'ร่าง กม.ป้องกันการทรมาน-การอุ้มหาย' ยังจำเป็นหรือไม่?

'ร่าง กม.ป้องกันการทรมาน-การอุ้มหาย' ยังจำเป็นหรือไม่?

จากกรณีอุ้มหายที่เป็นกระแสสังคมขณะนี้ มาไขข้อข้องใจกันว่า เหตุใดร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย ที่ถูกผลักดันให้เข้าสู่สภาตั้งแต่ปี 2558 จึงยังคงเป็นแค่ "ร่าง" จนถึงปัจจุบัน หรือกฎหมายฉบับนี้จะไม่สำคัญกับประเทศไทยในยุค 4.0

ในสถานการณ์ที่การ “อุ้มหาย” กลายเป็นกระแสที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.... ก็ถูกนำมาพูดถึงกันอีกครั้ง ในฐานะมาตรการที่คาดหวังกันว่าจะเป็นทางออกของสังคมไทย

คำถามที่ตามมาคือ เหตุใดร่างกฎหมายนี้ซึ่งถูกผลักดันให้เข้าสู่สภาตั้งแต่ปี 2558 จึงยังคงเป็นแค่ “ร่าง” จนถึงปัจจุบัน หรือกฎหมายฉบับนี้จะไม่สำคัญกับประเทศไทยในยุค 4.0 อีกต่อไป ผู้เขียนจะขอชวนทุกท่านมาร่วมสนทนาโดยตั้งเป็นประเด็นดังนี้

1.ร่างกฎหมายนี้มีความ ทับซ้อน กับฐานความผิดที่ปรากฏอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ให้เป็นการซ้ำซ้อนอีก

ร่าง พ.ร.บ.ข้างต้นถูกร่างขึ้นมาเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 2 ส่วน คือ “การซ้อมทรมาน” และ “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” หากมองเพียงผิวเผินจะเข้าใจว่าฐานความผิดดังกล่าวถูกบัญญัติไว้ใน “ประมวลกฎหมายอาญา” อย่างชัดแจ้งในเรื่อง “ความผิดต่อเสรีภาพ” และ “ความผิดต่อชีวิตร่างกาย”

ซึ่งหากเป็นการกระทำความผิดระหว่าง “ปัจเจกชน” ที่มีฐานะเท่าเทียมกัน ความผิดทั้ง 2 ฐานย่อมครอบคลุมถึงการกระทำดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่เมื่อลองพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.นี้จะเห็นว่ามุ่งเน้นไปที่การกระทำที่มี “เจ้าหน้าที่รัฐ” เป็นผู้กระทำความผิด

เหตุผลที่ต้องให้ความสำคัญกับการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ก็เนื่องมาจากเป็นสิ่งที่กระทบต่อน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากบุคคลที่กระทำความผิดและบุคคลที่ต้องดำเนินการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเช่นเดียวกันแล้วก็อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ ซึ่งย่อมกระทบกับสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรมและการเยียวยาของผู้เสียหายโดยตรง

2.ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในประเด็นแห่งสิทธิมนุษยชนดีอยู่แล้ว

การยอมรับในระดับสากลนั้นต้องเกิดจากการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาส่งเสริมการเคารพและการยอมรับโดยสากลต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นไปตามพันธกรณีของรัฐภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ และคำนึงถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในประเด็นการทรมานและการบังคับให้สูญหายนั้นถูกบัญญัติไว้ใน “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย (CAT)” และ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ (CED)”

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ” โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2550 และมีผลบังคับใช้กับไทยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2550 และต่อมาเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการลงนามใน “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ” และได้ดำเนินการลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวต่อองค์การสหประชาชาติแล้วเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2555 ตามมา

การลงนามดังกล่าวถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่มีความตั้งใจจริงในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาอันใกล้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการบังคับใช้ ก.ม.จากการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาแต่อย่างใด อันขัดกับหลักการภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่บัญญัติไว้โดยเด็ดขาดว่า

การทรมานและการบังคับสูญหาย ไม่สามารถกระทำได้ไม่ว่าในภาวะสงคราม วิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ หรือภาวะฉุกเฉินอื่นใดก็ตาม เป็นพันธกรณีที่ประเทศภาคีต้องปฏิบัติตามเพื่อต่อต้านการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์ด้วยกัน

คำตอบที่ได้จากประเด็นข้างต้นก็คือ “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ....” ยังคงจำเป็นกับประเทศไทยในยุคปัจจุบัน แต่เมื่อยังไม่ได้มีการ “ผ่าน” เพื่อบังคับใช้ ย่อมส่งผลบางประการต่อ “ผู้เสียหาย” ในประเทศไทย ดังนี้

1.สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการดำเนินคดีผ่านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาถูกกระทบกระเทือน

ประเด็นนี้จะเห็นได้ตั้งแต่ 1) “สิทธิเรียกร้อง” ในการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอาจถูกแทรกแซง เนื่องจากความทับซ้อนกันระหว่างผู้กระทำความผิดและผู้ดำเนินคดีตามกฎหมาย

2) “การสอบสวนที่ทันท่วงที” อันจะทำให้มีการได้มาในข้อเท็จจริงแห่งคดีอย่างรวดเร็ว 

3) “การทบทวนกระบวนการคุมขัง” อันเป็นการจัดระเบียบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความให้อำนาจเท่านั้น หากกระทำนอกเหนือย่อมมีความผิดในตำแหน่งหน้าที่

4) “สิทธิในการได้รับการเยียวยา” คือการที่รัฐประกันให้ผู้ที่เสียหายได้รับค่าสินไหมทดแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอ และการันตีการบังคับคดีได้

5) “พยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย” คำให้การหรือหลักฐานที่ได้มาจากการซ้อมทรมานย่อมไม่สามารถยอมรับได้

2.สิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสากลที่หายไป พร้อมๆ กับอาชญากรรมที่กระทำโดย เจ้าหน้าที่รัฐ

การบังคับบุคคลให้สูญหาย หมายถึง การจับ ควบคุมตัว ลักพาตัว หรือวิธีการอื่นใดในการทำให้บุคคลสูญเสียอิสรภาพ กระทำโดย “ตัวแทนของรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยการอนุญาต การสนับสนุน หรือการรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และรัฐปฏิเสธการกระทำนั้น” ทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย ซึ่งได้ละเมิดสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน ว่าด้วย

1) “สิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัย” 2) “สิทธิการเป็นบุคคลตามกฎหมาย” 3) “สิทธิที่จะไม่ถูกกักขังอย่างไร้มนุษยธรรม” 4) “สิทธิในชีวิตครอบครัว” ซึ่งเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมีตามหลักสากล และต้องได้รับการการันตีจากรัฐโดยปราศจากเงื่อนไขใด

เห็นได้ว่าการมีกฎหมายฉบับนี้จะทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาผ่านเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย โดยคำนึงถึงสิทธิและกำหนดโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดอย่างชัดเจน สร้างช่องทางการเข้าถึงและการเยียวยาที่ชอบธรรม คลี่คลายความคลางแคลงใจต่อกระบวนการ ส่งผลดีต่อกลไกในการนำตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดมาลงโทษ เป็นผลต่อความน่าเชื่อถือของ “กระบวนการยุติธรรม” และ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ทั้งในระดับ “ผู้เสียหาย”และ “สากล” เป็นกฎหมายที่มีความ 4.0 ต่อสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างแท้จริง