของพรรคหลายคนจะเห็นด้วยกับชื่อนี้ และเพื่อให้กลับมากู้พรรค ก่อนจะเข้าสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้ง

พรรคประชาธิปัตย์มีวิธีคิดแบบประชาธิปัตย์ ซึ่งต้องประกอบด้วยกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน หรืออาจจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “คนไม่ได้สำคัญกว่าพรรค” หรือ “พรรคสำคัญกว่าเสมอ” เปรียบเป็น “ธรรมนูญสีฟ้า” ของพรรคนี้ก็ว่าได้

แต่มาครั้งนี้ อาจต้องให้ความสำคัญที่ตัวบุคคลขึ้นมาบ้าง ไม่มากก็น้อย เพราะลำพังใช้แต่ระบบเพียงอย่างเดียวนั้น เป็นคำตอบอยู่ในตัวว่า ประชาธิปัตย์จะเป็นได้เพียงพรรคตัวประกอบ เพื่อร่วมรัฐบาลเท่านั้น ไม่มีทางจะกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและให้คนของพรรคขึ้นมาเป็นนายกฯ อย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้ง