กูรูจี้ภาครัฐเตรียมรับมือ ผวา 'หนี้เสีย' ครัวเรือนพุ่ง

กูรูจี้ภาครัฐเตรียมรับมือ ผวา 'หนี้เสีย' ครัวเรือนพุ่ง

วงการการเงินห่วง "หนี้เสีย" ภาคครัวเรือนพุ่งแรง หลังยอดขอรับช่วยเหลือการเงินแตะ 14 ล้านคน มูลหนี้รวม 3.81 ล้านล้าน หวั่นกระบวนการทางกฎหมายดูแลไม่ทัน แนะรัฐเร่งวางแนวทางป้องกัน

ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้นหลังวิกฤติโควิด แต่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานแล้วสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งระดับหนี้ต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งภาระหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อเกิด “ช็อก” ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อรายได้ของภาคครัวเรือน จึงทำให้หนี้เหล่านี้เกิดปัญหาขึ้นมา

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้าง มีผู้คนตกงานจำนวนมาก และคนส่วนใหญ่ยังมีรายได้ลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้สถาบันการเงินต้องลงมาช่วยเหลือผ่านการพักชำระหนี้หรือการปรับโครงสร้างหนี้

ข้อมูลล่าสุดของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า สถาบันการเงินเหล่านี้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้รวมทั้งสิ้น 15.1 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้รวม 6.68 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้รายย่อยราว 14 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 3.81 ล้านล้านบาท

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร กล่าวว่า เรื่องนี้อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ของไทยในระยะข้างหน้า เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่เคยเจอวิกฤติหนี้ที่มาจากรายย่อย สมัยวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ครั้งนั้นแม้จะเกิดหนี้เสียจำนวนมาก แต่มาจากหนี้ภาคเอกชนซึ่งมีจำนวนรายไม่ได้มากนัก ในขณะที่การแก้ปัญหายังใช้เวลาค่อนข้างนาน

“รอบนี้เรากำลังเจอ 15 ล้านคน ที่อยู่ระหว่างขอพักหนี้ มูลหนี้รวม 6.6 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 4.4 แสนบาท ตอนนี้แบงก์ยังพักชำระหนี้ให้ 6 เดือน หลังครบกำหนดคงต้องมาดูว่าจะมีกี่รายที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ถ้าตีซัก 10% ไม่สามารถคืนหนี้ได้ ก็เท่ากับจะมีคนที่เป็นหนี้เสียถึง 1.5 ล้านคน ตอนนั้นกระบวนการทางกฎหมายจะรองรับไหวหรือไม่”

เขากล่าวด้วยว่า ผลกระทบตรงนี้อาจส่งผลต่อเนื่องไปยังสถาบันการเงิน เพราะต้องทำหน้าที่ยึดหลักทรัพย์ขายทอดตลาด ซึ่งกระบวนการกว่าจะยึด กว่าจะนำมาขาย ต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ ก็ 1-2 ปี และถ้าต้องนำหลักทรัพย์ออกมาขายพร้อมๆ กัน ก็จะส่งผลต่อราคาในตลาดด้วย ผลกระทบจึงเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ หากระดับหนี้เสียของสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้น และคนฝากเงินเริ่มขาดความเชื่อมั่น หากสถานการณ์เหล่านี้ไม่สามารถควบคุมได้ เกรงว่าจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าอย่างวิกฤติการเงินได้เช่นกัน ดังนั้นกระบวนการจัดการปัญหาหลังจากนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ

“ถ้าอยู่ดีๆ หนี้เสีย ในระบบแบงก์เพิ่มมากขึ้น ความเชื่อมั่นของคนในที่มีต่อระบบแบงก์จะกลับมาเป็นประเด็น อาจลามไปสู่วิกฤติอื่นๆ ได้ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องระวัง”

นายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวยังมั่นใจว่าไม่มีลูกหนี้รายใดที่อยากเบี้ยวหนี้ แต่เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจจากปัญหาโควิด ทำให้รัฐบาลต้องสั่งล็อกดาวน์จึงมีผลต่อรายได้ของคนเหล่านี้ ดังนั้นสถานการณ์จะดีขึ้นได้ เศรษฐกิจต้องฟื้นตัวกลับมาได้ไว ประเด็นนี้จึงอยู่ที่การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะทำได้ตรงจุดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากหนี้เหล่านี้กลายเป็นหนี้เสียขึ้นมา สิ่งสำคัญจะต้องบริหารหนี้ก้อนนี้ให้กระทบสถาบันการเงินน้อยที่สุด ต้องมีกระบวนการทางกฎหมายใหม่ๆ มารองรับ เพราะหากไปยึดกระบวนการเดิมต้องใช้เวลานานมากกว่าจะจัดการปัญหาได้ ยิ่งหนี้เหล่านี้เกิดกับรายย่อยซึ่งเกี่ยวกับคนจำนวนมาก ความล่าช้าก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ควรต้องคิด คือ คนบางกลุ่มหรือบริษัทบางแห่งที่เขาจ่ายหนี้ไม่ไหว แต่ไม่สำควรที่จะต้องปิดกิจการเพราะที่ผ่านมาเขามีรายได้ มีกำไรเป็นปกติ แต่มาเจอปัญหาจากวิกฤติโควิดที่ไม่มีใครคาดคิด รัฐควรมีกองทุนช่วยเหลือ(Bailout Fund) ขึ้นมาดูแลผู้ประกอบการเหล่านี้หรือไม่

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันมียอดคงค้างรวมกว่า 13 ล้านล้านบาท หรือ 79.9% ของจีดีพี ประเด็นที่น่ากังวล คือ ราว 1 ใน 3 ของหนี้ก้อนนี้ เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เช่น หนี้ส่วนบุคคล ซึ่งคิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท

“ถ้าส่วนใหญ่เป็นหนี้้บ้านหรือหนี้รถยนต์ เราจะไม่กังวลนัก เพราะยังเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ซึ่งพอจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่หนี้ส่วนบุคคลเราไม่รู้เลยว่าเขาเอาไปใช้ทำอะไร ก่อหนี้เพื่อไปท่องเที่ยวหรือไม่ หรือเอาไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยรึเปล่า ประเด็นสำคัญ คือ เราจะทำยังไงให้หนี้ก้อนนี้หายไป เพราะถือเป็นการยืมเงินในอนาคตมาใช้”

สำหรับในเชิงคุณภาพหนี้ หลังวิกฤติโควิด ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือผ่านการพักชำระหนี้ แน่นอนว่าหนี้เหล่านี้จะยังไม่กลายเป็นเอ็นพีแอล แต่หลังผ่านพ้นการชำระหนี้ไปแล้ว คงต้องมาดูกันว่า หนี้เหล่านี้จะกลับมาเป็นหนี้ปกติได้มากน้อยแค่ไหน

“เวลานี้ทุกคนยังอยู่ในช่วงของการพักหนี้ ซึ่งเริ่มพักกันประมาณ 3-6 เดือน นับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. ดังนั้นช่วงไตรมาส 3 หรือราวเดือนส.ค.หรือก.ย. ตรงนี้คงจะเห็นภาพชัดแล้วว่า หนี้เสียในระบบจะสูงแค่ไหน”

อย่างไรก็ตามถ้าดูเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ในเวลานี้ ถือว่ายังมีความเข้มแข็งอยู่มาก โดยมีสูงถึง 19.6% หรือประมาณ 2.85 ล้านล้านบาท ในขณะที่หนี้เสียแม้อนาคตจะเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่ายังไงก็คงไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นระบบธนาคารพาณิชย์จึงแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือได้

นายสุรพล โอภาสเสถียรผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลทั้งหมด เพราะในจำนวนนี้มีการก่อหนี้ดีรวมอยู่ด้วย คือ หนี้เพื่อประกอบธุรกิจหรือเพื่อสร้างรายได้ตลอดจนเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นเพราะมีความจำเป็น เช่น ซื้อที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า อาจมีบางส่วนที่ก่อหนี้ที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ หรือก่อหนี้เพื่อกินเพื่อใช้ไปวันๆ ซึ่งกรณีนี้ถือว่าน่ากังวล เพราะท้ายที่สุดแล้วการสร้างหนี้โดยไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพในการชำระคืน หากเจอปัญหาIncome Shock หรือรายได้ปรับลดรุนแรงคนกลุ่มนี้จะตกอยู่ในวงจรหนี้ กลายเป็นหนี้เสียได้ในท้ายที่สุด

“ดูได้จากตัวเลขหนี้เสีย หรือลูกหนี้ที่มีปัญหาจนต้องเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) พบว่า ช่วงหลังๆ กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเร็วมาก”

นายสุรพล กล่าวว่า ข้อมูล ณ ไตรมาสแรกปี 2563 พบว่า ยอดเอ็นพีแอลของลูกหนี้รายย่อยปรับขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 8.1% คิดเป็นมูลค่าคงค้างอยู่ที่ 9.1 แสนล้านบาท โดยหนี้ที่มีปัญหา และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างซ้ำแล้วซ้ำอีกของกลุ่มนี้ขึ้นมาอยู่ที่ 8.3% หรือ 9.7 แสนล้านบาท จาก 7.6% ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาและหากดูผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 คาดว่าในปีนี้หนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลและหนี้ที่ปรับโครงสร้าง มีโอกาสสูงทะลุ 1 ล้านล้านบาท ในขณะที่ตัวเลขเอ็นพีแอลมีโอกาสเพิ่มแตะเลขสองหลัก

สำหรับหนี้ทั้งหมดที่อยู่บนฐานข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า มีประมาณ 11.7 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ราว 9 ล้านล้านบาท เป็นหนี้รายย่อย ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และบัตรเครดิต ซึ่งหนี้ก้อนนี้เป็นของคนกลุ่มเจนวาย 4 ล้านล้านบาท กลุ่มเจนเอ็กซ์ 3.7 ล้านล้านบาท เบบี้บูมเมอร์ 1.2 ล้านล้านบาท และ เจนแซด 2.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนตัวเลขที่เป็นเอ็นพีแอล พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเจนเอ็กซ์ถึง 7.4% หรือประมาณ 2.8 แสนล้านบาท รองลงมา คือ เจนวาย 2.7 แสนล้านบาท เบบี้บูมเมอร์ 8.4 หมื่นล้านบาท และเจนแซด 1.2 พันล้านบาท

“ในมุมของเครดิตบูโร กลุ่มที่น่าห่วงสุด คือ หนี้บ้านและหนี้ส่วนบุคคล เพราะหนี้เหล่านี้มีปริมาณการผ่อนต่อเดือนที่ชัดเจน เมื่อรายได้ถูกกระทบทำให้ไม่สามารถจ่ายเต็มยอดที่เคยต้องผ่อนได้ หากกลุ่มนี้ไม่รีบปรับโครงสร้างหนี้ก็จะกลายเป็นหนี้เสียทันที”