ทำความรู้จัก 'ไข้ปวดข้อยุงลาย' โรคระบาดหน้าฝนที่ต้องระวัง

ทำความรู้จัก 'ไข้ปวดข้อยุงลาย' โรคระบาดหน้าฝนที่ต้องระวัง

ระวัง! "ไข้ปวดข้อยุงลาย" โรคระบาดหน้าฝน โดยในปี 2563 นี้ พบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายแล้วกว่า 1,630 รายทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจไทยคู่ฟ้า ได้เผยแพร่และเตือนการแพร่ระบาดโรคต่างๆ ที่มักจะมาเป็นประจำในช่วงที่เข้าสู่หน้าฝน โดยเฉพาะโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้เลือดออก โดยในปี 2563 นี้ พบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายแล้วกว่า 1,630 รายทั่วประเทศ
และคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นอีก เนื่องจากในปีนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่การระบาดยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง ปวดข้อ ข้อบวมหรือข้ออักเสบรวมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่น อ่อนเพลีย
วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ และหากพบผู้ที่มีอาการข้างต้นให้รีบแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อการสอบสวนโรคอย่างรวดเร็ว หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ทั้งนี้ข้อมูลของเว็บไซต์ RAMA CHANNEL ได้อธิบายถึง "โรคไข้ปวดข้อยุงลาย" หรือชิคุนกุนยา ไว้ดังนี้
  • "โรคไข้ปวดข้อยุงลาย" คืออะไร?
เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อไวรัส เคยระบาดในหลายพื้นที่ ทั้งยังเคยระบาดในประเทศไทยเมื่อ 10 ปีก่อนทางภาคใต้ พบโรคครั้งแรกที่แอฟริกา โดยชื่อชิคุนกุนยานั้นเป็นภาษาแอฟริกาที่หมายถึงเดินจนตัวงอ เพราะโรคนี้มีอาการเด่นคือปวดข้อมากจนทำให้เดินตัวงอ

  • อาการของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ผู้ที่ติดเชื้ออาจมีไข้สูง อาการเด่นของโรคคืออาการปวดข้อมาก บางรายอาจปวดมากจนข้อบวม อาจมีอาการตาแดงและผื่นแดงตามตัวร่วมด้วย แต่ไม่ทำให้มีอาการช็อคเหมือนไข้เลือดออก ระยะเวลาของอาการปวดข้อแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย บางรายเมื่อหายไข้ก็หายปวด แต่บางรายอาจปวดต่อไป สามารถปวดข้อได้นานที่สุดถึง 1 ปี ข้อที่มักปวดคือ ข้อนิ้วมือ ข้อมือ

  • ระยะฟักตัวของไวรัสชิคุนกุนยา

หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด ใช้เวลาฟักตัว 3-7 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ขึ้นสูงมาก อ่อนเพลีย แล้วอีก 2-5 วันหลังไข้ขึ้น ก็จะเริ่มมีอาการปวดข้อ และผื่นมักเกิดหลังมีไข้แล้ว 3 วัน

  • อาการแทรกซ้อนโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

มีโอกาสทำให้เกิดอาการสมองอักเสบหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่โอกาสเกิดน้อยมาก

  • การป้องกัน

- ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค

- ป้องกันโดยการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

  • การรักษา

การรักษาโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นการรักษาตามอาการ หากปวดข้อ รักษาโดยการกินยาแก้ปวด หากมีไข้ผู้ป่วยจะได้รับยาลดไข้

ที่มา : rama.mahidol