โควิด-19 หนุนดีมานด์ 'จักรยาน' ไต้หวัน

โควิด-19 หนุนดีมานด์ 'จักรยาน' ไต้หวัน

โควิด-19 จุดชนวนให้เศรษฐกิจโลกถดถอย ทำลายอุตสาหกรรมหลายอย่าง แต่เป็นช่วงทำเงินของโลกจักรยานและโบนัสก้อนโตสำหรับไต้หวัน ผู้ผลิตจักรยานชั้นนำ

ถนนร้าง อาการเบื่อบ้าน และความกังวลเรื่องโควิด-19 ส่งผลต่อการเดินทางในยุโรปและอเมริกา ทำให้ความต้องการจักรยานเพิ่มสูงขึ้นมาก โรงงานในไต้หวันเร่งผลิตสินค้าใหม่และแข่งกันหาชิ้นส่วนมาป้อนการผลิต

ไวรัสมรณะจุดชนวนให้เศรษฐกิจโลกถดถอย ทำลายอุตสาหกรรมหลายอย่าง แต่เป็นช่วงทำเงินของโลกจักรยานและโบนัสก้อนโตสำหรับไต้หวัน ผู้ผลิตจักรยานชั้นนำและกำราบไวรัสโคโรนาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จึงไม่ต้องล็อกดาวน์ขนานใหญ่

ที่ไจแอนท์ บริษัทจักรยานรายใหญ่สุดของโลก บอนนี ทู ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) กล่าวว่า ที่นี่งานยุ่งมา 2-3 เดือนแล้ว

“เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จึงตอบสนองอย่างรวดเร็ว เราระดมบริษัทที่มี ทั้งโรงงานและบริษัทขาย ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค” ซีอีโอไจแอนท์กล่าวกับเอเอฟพีที่สำนักงานใหญ่ในเมืองอุตสาหกรรมไทจง

คำสั่งซื้อมาไม่หยุด มีรายงานว่าตัวแทนจำหน่ายในยุโรปและอเมริกาเหนือไม่มีสินค้าจะขาย แถววางจักรยานว่างเปล่า ลูกค้าต้องคอยอีกนานกว่าสินค้าล็อตใหม่จะมา

ในอังกฤษ สมาคมผู้ค้าจักรยานเผยว่า จักรยานราว 20,000 คันที่กำลังรอการผลิตและส่งมอบถูกขายหรือจองไปหมดแล้ว

ลินคอล์น โรเมน ผู้อำนวยการบริกซ์ตันไซเคิลส์ในกรุงลอนดอน กล่าวกับเอเอฟพีในเดือนที่ผ่านมาว่า ผู้ที่สนใจจักรยานมีหลากหลายกลุ่ม ต่อไปจะเห็นนักปั่นหน้าใหม่ๆ มากมาย

อีกฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติกความต้องการจักรยานพุ่งขึ้นเช่นเดียวกัน

ดิเอ็นพีดี กรุ๊ป บริษัทวิจัยตลาดเผยว่า ยอดขายจักรยานเดินทางและจักยานออกกำลังกายเดือน มี.ค.เพิ่มขึ้น 66% จักรยานปั่นเล่นพุ่งขึ้น 121% จักรยานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 85%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทูจากไจแอนท์กล่าวว่า ลูกค้าในสหรัฐและยุโรปสนใจจักรยานราคาไม่แพงไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์ ขณะที่โรงงานของไจแอนท์ในไต้หวันผลิตอย่างต่อเนื่อง โรงงานหลายแห่งในจีนแผ่นดินใหญ่กลับต้องระงับการผลิตชั่วคราว เมื่อไวรัสแพร่ออกจากเมืองอู่ฮั่นทางภาคกลางของประเทศ

เมื่อต้องเร่งผลิตตอบสนองความต้องการพุ่งสูง โรงงานต้องตุนชิ้นส่วนการอย่างเต็มที่ แต่การกลับมาผลิตอย่างเต็มศักยภาพต้องช้าลงเพราะหาชิ้นส่วนไม่ได้

“เราต้องคอยชิ้นส่วน ค่อนข้างหายากทีเดียวแต่เราจัดการได้” ทูยืนยัน

สำหรับยุโรป ไจแอนท์มีโรงงานใหญ่แห่งหนึ่งในฮังการีที่จะกลับมาผลิตได้ในเร็วๆ นี้ ที่ผ่านมาโรงงานไต้หวันหลายแห่งค่อยๆ ย้ายออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ไปผลิตที่อื่นที่ใกล้ชิดกับตลาดผู้บริโภคมากขึ้น

จีนา ชาง เลขาธิการสมาคมจักรยานไต้หวัน กล่าวว่าตอนแรกผู้ผลิตเสียหายในไตรมาสแรกตอนที่ไวรัสเพิ่งแพร่ เพราะถูกยกเลิกหรือเลื่อนออเดอร์ แต่หลังจากนั้นความต้องการก็กลับมาสูงอีกครั้ง

“เราเห็นการเร่งสั่งหรือแม้แต่การแห่ซื้อ บริษัทผลิตจักรยานชั้นนำของไต้หวัน 2 รายมีออเดอร์ยาวเหยียดไปจนถึงสิ้นปี”

ความนิยมยุคไวรัสโคโรนาถือเป็นบันทึกล่าสุดในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (เรเนซองส์) ของอุตสาหกรรมจักรยานไต้หวัน

เกาะปกครองตนเองแห่งนี้เคยเป็นผู้ผลิตจักรยานเบอร์ 1 ของโลกมานานหลายปี จนกระทั่งทศวรรษ 90 การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่ทำให้หลายๆ บริษัท รวมทั้งผู้ผลิตไต้หวันหลายราย ได้ประโยชน์จากการที่จีนมีแรงงานราคาถูกจำนวนมหาศาล แต่ขณะที่โรงงานจีนเดินหน้าแสดงบทบาทโดดเด่นในแง่ผลิตได้จำนวนมาก  การผลิตของไต้หวันกำลังแก้มือโดยเฉพาะในรุ่นคุณภาพสูงกว่า และในตลาดจักรยานไฟฟ้าที่กำลังโตวันโตคืน

ปี 2562 ไต้หวันส่งออกจักรยาน 1.36 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 1.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 แต่การผลิตจักรยานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ปี 2562 ไต้หวันส่งออกจักรยานไฟฟ้ารวม 863 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 377 ล้านดอลลาร์ในปี 2561 ส่วนใหญ่ส่งไปยุโรป

ปีนี้ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. การส่งออกจักรยานไฟฟ้าทุบสถิติ 301 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 23.6% ของช่วงเดียวกันของปีก่อน และจักรยานที่ผลิตในโรงงานในไต้หวันมีแนวโน้มเป็นรุ่นที่คุณภาพสูงกว่า จึงทำราคาได้ดีกว่า

ทูหวังว่าการระบาดใหญ่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานเดินทางระยะไกลที่รัฐบาลยุโรปหลายประเทศก็เห็นชอบด้วยหลังจากอันตรายจากไวรัสลดน้อยลงแล้ว

“เมื่อปั่นจักรยาน คุณได้สัมผัสอากาศสดชื่น ไม่เข้าใกล้ใครเกินไปไม่งั้นก็ชน เป็นการรักษาระยะห่างทางสังคมโดยธรรมชาติเลยล่ะ” ทูกล่าวขำๆ ถึงประโยชน์ของการขี่จักรยาน