‘ธรรมนัส’ของบหมื่นล้านจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เสนอทำโครงการบ่อเก็บน้ำ-โซลาร์ชุมชน

‘ธรรมนัส’ของบหมื่นล้านจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เสนอทำโครงการบ่อเก็บน้ำ-โซลาร์ชุมชน

“ธรรมนัส” เล็งใช้เงินกู้ 1 หมื่นล้านทำบ่อน้ำ -โซลาร์ชุมชนเพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติ ปัดฝุ่นแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ ลั่นผลงาน 1 ปีช่วยเกษตรกรได้จริง

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนโครงการของบภายใต้กรอบการใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ผ่านทาง 4 หน่วยงานที่กำกับดูแล โดยจะเสนอโครงการทั้งหมดในงบวงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งประเทศ

โดยแบ่งเป็น 1.กรมพัฒนาที่ดิน โครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กมากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกเขตชลประทาน เบื้องต้นพื้นที่ 200 ไร่ บ่อละ 80 ล้าน งบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท มุ่งเน้นเพิ่มพื้นที่บ่อเพื่อกักเก็บน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นนำมาพัฒนาเป็นเกษตรแปลงใหญ่ มีนวัตกรรมรักษาดูแลคุณภาพดิน ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรให้มีการจ้างงานเกษตรกรที่ตกงาน และเกษตรกรมีน้ำเพียงพอทำการเกษตร

2.สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร (ส.ป.ก.) โครงการขุดบ่อบาดาลโซลาเซลล์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยการขุดบ่อบาดาล เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำทำการเกษตรจำนวน 6,000 บ่อ งบประมาณ 2,600 ล้านบาท ในการเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน

3.องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) โครงการแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ โดยจะพัฒนารูปแบบเดิมที่ไม่มีประสิทธิภาพให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาจำหน่าย เป็นการสร้างช่องทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตรคุณภาพและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และ

4.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โครงการสร้างกำลังพล จัดซื้ออากาศยานเข้ามาทดแทนที่เสื่อมสภาพ อยู่ระหว่างทำแผนโครงการเช่นกัน

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวด้วยว่า กว่า 1 ปีที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ มั่นใจว่าทำหน้าที่และมีผลงาน โดยเฉพาะการจัดสรรเรื่องที่ดินทำกินจากผลสำรวจพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่ปัจจุบันที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้แล้ว เช่น พื้นที่ที่เป็นรีสอร์ท โรงแรม แหล่งชุมชน และเหมืองแร่

ทั้งหมดนี้มีนโยบายจะยึดคืนแล้วปรับให้เป็นพื้นที่เช่า โดยจะพิจารณาตามแต่ละกรณี เพื่อนำค่าเช่าเข้ากองทุนปฏิรูปที่ดินที่มีวงเงินขณะนี้ประมาณ 4,000 ล้านบาท แล้วนำเงินเหล่านั้นไปปรับโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก. จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรเพื่อต่อยอดโครงการแปลงใหญ่ โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเช่าที่ลักษณะดังกล่าวจะต้องปรับแก้กฎหมายให้ ส.ป.ก.เพื่อให้สามารถดำเนินการได้